“กรมพัฒนาฯ” เปิดตัวแอพฯ “ชีวิตมีสุข” ฝึกวินัยการเงินทำบัญชีรับ – จ่าย

ของมันต้องมี...ใครว่าบัญชีเป็นเรื่องยาก... กรมพัฒน์ฯ สร้างแอพพลิเคชั่น ‘ชีวิตมีสุข’ ฝึกประชาชนทำบัญชีรับ-จ่าย สร้างวินัยทางการเงิน วางแผนก่อนหยิบเงินออกจากกระเป๋า ยิ่งอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งต้องระวัง...ช่วงนี้...เงินทองสำคัญมาก (ขึ้น)


กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไอเดียบรรเจิด สร้างแอพพลิเคชั่น ‘ชีวิตมีสุข’ ฝึกประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยทำบัญชีรับ-จ่ายในชีวิตประจำวันง่ายๆ ด้วยตัวเอง สร้างวินัยทางการเงิน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เน้นวางแผนก่อนหยิบเงินออกจากกระเป๋า บริหารการใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งต้องระวังการใช้จ่ายเป็นพิเศษ...ช่วงนี้เงินทองสำคัญมาก (ขึ้น) ย้ำ!! ของมันต้องมี...ใครว่าบัญชีเป็นเรื่องยาก...ดาวน์โหลดฟรี!! ผ่านระบบแอนดรอยด์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แล้วจะรู้ว่า...ทำบัญชีง่ายนิดเดียว...




นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบถึงภาคธุรกิจและประชาชนทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะประชาชนที่ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตประจำวันจากที่เคยทำเป็นปกติ (Normal) เป็นวิถีปกติใหม่ (New Normal) และ วิถีปกติถัดไป (Next Normal) ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตมากขึ้น 

ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการสัมผัสระหว่างกัน การสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า การดูแลสุขภาพร่างกายให้สะอาด/แข็งแรงตลอดเวลา และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระวัง/ใส่ใจเป็นพิเศษ คือ การใช้จ่ายเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากหลายคนถูกลดเงินเดือน หรือถูกเลิกจ้าง ต้องนำเงินที่เก็บสะสมออกมาใช้จ่าย หรือได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ทำให้การบริหารเงินและการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในยุคโควิด-19 เช่นนี้”


“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีแนวคิดที่ต้องการให้ประชาชนดำเนินชีวิตโดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายเงิน
อย่างรอบคอบมากที่สุด สามารถบริหารจัดการรายรับ-รายจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยตัวเอง เน้นวางแผน
การใช้จ่ายก่อนหยิบเงินออกจากกระเป๋า มีการจัดทำรายรับ-รายจ่าย-เงินเก็บเพื่อการออม ทราบการใช้จ่ายที่แท้จริงของตนเองในแต่ละวัน สร้างวินัยทางการเงิน สร้างความเข้มแข็ง และความมั่นคงในชีวิตระยะยาว

 แต่ปัญหาที่พบ คือ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการบันทึกการรับจ่ายของตนเอง มองการจัดทำบัญชีเป็นเรื่องยาก ทำให้เกิดการละเลย และไม่ให้ความสำคัญต่อการจับจ่ายใช้สอยในแต่ละวัน รวมถึง ไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในชีวิตลงได้ ทำให้รู้สึกว่าเงินไม่พอใช้ หมดเร็ว รายรับไม่พอรายจ่าย 

โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัวและสังคมตามมา เช่น การกู้ยืมเงินนอกระบบ การทะเลาะวิวาทระหว่างคนในครอบครัว การลักขโมย ฯลฯ เป็นต้น”


อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “กรมฯ จึงได้ร่วมกับ บริษัท คริสตอลซอฟท์ จำกัด (มหาชน) จัดทำแอพพลิเคชั่น ‘ชีวิตมีสุข’ ขึ้น สำหรับให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยใช้บันทึกรายรับ-รายจ่ายในชีวิตประจำวัน โดยออกแบบให้ใช้งานง่าย ผ่านทางสมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต ได้ทุกที่ทุกเวลา และไม่มีค่าใช้จ่าย

 

รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เห็นว่าการทำบัญชีไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทาง Google Play ด้วยระบบแอนดรอยด์ เวอร์ชั่น 5 ขึ้นไป (ระยะเริ่มต้นใช้งานได้เฉพาะระบบแอนดรอยด์เท่านั้น) กรอกรหัสผู้ใช้งาน/รหัสผ่าน/อีเมล์/ชื่อ/หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ >> เข้าสู่ระบบเพื่อใช้งาน ‘ชีวิตมีสุข’ >> บันทึกรายรับ-รายจ่ายในแต่ละวัน

 โดยผู้ใช้งานสามารถเรียกดูยอดเงินคงเหลือ/รายงานประจำวัน-รายเดือน- รายปี ทั้งแบบแผนภาพวงกลม หรือรายงานสรุปรายละเอียด นอกจากนี้ ยังสามารถบันทึกรูปภาพของรายงาน หรือแชร์รูปภาพไปยังเฟสบุ๊ค ไลน์ และอีเมลได้ทันที”


“นอกจากนี้ เมื่อผู้ใช้งานมีการลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานแล้ว ระบบจะมีการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานไม่ลืมที่จะลงบัญชีฯ สามารถลงรายละเอียดรายรับและรายจ่ายได้แบบทันที (Real Time) ทำให้สามารถรู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของตนเองได้ทันที ช่วยให้การวางแผนการใช้เงินในอนาคตคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 โดยสามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หวังว่าแอพพลิเคชั่น ‘ชีวิตมีสุข’ จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยจากปกติเป็นปกติใหม่ที่มีคุณค่า มีการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล ส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงินมากขึ้น ขอเชิญชวนให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยดาวน์โหลดและทดลองใช้แอพฯ ‘ชีวิตมีสุข’ แล้วจะรู้ว่าของมันต้องมีจริงๆ และการทำบัญชีง่ายนิดเดียว...” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองกำกับบัญชีธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 4415 
อีเมล์ sphatomachart2009@gmail.com สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th
#PoweredByDBD