อธิบดีกรมกิจการสตรีฯ ประชุมเตรียมความพร้อมคณะผู้แทนไทยก่อนเดินทางไปรายงานด้วยวาจาต่อคณะกรรมการ CEDAW ในต่างประเทศ

ในวันที่ 26 มิถุนายน 2560 เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมการรายงานด้วยวาจาเสมือนจริงของคณะผู้แทนไทย ครั้งที่ 2 ในการนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ 

โดยมี นางสาววันเพ็ญ สุวรรณวิสิฏฐ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง พม. นางพรสม เปาปราโมทย์ รองอธิบดี สค. นางพัชรี อารยะกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และนางรัตนา สัยยะนิฐี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี และได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานภาครัฐจาก กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุมดังกล่าว 
 

   

   

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาและปฏิบัติตามพันธกรณีว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และประกันการได้รับการปฏิบัติและดูแลจากรัฐอย่างเสมอภาคกันทั้งหญิงและชาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โดยประเทศไทยต้องเสนอรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรและด้วยวาจาแก่คณะกรรมการประจำสัญญาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด 
 

นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างเด่นชัดในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ทั้งในเรื่องกลไกในการดำเนินงานด้านสตรี เช่น ประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการบัญญัติและแก้ไขกฎหมายที่สำคัญๆ เช่น การทบทวนประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการข่มขืนระหว่างการสมรส 

การให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการเลือกใช้คำนำหน้านามและชื่อสกุล และการสร้างความเข้าใจผู้ที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้มีความละเอียดอ่อนทางเพศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังคงพบว่ามีข้อท้าทายในเรื่องทัศนคติดั้งเดิมในสังคม และภาพเหมารวม การจัดเก็บข้อมูลจำแนกเพศที่เป็นระบบครบถ้วน และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในทางการเมืองและการตัดสินใจที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยได้ตระหนักถึงข้อท้าทายดังกล่าวและมีความพยายามในการดำเนินการทั้งมาตรการทางกฎหมายและทางปฏิบัติเพื่อขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ให้หมดไป 
 

   

   

การเดินทางของคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการายงานด้วยวาจาต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ( Committee on the Elimination of Discrimination Against Women-CEDAW) ในระหว่างวันที่ 1 – 9 กรกฎาคม 2560 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะได้มีโอกาส รายงานด้วยวาจา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจ 

และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อคณะกรรมการ CEDAW และประเทศสมาชิกต่าง ๆ พร้อมทั้งได้รับฟังข้อเสนอแนะและความคิดริเริ่มใหม่ๆ ของคณะกรรมการนำมาพัฒนาการดำเนินงานในประเทศไทยต่อไป นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย