‘มหา’ลัยล่องตรึก’ ประกาศผลผู้รับทุนเพื่อศิลปะ 2020 ได้ 3 ศิลปินรุ่นใหม่ คว้าทุน

‘มหา’ลัยล่องตรึก’ ก่อตั้งขึ้นในปี 2563 ภายใต้ความร่วมมือของ บ้านนอกความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม, แบล็คเอ้าท์ คอลเล็กทีฟ และจิตร คอลเล็กทีฟ เพื่อพัฒนาระบบนิเวศวัฒนธรรมการศึกษา พื้นที่การเรียนรู้คู่ขนาน การทดลองเชิงการศึกษาวิจัย ตลอดจนส่งเสริมการสร้างบทสนทนานอกห้องเรียน บ้านนอกฯ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการล่องตรึก ทุนเพื่อศิลปะ 2020 ร่วมมือกับภาคีฯจัดให้มีพิธีประกาศและมอบทุนฯ ทุนละ 30,000 บาท ให้แก่ 3 ศิลปินไทยรุ่นใหม่ ได้พัฒนาผลงาน ภายใต้หัวข้อนิทรรศการที่ชื่อว่า ‘A Verse on Uncomposed Surface: A Gathering of Becoming Stories’ ภัณฑารักษ์โดยภาอรุณ ชูประเสริฐ




 
โครงการล่องตรึก ทุนเพื่อศิลปะ 2020 ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม, สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ทั้งนี้ได้มีการเชิญศิลปินผู้เชี่ยวชาญชาวไต้หวันที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Yeh Wei Li , Hsu Chia Wei และ Lo Shih Tung ผ่านการจับคู่สนทนาออนไลน์และให้คำแนะนำแก่ 3 ศิลปินรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการ ฯ ได้แก่ กฤตพร มหาวีระรัตน์ , ณณฐ ธนพรรพี และฐพงค์ ศรีใส เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดระหว่างศิลปินทัศนศิลป์ และได้รับการสนับสนุนพื้นที่จัดแสดงบันทึกผลงาน()และโครงการศิลปะนอกเมืองหลวงที่ ‘EX SPACE’ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม ก่อนจะจัดพิธีมอบทุนอย่างเป็นทางการ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ มหานคร (BACC)



“ล่องตรึก ทุนเพื่อศิลปะ 2020 มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมด้านการศึกษาวิจัยเชิงทัศนศิลป์ และวัตถุประสงค์ในการเป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อต่อศิลปินรุ่นใหม่ รวมถึงผู้ฝึกฝนตนด้านศิลปวัฒนธรรม โครงการนี้จึงขับเคลื่อนโปรแกรมการพัฒนาความชำนาญทางศิลปะผ่านทางโปรแกรมออนไลน์ ระหว่างศิลปินรุ่นใหม่ผู้รับทุนล่องตรึก ฯ และศิลปินรับเชิญซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวไต้หวัน ในฐานะผู้ให้คำแนะนำแก่ศิลปินไทยรุ่นใหม่ พร้อมๆ กับกระบวนการทางภัณฑารักษ์ในโครงการ

 โดยมีพื้นที่กรณีศึกษาครอบคลุมจังหวัดนครปฐมและราชบุรี ซึ่งศิลปินรับเชิญชาวไต้หวันต่างก็เป็นผู้ที่เคยพำนักและปฏิบัติงานที่วิทยาเขตนครปฐม หรือเคยร่วมโครงการกับ ‘บ้านนอกความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม’ จังหวัดราชบุรี มาก่อน เพื่อให้ศิลปินทั้งสองประเทศมีประสบการณ์ร่วมทางวัฒนธรรมที่สามารถเชื่อมโยงอดีตมาสู่ปัจจุบันร่วมกันได้ไม่มากก็น้อย” พรพิไล มีมาลัย ผู้บริหารจัดการโครงการทุนล่องตรึก ฯ กล่าว


ทั้งนี้ พรพิไล มีมาลัย ยังได้อธิบายถึงที่มาของคำว่า ‘ล่องตรึก’ หมายถึง “พื้นที่ระหว่างบรรทัดที่เรียกร้องให้เกิดการตรึกตรองอย่างลึกซึ้ง” ตลอดจนวัตถุประสงค์ของการมอบทุนศิลปะให้แก่ศิลปินรุ่นใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ดร. หลี่ หยิง หยวน ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ร่วมมอบใบประกาศนียบัตร พร้อมด้วย เถียน ยู อัน ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน ให้เกียรติมอบรางวัลทุนศิลปะดีเด่นแก่ศิลปิน โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ บรรยายเชิงวิชาการหัวข้อ สัตตะและอัตลักษณ์: มุมมองจากโลกและความรู้ ณ ชายขอบของโลก และ ภาอรุณ ชูประเสริฐ ภัณฑารักษ์ ร่วมถ่ายทอดแนวคิดทางภัณฑารักษ์


โดยผลงานของศิลปินทั้ง 3 คน จัดแสดงบันทึกบางส่วนของผลงาน (Archive)ในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย A Verse on Uncomposed Surface: A Gathering of Becoming Stories ที่ชวนคุณเดินทางค้นหาอัตลักษณ์อันหลากหลาย ผ่านเบื้องหลังแนวคิดของศิลปินรุ่นใหม่ นำเสนอผ่านสื่อทัศนศิลป์ที่หลากหลายของศิลปินในโครงการ ฯ สอดประสานกับศาสตร์ความรู้เชิงสหวิทยาการ (interdisciplinary) ในฐานะผลงานสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคม การเมือง และประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการล่องตรึก ทุนเพื่อศิลปะ 2020


ผู้สนใจสามารถเข้าชมผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ทั้ง 3 คน ที่ได้รับทุนจากโครงการ ฯ ในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ‘A Verse on Uncomposed Surface: A Gathering of Becoming Stories’ เปิดให้เข้าชมฟรี! ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม - 10 เมษายน 2564 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 - 16.00 น. (เว้นวันหยุดราชการ) ณ EX SPACE หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม หรือติดตามได้ที่ http://www.art-centre.su.ac.th/ex-space.html 


แนวคิดและผลงานของศิลปินทั้ง 3 คน นำเสนอผ่านวิธีวิทยาภัณฑารักษ์โดย ภาอรุณ ชูประเสริฐ
• Stopping by Woods on a Snowy Evening โดย กฤตพร มหาวีระรัตน์ นักศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาศิลปไทย คณะจิตรกรรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำแก่นแกนของ ‘สัจนิยมหัศจรรย์’ (Magical Realism) มาเสนอเรื่องราวฉากสามัญธรรมดาที่สามารถพบเห็นได้เป็นปกติ ทว่ากลับมีองค์ประกอบของเรื่องราวหรือบรรยากาศบางประการที่แปลกประหลาดลักลั่นแฝงอยู่ โดยนำเสอผลงานผ่านสื่อทัศนศิลป์ เช่น โปสเตอร์ ทิวทัศน์ และธรรมชาติ โดยใช้กระบวนการของผลงานศิลปะจัดวางและมีส่วนร่วมทางสังคม สร้างเป็น Fictional Landscape ขึ้นมา เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมของพื้นที่ประดิษฐ์ ทดแทนการไม่ได้ออกไปสถานที่จริงหรือเป็นพื้นที่แบบกึ่งจริงกึ่งฝัน เพื่อเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้คนด้วยการดำเนินผ่านการค้นหาภาพลักษณะคล้ายคลึงที่ปรากฎตามบ้านเรือนในชุมชน และสร้างบทสนทนาระหว่างตนกับคนภายในพื้นที่ขึ้น นำไปสู่การเชื่อมโยงถึงประเด็นทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์จากทั้งสองฝากฝั่ง เรื่องราวที่ไม่เคยถูกให้ความสำคัญในชีวิตของผู้คนจึงเริ่มปรากฎออกมา


• HAWIWI: I Wish I Wrote a History (2564) โดย ณณฐ ธนพรรพี ปัจจุบันพำนักและทำงานอยู่ที่กรุงเทพ ฯ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณณฐ มุ่งความสนใจในประเด็นทางสังคมและประวัติศาสตร์ ที่ข้องเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย ซึ่งมีความทับซ้อนทางวัฒนธรรมร่วมกันในจังหวัดราชบุรี อาทิ ชาวมอญ ชาวจีน ชาวไทยวน ฯลฯ โดยทําการศึกษาและค้นหาเรื่องเล่ากระแสรองที่ประกอบเป็นตัวตน ผ่านการลงพื้นที่ปฏิบัติงานและศึกษาชุดข้อมูลในชุมชน ด้วยการพูดคุย ซักถาม และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายช่วงวัย ผ่านกิจกรรมที่เป็นเสมือนการละเล่น / เกม (game) ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จําลองบรรยากาศและสถานที่เสมือนจริงในการสําแดงผล เขาเลือกใช้สื่อการแสดงที่หลากหลายทั้งการสตรีมมิง (Streaming) เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ได้ โดยไม่ต้องพบปะกันทางกายภาพ เผยให้ถึงความเป็นไปได้ในการสร้างงานศิลปสุนทรียศาสตร์เชิงสัมพันธ์ (Relational Aesthetic) โดยใช้พื้นที่เสมือนจริง (Virtual Space) ในการเชื่อมต่อรวมถึงเผยแพร่ออกมาในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ การแปรผลข้อมูลแสดงเป็น Visual ผ่านสื่อวิดิโอ


• An Aimless Landscape โดย ฐพงค์ ศรีใส ชาวนครศรีธรรมราช ปัจจุบันทำงานอยู่ที่กรุงเทพ ฯ และนครศรีธรรมราช จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฐพงศ์ มุ่งความสนใจในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวหนังอย่าง ‘สิว’ ซึ่งเป็นปัญหาระดับ ปัจเจกบุคคล ด้วยกายภาพของสิวนั้นมีขนาดเล็ก แต่เบื้องหลังของสิวนั้นไม่ได้เป็นเรื่อง ‘สิวๆ’ ตามขนาดของมัน แต่ศิลปินขุดค้นลึกลงไปถึงต้นตอและปัญหาทางชีวภาพ คู่ขนานกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมอย่าง “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” จากบริโภคนิยมในระบบทุนนิยม “การนิยามความงาม กับรูปลักษณ์ที่เป็นอุดมคติ” ด้วยการลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม ที่มีความหลากหลายของคนวัยเรียนจนถึงวัยทํางาน จากการสอบถามและเก็บบันทึกข้อมูลจากผู้คนหลากหลายสาขาวิชา ทั้งความรู้เชิประจักษ์ และจิตนิยม นําข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ตีความสร้างเป็นพื้นที่จําเพาะชั่วคราว (Temporary specific) เพื่อให้เกิดประสบการณ์ร่วมภายในพื้นที่ผ่านสัญลักษณ์ (symbol) และเรื่องราวที่แต่งขึ้นใหม่ (Fiction)


สอบถามรายละเอียดเพิ่มและดูรายละเอียดของโครงการได้ที่
เบอร์โทรติดต่อ / Mobile: 0815875715 Website: https://longtrukuni.org/events/ 
Facebook: Baan Noorg Collaborative Arts & Culture และ มหาลัยล่องตรึก: Longtruk Uni.
YouTube: Baan Noorg Collaborative Arts and Culture IG: baannoorgcollaborative_th