“วัคซีนของซิโนแวค สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีและมีความปลอดภัย”

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แจ้งว่าได้มีการรายงานผลการประเมินประสิทธิภาพทางคลินิก ระยะที่ 3 ของวัคซีนซิโนแวค จากประเทศบราซิล พบว่าวัคซีนสามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% สามารถป้องกันการป่วยได้ 83.7% และป้องกันการติดเชื้อได้ 50.7% และมีความปลอดภัยสูงมาก

ข้อมูลนี้ถือเป็นรายงานอย่างเป็นทางการแบบสมบูรณ์เป็นครั้งแรกซึ่งเตรียมจะตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ โดยทำการทดสอบในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อสูงมากจำนวนกว่า 10,000 คนและได้ติดตามผลจนสิ้นสุดระยะเวลาการประเมินข้อมูล ได้ผลที่สำคัญและชัดเจน คือ กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่มีรายใดเลยที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต

ในส่วนรายละเอียดของการประเมินประสิทธิภาพนี้ มีบุคลากรการแพทย์เข้าร่วม 12,396 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงและกลุ่มได้รับวัคซีนหลอก(กลุ่มเปรียบเทียบ)อย่างละครึ่ง ฉีดวัคซีนคนละ 2 โดสห่างกัน 14 วัน และติดตามผลของวัคซีนเป็นเวลาหลายเดือน สามารถติดตามนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลได้ 9,823 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 4,953 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบ 4,870 ราย พบว่าในกลุ่มเปรียบเทียบที่ไม่ได้รับวัคซีน ติดเชื้อโควิดจำนวน 168 ราย โดยมีระดับความรุนแรงในระดับ 3 ขึ้นไป (อาการปานกลาง) 30 ราย ความรุนแรงระดับ 4 ขึ้นไป 10 ราย และระดับ 5 (อาการหนักมาก) 6 ราย ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ติดเชื้อโควิดจำนวน 85 ราย โดยมีความรุนแรงระดับ 3 เพียง 5 ราย และไม่มีรายใดเลยที่มีความรุนแรงในระดับ 4 หรือระดับ 5

สรุปได้ว่า วัคซีนนี้สามารถ "ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตได้ 100%" ป้องกันการเจ็บป่วยชนิดปานกลาง (ระดับ 3 ขึ้นไป) ได้ 83.7% และ "ป้องกันการติดเชื้อได้ 50.7%"

ในเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีนนั้น คล้ายกับวัคซีนอื่นๆ ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยและไม่รุนแรง

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเบื้องต้นในประเด็นอื่นอีกด้วยว่า วัคซีนจะเริ่มมีผลป้องกันโรคได้ 2 สัปดาห์หลังฉีดเข็มแรก รวมทั้งการเพิ่มระยะห่างระหว่างเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สองจากที่กำหนดไว้ 2 สัปดาห์เพิ่มเป็นประมาณ 4 สัปดาห์ อาจจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นอีก และการให้วัคซีนในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี (ซึ่งในการทดสอบนี้ยังมีจำนวนไม่มากนัก) ให้ผลในการป้องกันโรคใกล้เคียงกับในคนอายุ 18-60 ปี

แหล่งข้อมูล: SSRN