งาน “ย้อนอดีตวันวานสุพรรณบุรี” วัดไผ่โรงวัวเทิดพระเกียรติ ร. 9

                                                                                                    “จังหวัดสุพรรณบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่งด้วยกัน แต่เนื่องจากปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งได้ถูกลืมเลือนไปอย่างน่าเสียดาย ทางจังหวัดจึงมีแนวคิดที่จะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง"ว่าที่ร้อยตรี สุพีร์พัฒน์  จองพานิช  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี 


.....เมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายน ที่่ผ่านมา กองบก. www.btripnews.net ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปร่วมงาน ย้อนอดีตวันวานสุพรรณบุรี ทริปสื่อมวลชนสัญจร ที่จัดโดยจังหวัดสุพรรณบุรี  แต่ก่อนจะเข้าสู่พิธีการในช่วงหัวค่ำ ซึ่งมีการแสดงประกอบแสงสีเสียง และพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ ได้มีโอกาสแวะเยี่ยมชมตลาดย้อนยุค ตลาดสามชุก 100 ปี ที่หลายคนคงคุ้นชินกันดีอยู่


ขอเอาประวัติตลาดมาเล่าสู่กันฟังก่อน ตลาดร้อยปีสามชุก ตั้งอยู่บนบริเวณตำบลสามชุก แต่เดิมก่อนเป็นอำเภอสามชุกในปัจจุบันนั้น แต่เดิมบริเวณที่ตั้งอำเภอสามชุกเรียกว่า"ท่ายาง"มีชาวบ้านนำของป่าจากทิศตะวันตกมาค้าขายให้กับพ่อค้าที่เป็นชาวเรือ บ้างก็มาจากทางเหนือ บ้างก็มาจากทางใต้ เป็น 3 สาย จึงเรียกบริเวณที่ค้าขายนี้ว่า" สามแพร่ง " ต่อมาได้เพี้ยน เป็น สามเพ็ง และสำเพ็งในที่สุด ดังปรากฎหลักฐานกล่าวไว้ในนิทานพื้นบ้านย่านสุพรรณ



มีเรื่องกล่าวต่อไปว่า ในระหว่างที่คนมารอขายสินค้าก็ได้ตัดไม้ไผ่มาสานเป็นภาชนะสำหรับใส่ของขาย เรียกว่า"กระชุก" ชาวบ้านจึงเรียกว่า "สามชุก" มาถึงปัจจุบัน ตามนิราศสุพรรณบุรีที่ประพันธ์โดยสุนทรภู่ มหากวีแห่งยุครัตนโกสินทร์เมื่อครั้งเดินทางมาจังหวัดสุพรรณบุรียังมีการค้นพบแหล่งอารยะธรรมเก่าแก่มาแต่โบราณจากการขุดพบเทวรูปยืน เนื้อหินสีเขียวขนาดใหญ่องค์หนึ่ง ใน พ.ศ. 2522 ที่บ้านเนินพระ ต.บ้านสระ อ.สามชุก ทำให้นักโบราณคดีเริ่มขุดค้น และเชื่อว่า ณ ที่นี้เป็นที่ตั้งของโบราณสถานสมัยขอมแห่งหนึ่ง ที่มีความสำคัญ


โบราณสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ใน อาณาจักรทวารวดีระหว่าง พ.ศ.ที่ 16-18จากการขุดพบ ได้พบลายปูนปั้นเป็นจำนวนมาก เช่น เศียรเทวดา พระพิมพ์เนื้อชิน นางอัปสร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ลายเทพพนม เศียรอสูรขนาดใหญ่ รูปสัตว์ที่ประดับศาสนสถาน ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2437 ได้ยกฐานะเป็นอำเภอนางบวช โดยมีที่ตั้งอำเภออยู่บริเวณตำบลนางบวช(อำเภอเดิมบางนางบวชในปัจจุบัน) ต่อมาในปี พ.ศ.2454เมื่อการยกฐานะของอำเภอทางเหนือของจังหวัดด้วยการตั้งอำเภอเดิมบางขึ้น หลวงปราบประจันต์ราษฎร์ (ใหม่ บุษยะบุตร) ดำรงตำแหน่งนายอำเภอนางบวชขณะนั้น จึงย้ายที่ทำการอำเภอมาตั้งอยู่ในย่านของหมู่บ้านสามเพ็ง

    


ซึ่งศูนย์กลางของหมู่บ้านคาดการณ์ว่าเป็นพื้นที่บริเวณวัดสามชุก และบริเวณตำแหน่งที่ตั้งที่ทำการนั้นเป็นพื้นที่สามแพร่งที่มีความคึกคักของการค้าขายระหว่างกลุ่มคนในพื้นที่ ทั้งชาวไทย จีน รวมถึงกะเหรี่ยงป่าที่เข้ามาขายสินค้า และโดยสำคัญพื้นที่ดังกล่าวเป็นบริเวณที่ติดกับริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน หรือที่เรียกว่าแม่น้ำสุพรรณบุรี ทำให้ยกระดับจากการเป็นเพียงท่าเรือส่งสินค้า เกิดการก่อตัวเป็นพื้นที่ตลาด

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2457 จึงเปลี่ยนชื่อจากอำเภอนางบวชเป็น“อำเภอสามชุก” ให้สอดคล้องกับชื่อตำบลสามชุก บ้านสามเพ็งหรือตลาดสามเพ็งที่เคยเรียกขานก็เลือนหายและเรียกขานว่า “ตลาดสามชุก” สืบมาจนปัจจุบัน อำเภอสามชุกเดิมมีพื้นที่774.9 ตารางกิโลเมตร ต่อมาในปี2528ได้มีการตั้งอำเภอหนองหญ้าไซ จึงแบ่งบางส่วนออกไป ยังคงเหลือเพียง362ตารางกิโลเมตร

เราเดินลัดเลาะผ่านร้านรวงที่น่าสนใจมากมาย รวมถึงโรงแรมเก่าแก่ ที่ค่าเข้าพักคืนละ ยี่สิบบาท ในช่วงกลางตลาดสามชุก มีบ้านเจ้านายสมัยก่อนอย่างขุนจำนง จีนารักษ์ 



   

   

   

เจ้าหน้าที่มัคคุเทศน์ได้พาเดินชมบ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ซึ่งตัวอาคารเป็นยังคงถูกรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี จากประตูทางเข้าชั้นล่าง ต้องถอดรองเท้ากันก่อน จะพบเห็นโมเดลบ่งบอกวิถีชีวิตริมน้ำ การพาณิชย์ การสัญจร ที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมวิถีที่น่าสนใจ บ่งบอกสถาปัตยกรรมและสถานที่ตั้งส่วนสำคัญที่มีมาแต่สมัยอดีตของตลาดแห่งนี้


และเมื่อจะเดินขึ้นสู่ชั้นบน.....

“กระเป๋าฝากไว้ตรงนี้เลยนะครับ” น้องมัคคุเทศน์คนเดิม บอกกับคณะของเรา

“คือเมื่อก่อนให้เดินขึ้นได้เลย ไม่ได้มีการติดตั้งวงจรปิด แต่สรุปของหาย ” น้องขยายความ 

เฮ้อ... มนุษย์เราเน๊อะ ไม่ช่วยอนุรักษ์ยังช่วยทำลายกันซะอีก 

....เมื่อก้าวขึ้นบันไดสู่ชั้นสอง ข้าวของเครื่องใช้สมัยอดีตยังคงถูกจัดรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี ปรากฎภาพถ่ายสมัยหนุ่มของขุนจำนง จีนารักษ์ (หุย แซ่เฮง) นายสรรพากรสมัยก่อน ภาพครอบครัวสมัยยังสาวที่บางท่านยังมีชีวิตอยู่ ภายในตู้โชว์บรรจุสิ่งของเครื่องใช้ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เล่าขานกันต่อไป


   

ลวดลายพื้นกระเบื้อง หน้าต่างไม้บานเล็กๆ เรียงรายบ่งบอกวิถีในอดีตได้อย่างดี เดินผ่านระเบียงเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ห้องนอน เตียงนอนไม้ต่อเสาสูงสามมุม ทุกอย่างยังคงถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี รวมถึงปืนยาวที่ประดับไว้ฝาผนังใกล้หัวนอน บ่งบอกวิถีอะไรบางอย่างในวิถีคนสมัยก่อน  

   

เจ้าหน้าที่เล่าต่อว่า ...ที่นี่มีสามชั้น แต่ชั้นบนไม่ได้เปิดให้ขึ้นชมแล้ว เมื่อก่อนเป็นที่สูบฝิ่น 

ก็ถือว่า คร่าวๆ ละกัน....สำหรับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนซื้อกินทานที่หายากของตลาดสามชุก 100 ปี หากมีเวลาลองมาเดินเที่ยวชม ชมวิถีคนที่นี่กันดู

   

   

  

และแล้วก็มุ่งหน้ากันต่อไปยังวัดไผ่โรงวัว สถานที่จัดงานย้อนอดีตวันวานสุพรรณบุรี ซึ่งในช่วงนี้ ระหว่าง28 มิ.ย. – 2 ก.ค. นี้ มีการแสดงภูมินรก-ภพสวรรค์ รอบการแสดง นรกและสวรรค์สี ( เฉพาะช่วงวันงาน ตารางการแสดงอยู่ท้ายเรื่อง)

เจ้าอาวาส พระครูอนุกูลปัญญากร รองเจ้าคณะอำเภอสองพี่น้อง ได้พาเยี่ยมชมวัดไผ่โรงวัว พร้อมกับการแสดงที่น่าสนใจให้ได้ชมกัน

   

   

   

   



.....ช่วงหัวค่ำของวันที 28 มิถุนายน  พิธีเปิดงานเริ่มขึ้นอย่างยิ่งใหญ่  งาน “ย้อนอดีตวันวานสุพรรณบุรี” วัดไผ่โรงวัวเพื่อเทิดพระเกียรติ ร. 9 สุดอลังการกับแสงสีเสียง 3D Mapping “2000 มหัศจรรย์สุพรรณบุรี” และแสดง Light & Sound “ภูมินรก ภพสวรรค์ แดนอัศจรรย์หลังความตาย พร้อมรวมของดีของเด่นจาก 8 ตลาดดังเมืองสุพรรณ

      

   

โดยมีว่าที่ร้อยตรี สุพีร์พัฒน์ จองพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี. เป็นประธานเปิด ร่วมด้วยพระครูอนุกูลปัญญากร เจ้าอาวาสวัดไผ่โรงวัว รองเจ้าคณะอำเภอสองพี่น้อง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน 



ว่าที่ร้อยตรี สุพีร์พัฒน์  จองพานิช  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า “จังหวัดสุพรรณบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่งด้วยกัน แต่เนื่องจากปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งได้ถูกลืมเลือนไปอย่างน่าเสียดาย ทางจังหวัดจึงมีแนวคิดที่จะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง


เช่นที่วัดไผ่โรงวัว แห่งนี้ ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงยกยอดพระเกตุมาลา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2512 นับเป็นเหตุการณ์ที่เป็นมงคลสูงสุดที่ชาวสุพรรณบุรี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้”

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การท่องเที่ยวจัดเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยรายได้ของประเทศส่วนใหญ่มาจากส่วนนี้ อีกทั้งยังสามารถกระจายเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นได้ทั่วถึง การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว “ย้อนอดีตวันวานสุพรรณบุรี” ที่วัดไผ่โรงวัว ในครั้งนี้ ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทการทำงานของจังหวัดสุพรรณบุรีในทุกภาคส่วน ที่ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของจังหวัด โดยมุ่งเน้นสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อต่อยอดแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่มีอยู่ ให้เกิดความน่าสนใจไปสู่รูปแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และขับเคลื่อนไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาลได้

สำหรับ ไฮไลท์ในการจัดงานครั้งนี้ จึงจัดให้มีการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ผ่านกิจกรรมการแสดงแสง สี เสียง 3D Mapping “2000 มหัศจรรย์สุพรรณบุรี” ซึ่งเป็นการแสดงที่ใช้ภาพกราฟฟิก 3 มิติ แสดงร่วมกับนักแสดงกว่า 100 คน พร้อมทั้งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดไผ่โรงวัว และความรุ่งเรืองของ จังหวัดสุพรรณบุรีจากอดีตถึงปัจจุบันด้วย

การแสดง Light & Sound “ภูมินรก ภพสวรรค์ แดนอัศจรรย์หลังความตาย”มีร้านค้าจาก 8 ตลาดเก่าชื่อดังเมืองสุพรรณ เช่น ตลาดสามชุก ตลาดเก้าห้อง ตลาดศรีประจันต์ ตลาดบางลี่ ฯลฯ มารวมอยู่ในที่เดียวกัน

   



พร้อมด้วยคอนเสิร์ตจาก “ศิลปินถิ่นสุพรรณ” อาทิ แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์, เสรี รุ่งสว่าง, จ่อย ไมค์ทองคำ และนักร้องชื่อดัง อาทิ ไผ่ พงศธร, หลิว อาจารียา, เอิ้นขวัญ วรัญญา, วงพัทลุง ฯลฯ ร่วมด้วยการแสดงอัตลักษณ์จากหมู่บ้านชาติพันธุ์ต่างๆ นิทรรศการ “เมืองแห่งศิลปิน” และนิทรรศการกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ตอนล่าง 1 ตลอดจนกิจกรรมความบันเทิงอื่นๆอีกคับคั่ง โดยจัดให้เข้าชมฟรีตลอดงาน ตั้งแต่ 28 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม นี้

และที่ดูเหมือนจะเป็นที่ฮือฮาของนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงาน โชว์ภูมินรก –ภพสวรรค์ แดนอัศจรรย์หลังความตาย ปล่อยเปรตเดินโชว์กลางงาน หวังกระตุ้นจิตสำนึกคนไทยมุ่งมั่นทำความดี   พร้อมเนรมิต “อุโมงค์แห่งกาลเวลา” ความยาวกว่า 100 เมตรนักท่องเที่ยวแห่เซลฟี่กันอย่างหนาแน่น

ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  กล่าวเพิ่มเติมว่า  การท่องเที่ยวจัดเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  ด้วยรายได้ของประเทศส่วนใหญ่มาจากส่วนนี้  อีกทั้งยังสามารถกระจายเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นได้ทั่วถึง  การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว “ย้อนอดีตวันวานสุพรรณบุรี”  ที่วัดไผ่โรงวัว ในครั้งนี้  ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทการทำงานของจังหวัดสุพรรณบุรีในทุกภาคส่วน  ที่ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของจังหวัด  

โดยมุ่งเน้นสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อต่อยอดแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่มีอยู่  ให้เกิดความน่าสนใจไปสู่รูปแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน  เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ  และขับเคลื่อนไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล

นอกจากจะมุ่งปลุกกระแสการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคัก สร้างรายได้ให้จังหวัดสุพรรณบุรี และกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 แล้ว จังหวัดสุพรรณบุรี  ยังคาดหวังที่จะจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี  จนสามารถบรรจุอยู่ในปฏิทินท่องเที่ยวของไทยด้วย” ผู้ว่าฯ สุพรรณ กล่าวท้ายสุด

สำหรับรอบการแสดงภูมินรก-ภพสวรรค์ รอบการแสดง นรกและสวรรค์สี ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม นี้ ดังนี้ 

การแสดงภูมินรก

รอบที่ 1 เวลา 16.00 น.

รอบที่ 2 เวลา 17.00 น.

รอบที่ 3 เวลา 18.00 น.

รอบที่ 4 เวลา 19.00 น.

รอบที่ 5 เวลา 21.00 น.

  การแสดงภพสวรรค์

รอบที่ 1 เวลา 16.30 น.

รอบที่ 2 เวลา 17.30 น.

รอบที่ 3 เวลา 18.30 น.

รอบที่ 4 เวลา 19.30 น.

รอบที่ 5 เวลา 21.30 น.