รมช.ศธ. เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สวนทุเรียนนนท์

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. และ ดร.ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผอ.กศน.กทม.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ณ สวนทุเรียนนนท์ ยายละมัย ตำบลบางกร่าง อำเภอเมือนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยมี ดร.ชัยรัตน์ จำนงค์การ (ดร.แก้ว) คณะที่ปรึกษา รมช.ศธ. /ที่ปรึกษา ผบช.ภ.1 พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผบก.ภ.นนทบุรี และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ร่วมให้การต้อนรับ

รมช.ศธ. เยี่ยมชมสวนทุเรียนนนท์ และการใช้ภูมิปัญญาในการพัฒนาบนพื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน ซึ่งปลูกโดยใช้ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมดิน การยกร่อง การเลือกชนิดพันธุ์ทุเรียน การปฏิบัติดูแลรักษา ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงให้ผล และการเก็บเกี่ยวผล ซึ่งการปลูกจะเน้นอินทรีย์สาร ลดเคมี โดยมีนายสำเริง สุนทรแสง เจ้าของสวนทุเรียนนนท์ รุ่นที่ 2 นำชม



 

 

 

    

สวนทุเรียนนนท์ สวนนี้เป็นสวนที่ปลูกขึ้นใหม่เมื่อ 12 สิงหาคม 2555 เนื่องจากสวนเก่าได้รับความเสียหายทั้งหมดจากน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนของจังหวัดนนทบุรี และพระราชทานกิ่งพันธุ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียนให้นำไปปลูกทดแทนขึ้นใหม่ 

ทุเรียนสวนยายละมัย จึงถือได้ว่าเป็นทุเรียนจากกิ่งพันธุ์พระราชทาน ซึ่งมีการดูแลผลผลิตอย่างพิถีพิถัน จะตัดผลต่อเมื่อทุเรียนแก่จัดเต็มที่ โดยการนับหนึ่งตั้งแต่ดอกทุเรียนบานทุกลูก ซึ่งทุเรียนก้านยาวจะใช้เวลา 100-110 วัน หมอนทองใช้เวลา 110-120. วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอากาศด้วยหากอากาศร้อนจัด ทุเรียนจะแก่เร็วขึ้น

นอกจากจะใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำสวนทุเรียนนนท์แล้ว ยังมีการพัฒนาโดยการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ อาทิ การเดินท่อสปริงเกอร์ตามลำต้นขึ้นไปเหนือยอดทุเรียน เพื่อให้น้ำเลียนแบบธรรมชาติ คล้ายฝนตก ซึ่งจะทำให้ต้นทุเรียนได้รับความชุ่มชื้นทั้งใบ ลำต้น และราก ทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีง่ายๆ มาใช้ในการไล่กระรอกและหนู โดยการนำวิทยุทรานซิสเตอร์มาเปิดให้มีเสียงเหมือนคนพูดคุยกันอยู่ในสวนซึ่งโดยธรรมชาติของสัตว์ป่าจะกลัวคน จึงนับว่าได้ผลดี



รมช. ศธ. กล่าวว่า “สวนทุเรียนนนท์ของคุณยายละมัยนี้ มีความโดดเด่นในการใช้ภูมิปัญญาพัฒนาเกษตรได้ยั่งยืน สามารถพลิกฟื้นแผ่นดินที่เสียหายจากวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 สามารถอนุรักษ์และรักษาคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนเมืองนนท์ได้เป็นอย่างดี ในฐานะที่ดิฉันกำกับดูแล กศน. มีหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตให้ครอบคลุมทุกมิติ ขออนุญาตนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาของสวนทุเรียนนนท์ ยายละมัย ไปเผยแพร่ ให้ ประชาชนและเกษตรกรชาวสวนได้นำไปบูรณาการ เพื่อปรับใช้และต่อยอด เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรในประเทศของเรา”