พช.ลำปาง เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  “โคก หนอง นา พช.”

นางนงค์รัก พรมฟอง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รักษาราชการแทน พัฒนาการอำเภอเสริมงาม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (นพร.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบ “โคก หนอง นา พช.” ณ บ้านแม่กึ๊ด หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งงาม อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง

โดยมีนายก้องภพ อินต๊ะจักร วิทยากรประจำศูนย์ฯ ได้รายงานแผนการพัฒนาศูนย์ฯ ดังนี้ 
1) ทำรั้วตาข่าย รอบบ่อน้ำ เพื่อเลี้ยงเป็ด โดยต้องการกำจัดจอกแหนในบ่อ และทำโรงเรือนเลี้ยงไก่พื้นเมือง 
2) เตรียมสถานที่สำหรับเพาะพืชประเภทเถา และหัวใต้ดิน ตามแนวทางการปลูกพืช 5 ระดับ
3) เตรียมจัดซื้อกระบือ จำนวน 2 ตัว เพื่อช่วยระบบนิเวศ และมีปุ๋ยสำหรับการปรับปรุงบำรุงดิน
4) เตรียมความพร้อมในการที่ทำการปรับปรุงพื้นที่และขอรับการสนับสนุนกล้าแฝกเพิ่มเติม เนื่องจากพื้นที่เป็นดินทราย ถูกน้ำฝนชะล้าง ทำให้ดินขอบบ่อพังทลาย 
5) เตรียมความพร้อมในการที่ทำสถานีเพาะกล้าไม้ โดยขอรับการสนับสนุนกล้าไม้จากสถานีเพาะกล้าไม้แม่ต๋ำ เพื่อเพิ่มปริมาณต้นไม้ในพื้นที่

นายก้องภพ อินต๊ะจักร วิทยากรประจำศูนย์ฯ เผยว่า ขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่สนับสนุน ในการดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวศูนย์เรียนรู้ฯ โดยหวังว่าจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา พช." ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอเสริมงามและประชาชนทั่วไปเพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นางนงค์รัก พรมฟอง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รักษาราชการแทน พัฒนาการอำเภอเสริมงาม เผยว่า การดำเนินงานครั้งนี้ได้น้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชนบท ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดทฤษฎีใหม่เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสุข ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง โดยได้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช. ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการฯ



 

พช.ลำปาง ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยมีพื้นที่เป้าหมายในอำเภอ ทั้งสิ้น 279 แห่ง เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) 8 แห่ง และพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) จำนวน 271 แห่ง และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 103 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 76 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 27 แห่ง


ในส่วนของอำเภอเสริมงาม มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 2 แห่ง แยกเป็นพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 1 แปลง และพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 1 แปลง
ผลการดำเนินงาน แปลงพื้นที่ 3 ไร่ ได้ดำเนินการปรับปรุงแปลงพื้นที่ 

โดยใช้แบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน สำหรับดินร่วนปนทราย สัดส่วน 1: 3 ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้ จำนวน 15 คน มีนายก้องภพ อินต๊ะจักร เป็นประธานศูนย์เรียนรู้ฯ และเป็นวิทยากรประจำศูนย์ฯ และคัดเลือกครูประจำฐานเรียนรู้ เบื้องต้น 5 ฐาน ประกอบด้วย ฐานรักษ์แม่ธรณี ฐานคนหัวเห็ด (เพาะเห็ด) ฐานคนติดดิน ฐานคนรักษ์สุขภาพและฐานคนรักษ์ป่าโดยนายก้องภพ อินต๊ะจักร ได้มุ่งมั่นในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชาให้เป็นศูนย์ฯ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้แก่ประชาชนที่สนใจ 

นอกจากนี้ ยังจะเป็นศูนย์ฯ เพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้า เพื่อแบ่งปันแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอเสริมงาม การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ นายก้องภพ 

และกรรมการการศูนย์ฯ ร่วมกับตัวแทนครัวเรือนพัฒนา ได้ลงมือลงแรงและเสียสละทุนทรัพย์ของตนเอง เพื่อคาดหวังให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด และขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ให้โอกาส ได้รับการฝึกอบรมได้เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์เรียนรู้ฯ ได้เปิดให้ประชาชนหน่วยงานต่าง ๆ ด้เข้ามาศึกษาเรียนรู้แล้ว เช่น กศน.อำเภอเสริมงาม 

ได้ร่วมเรียนรู้ฐานรักษ์แม่ธรณี ในกิจกรรม ห่มดิน การทำปุ๋ยชีวภาพ การกำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับแปลงพื้นที่ 1 ไร่ อยู่ระหว่างการออกแบบผังบริเวณ และกำหนดราคากลาง โดยได้รับการสนับสนุนทีมงานช่างจากเทศบาลตำบลทุ่งงามและเทศบาลตำบลเสริมงาม คาดว่าจะดำเนินการขุดปรับปรุงแปลงพื้นที่ในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564

นายชาตรี ธินนท์ พัฒนาการจังหวัดลำปาง เผยว่า ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงาน จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็ง และชุมชนพึ่งตนเองได้ ให้มีความมั่นคงในการผลิตอาหาร สู่การสร้างเศรษฐกิจฐานที่มั่งคงและยั่งยืนต่อไป