ททบ 5 จับมือ กับ ช่อง 7 สี และ 10 หน่วยงานพันธมิตร จัดตั้ง “ชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทย)”

กรุงเทพฯ  – สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก จับมือกับ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และ10 หน่วยงานพันธมิตร จัดตั้ง “ชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทย)” เพื่อขานรับนโยบายของ กสทช. ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อกำกับดูแลกันเองในด้านโฆษณาทางด้านวิทยุ และโทรทัศน์ มุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานการทำงานด้านงานเซ็นเซอร์ในเมืองไทยให้เป็นรูปธรรม โดยทั้งนี้ พล.อ.ราชรักษ์ เรียนพืชน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก รับเป็นประธานชมรมฯ เป็นคนแรก มุ่งเดินหน้าลุยงานเซ็นเซอร์ 28 มิถุนายน นี้เป็นต้นไป



ชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทย) หรือชื่อเรียกแบบไม่เป็นทางการคือ ชมรมเซ็นเซอร์โฆษณาฯ ได้เริ่มดำเนินการเตรียมการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งคือเพื่อรวมตัวกันสร้างบรรทัดฐานการตรวจสอบงานโฆษณายุคใหม่ให้มีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และยกระดับการทำงานจากคณะกรรมการขึ้นเป็นชมรม   

ทั้งนี้สอดคล้องกับ  (ร่าง) ประกาศ กสทช. “เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ...” ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตฯเพื่อการกำกับดูแลกันเอง   และเป็นไปตามมาตรา 27 (18) (24) และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และมาตรา 39 ประกอบมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551  

ในครั้งนี้มีพันธมิตรที่แสดงเจตจำนงเข้าร่วมสนับสนุนกว่า 70 หน่วยงาน พร้อมกับได้มีตัวแทนพันธมิตรมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งชมรมฯ 11 หน่วยงาน ได้แก่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก   สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7   สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี โกลบอล เน็ตเวิร์ค   สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน   สมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร   สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย)   

สมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย)   สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย   ตัวแทนกลุ่มนักวิชาการ 13 สถาบัน  สมาคมนักการตลาดแบบตรงไทย และบริษัท NS Media Group    ก่อนที่ประธานฯ จะประกาศเจตนารมณ์ที่จะเริ่มมีการเดินหน้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป

พล.อ.ราชรักษ์ เรียนพืชน์ ซึ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมฯ เปิดเผยว่า “โครงสร้างองค์กร รายละเอียด ข้อบังคับ จริยธรรมจรรยาบรรณ ทั้งหมดจะจัดตั้งขึ้นตามข้อกำหนดของกสทช.โดยจุดเด่นของชมรมฯ นี้คือการยกระดับสถานะจากคณะกรรมการฯ ขึ้นมาเป็นชมรมฯ ซึ่งกติกาและการทำงาน เราจะได้มาจากการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของเหล่าสมาชิกชมรมฯ อันได้แก่ สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆที่เป็นสมาชิก หน่วยงานวิชาการ สมาคม ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะมาร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ กำหนดข้อปฏิบัติการตรวจพิจารณาโฆษณา  มีเครื่องมือตรวจวัดซึ่งมีมาตรฐาน และที่สำคัญที่สุดคือมีความเป็นกลาง” 

นายพลากร สมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7  กล่าวถึงความพร้อมในการจัดตั้งชมรมไว้ว่า “สืบเนื่องจากความต้องการที่จะยกระดับมาตรฐานการทำงานจากเดิมที่เป็นคณะกรรมการฯ ขึ้นมาเป็นชมรมตามร่างประกาศของกสทช  คณะทำงานจึงได้เตรียมการเพื่อการก่อตั้งชมรมฯมาตั้งแต่ปี 2556 ด้วยการเรียนเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเซ็นเซอร์ให้มาร่วมพูดคุยและจับมือกัน  เพื่อการกำกับดูแลกันเองอย่างเป็นระบบระเบียบ ให้มีมาตรฐานการตรวจพิจารณาที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม และที่สำคัญที่สุดคือ มีความเป็นกลาง   สำหรับขั้นต่อไปของชมรมฯ จะจัดอบรมการเซ็นเซอร์โฆษณา เพื่อสร้างคณะอนุกรรมการเซ็นเซอร์โฆษณายุคใหม่ให้กับวงการต่อไป”

ในงานนี้ ผู้แทนจากองค์กรต่างๆที่มาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับชมรมฯ ยังได้แสดงทัศนะในหัวข้อ “มุมมองการจัดตั้งการรวมกลุ่มตาม พรบ. กสทช.” ต่อด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐเป็นสักขีพยาน ได้แก่ ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. คุณกอบเพชร หาญพัฒนพานิชย์ ผู้อำนวยการ กองกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี  คุณพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คุณกฤษณพร เสริมพานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์  คุณวิมลศิริ         ปัญจธนศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย

ความเป็นมาการเซ็นเซอร์โฆษณา เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ปีพ.ศ. 2518 ทำหน้าที่โดย คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว. เพื่อตรวจพิจารณาเนื้อหาของรายการประเภทต่างๆ เช่น รายการทั่วไป ละคร ภาพยนตร์ และโฆษณา จนเมื่อกบว.ถูกยกเลิกไปในปี 2535  มาจนถึงปี พ.ศ. 2537 ก็มีการตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ขึ้นมาแทน โดยทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการของสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ 

และกำหนดให้สถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่ง ควบคุมการตรวจพิจารณาเนื้อหาของรายการประเภทต่างๆ และ โฆษณากันเอง จนมาถึงในปี 2551 และ 2553 ที่กสทช.มีพรบ.ที่มีเนื้อหาส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ได้รับใบอนุญาตฯ เพื่อกำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานจริยธรรมเกิดขึ้น จึงได้มีการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทย)ขึ้น

 “ด้วยสมาชิกของชมรมฯ มาจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ เราจึงมั่นใจว่าจะทำให้ชมรมฯ 
 มีความเข้มแข็งทั้งในด้านมาตรฐานการพิจารณาตรวจสอบโฆษณา การแสดงความคิดเห็นจากเหล่านักวิชาการที่รอบด้าน 
 เพื่อให้ภาครัฐได้มั่นใจว่าเราสามารถกำกับดูแลตนเองได้เป็นอย่างดีโดยไม่สร้างภาระให้กับกสทช. ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน” พล.อ.ราชรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย 

การติดต่อกับชมรม www.aac-th.org/aact  โทร 02-495-7777: 518