กรุงศรีหนุนผู้ประกอบการห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์เตรียมความพร้อม รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ผ่านสัมมนาธุรกิจ

กรุงเทพฯ (27 กรกฎาคม 2564) – กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ขับเคลื่อนกลยุทธ์เสริมสร้างศักยภาพด้านธุรกิจแก่ลูกค้าธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดสัมมนาออนไลน์ Krungsri Business Talk ในหัวข้อ “What’s Next for Automobile Supply Chain” ที่จัดขึ้นสำหรับลูกค้าธุรกิจโดยเฉพาะ ได้แก่ ลูกค้า SME ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น และผู้ประกอบการธุรกิจทั่วไปที่สนใจ ด้วยความร่วมมือจากผู้บริหารจากสภาอุตสาหกรรมและผู้บริหารในองค์กรชั้นนำระดับประเทศ มาร่วมแบ่งปันความรู้และมุมมองเพื่อให้ธุรกิจสามารถเตรียมตัวและปรับแผนให้สอดคล้องรับการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบผ่านห่วงโซ่อุปทานต่อความต้องการและรูปแบบการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

ภายในงานได้รับเกียรติจากนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดและอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภายใต้ Thailand EV Roadmap 2035 แนวนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการของภาครัฐ 

ขณะที่นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ มุมมองการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือก (Electric, Hydrogen) ส่วนนายประสงค์ อินทรหนองไผ่ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แผนกลยุทธ์และบริหารการลงทุน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสของไทยในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคต มุมมองการพัฒนา EV Ecosystem ของปตท.

โดยประเด็นหลักที่เกิดขึ้นในงานสัมมนามองว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ COVID-19 และการควบคุมต่างๆ อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกในปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากต่างประเทศเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ และในเอเซียมีสัญญาณที่ดี ซึ่งจะช่วยประคับประคองได้ยอดขายและยอดการผลิตได้ โดยทางโตโยต้ามองว่าตลาดอาจยังคงมีความผันผวน จึงได้มีการพยายามเปลี่ยน Fixed Cost บางรายการให้เป็น Variable Cost เพื่อลดความเสี่ยง 

นอกจากนี้สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจจะให้ความสำคัญในการเรียนรู้ความต้องการของลูกค้าผ่านบริการใหม่ๆ เช่น การใช้ e-wallet รวมถึงความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นความต้องการในการใช้ IoT (Internet of Things)  การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม  พฤติกรรมการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์ที่น้อยลง การใช้พลังงานทางเลือก  รถยนต์ที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือค่าบำรุงรักษาน้อย ซึ่งทิศทางอุตสาหกรรมในอนาคตอาจต้องปรับเปลี่ยน Business Model สู่การให้บริการเช่ารถแทนการซื้อขาด และใช้พลังงานที่ไฟฟ้าซึ่งราคาจะถูกกว่าในอนาคต

ทั้งนี้สำหรับอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยภายใต้ EV Roadmap นั้น มองว่าไทยจะเดินหน้าเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้า (Hub of EV) แบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดราคาที่จับต้องได้ 

ซึ่งได้มีผู้เล่นรายใหม่ เช่น ปตท. เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งในส่วนของการร่วมทุนในบริษัทผลิตแบตเตอรี่ บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเลคโทรนิคที่เกี่ยวข้อง และการให้บริการชาร์จทั้งในรูปแบบ Station หรือ Delivery 

โดยทาง ปตท. มองว่าประเทศไทยสามารถที่จะเป็น Hub การผลิตรถไฟฟ้าในการส่งออกได้จากการที่มี supply chain ในประเทศที่เข้มแข็งและการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะยกระดับประเทศไทยให้เป็น Asian hub ซึ่งสำหรับโตโยต้าเองก็ได้มีแนวทางในเรื่องนี้ภายใต้นโยบายในระดับ Global เรื่อง Sustainable Development โดยภายในปี 2025 จะมีรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ใช้แบตเตอรี่ EV 

อีกทั้งการร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการสร้าง “Pattaya Sandbox” เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ และพลังงานสะอาด (renewable energy) ซึ่งนอกเหนือจากบทบาทของภาคเอกชนแล้ว ภาครัฐโดยสภาอุตสาหกรรมก็มีบทบาทสำคัญผ่านแผนนโยบาย 3 ประการ คือ สนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในระดับโลก ส่งเสริมความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศและลด Trade barrier ภายในอาเซียน

งานสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัมมนาออนไลน์เพื่อลูกค้าธุรกิจ หนึ่งในกิจกรรมจาก Krungsri Business เพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านธุรกิจของลูกค้าธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมสัมมนาที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อแบ่งปันข้อมูลความรู้ให้ลูกค้าธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลเชิงลึกจากวิทยากรชั้นแนวหน้า มุ่งสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้กับลูกค้า โดยผู้สนใจสามารถรับชมสัมมนาออนไลน์ต่างๆ ย้อนหลังผ่านช่องทาง Krungsri Business Empowerment Facebook และ www.krungsri.com