สทนช.เผยแผนยุทธศาสตร์ใหม่ ปี’64-73 ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในภูมิภาค

4 ประเทศสมาชิก MRC ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พร้อมด้วยองค์กรระหว่างประเทศจากนานาชาติ ร่วมหารือในการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และความร่วมมือ ครั้งที่ 4 มุ่งขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง ค.ศ. 2021-2030 มุ่งเน้นการจัดการน้ำในลุ่มน้ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานร่วมในการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และความร่วมมือ (Expert Group on Strategy and Partnership: EGSP) ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ว่า สำหรับการประชุมในครั้งที่ 4 นี้ ที่ประชุมได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง (Basin Development Strategy: BDS) ค.ศ. 2021-2030 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของทั้ง 4 ประเทศสมาชิก MRC ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

 

 

 โดยยุทธศาสตร์ใหม่ในช่วง 10 ปี ข้างหน้า เป็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดแนวทางการใช้ การพัฒนา การจัดการ และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายที่จะพัฒนาลุ่มน้ำโขงครอบคลุมทั้ง 5 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ภูมิอากาศ และความร่วมมือ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของทุกประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง

อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้เป็นไปตามแผนและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้นั้น จำเป็น
อย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือระดับภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง ในการดำเนินกิจกรรม รวมไปถึงโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ในที่ประชุมจึงได้มีการนำเสนอแนวทางความร่วมมือ รูปแบบของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปจนถึงข้อมูลความก้าวหน้าของกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้กรอบความความร่วมมือ โดยประเทศสมาชิก MRC และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง 

ได้แก่ อาเซียน (ASEAN) โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC) หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-US Partnership) ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น (Mekong-Japan) และ ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลี (Mekong-Korea) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันตามแนวทางความร่วมมือ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

“ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในโลกยุคปัจจุบัน ความต้องการทรัพยากรทางธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะและแรงกดดันอื่น ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม เวทีการประชุมในครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสสำคัญอันดีในการแบ่งปันข้อมูลและหารือร่วมกัน ทั้งระหว่างภายในประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศ รวมไปถึงหุ้นส่วนและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมผลักดันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาฯ ค.ศ. 2021-2030 ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการจัดการน้ำในแม่น้ำโขงและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง ไปสู่การปฏิบัติ 

ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะสมาชิก MRC ยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการดำเนินงานร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าการร่วมมือร่วมใจและมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และก่อให้เกิดผลลัพธ์การดำเนินงานที่ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในภูมิภาคต่อไป” ดร.สมเกียรติ กล่าว