“ชัยวุฒิ” โชว์ผลงานดีอีเอส-สตช.ลุยปราบมิจฉาชีพออนไลน์

ดีอีเอส หารือร่วม สตช. โดยกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ รับลูกข้อสั่งการนายกฯ เร่งหาแนวทางป้องปราบมิจฉาชีพออนไลน์ ยกระดับศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาซื้อขายออนไลน์ OCC 1212 ดึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ร่วมหารือแก้ไขปัญหา และให้ความรู้ประชาชน พบคนร้องเรียนปัญหาจากการซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊กมากสุด



วันนี้ (6 ต.ค. 64) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับ พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) และพล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 (ผบก.สอท.5) แถลงการหารือแนวทางป้องปราบมิจฉาชีพออนไลน์ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการสืบสวนรวบรวมหลักฐาน และความเข้มข้นในการดำเนินคดีกับมิจฉาชีพและผู้กระทำผิด ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาเป็นช่องทางหลอกลวง ฉ้อโกง ซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะในท่ามกลางความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19

 

 

 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยประชาชนที่ไม่รู้เท่าทันมิจฉาชีพทางออนไลน์ จนตกเป็นเหยื่อกลโกงรูปแบบต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เอสเอ็มเอส ไลน์ เฟซบุ๊ก แอปเงินกู้ และโทรศัพท์หลอกลวง โดยกำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ดำเนินการตามกฎหมายสูงสุดหากพบหลักฐานกระทำความผิด เพราะถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กองบังคับการปราบปรามการการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ (กลต.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทางออนไลน์ รวมถึงรวบรวมหลักฐานติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้เร็วที่สุด

 

โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา พบปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ที่ประชาชนร้องเรียน ร้องทุกข์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การหลอกลวงทางออนไลน์ เช่น สั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้ของ หรือไม่ได้คุณภาพตามที่โฆษณา หลอกลงทุนออนไลน์ แชร์ออนไลน์ กู้เงิน แฮกบัญชี ปลอมแปลงบัญชี หลอกโอนเงิน SMS หลอกกู้เงิน มีผู้เสียหายนับหลายพันคดี มูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งวันนี้ได้มีการประชุมหารือกับแพลต์ฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ ช้อปปี้ Tiktok เจดีเซ็นทรัล และลาซาด้า เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เกิดขึ้น ในการวางแนวทางการการป้องกัน ปราบปราม และให้ความรู้แก่ประชาชน

“เรามีแนวทางชัดเจนว่าในจะดำเนินการให้มีความเข้มข้นมากขึ้น กระทรวงฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ยกระดับการให้บริการประชาชนผ่านสายด่วน 1212 เว็บไซต์ https://www.1212occ.com หรือ email: 1212@mdes.go.th ดำเนินการการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายจากภัยออนไลน์ รวมทั้งจะมีการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนเพิ่มขึ้นด้วย” นายชัยวุฒิกล่าว



นายชัยวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อกำหนดลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย กรณีฉ้อโกงต่อประชาชนจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษสูงขึ้นจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

และหากการกระทำใดเข้าข่ายหลอกลวง ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง



ทั้งนี้ จากสถิติการรับแจ้งปัญหาการซื้อขายออนไลน์ ผ่านสายด่วน 1212 พบว่าแต่ละปีมีปริมาณร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับด้วยสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคนิยมเน้นการซื้อของผ่านออนไลน์เป็นที่นิยมต่อเนื่อง โดยสถิติร้องเรียนในปีนี้ (1 ม.ค. – 4 ต.ค. 64) มากสุด 3 อันดับแรก คือ ได้รับสินค้าไม่ตรงตามข้อตกลง (ผิดสีผิดขนาด) ไม่ได้ตามโฆษณา ตามมาด้วย ไม่ได้รับสินค้า (หลอกลวง) และได้รับสินค้าชำรุด

สำหรับช่องทางการซื้อขายที่มีสถิติการร้องเรียนจากผู้ซื้อสินค้าออนไลน์มากสุด ได้แก่ การซื้อผ่านเฟซบุ๊ก คิดเป็นสัดส่วนถึง 82.4% จำนวนการร้องเรียน 19,296 ครั้ง ตามมาด้วย เว็บไซต์ 4.6% และอินสตาแกรม 4.3%



ด้านพล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) กล่าวว่า ล่าสุด บช.สอท. ยังได้ร่วมกับสำนักงาน กสทช. และค่ายมือถือต่างๆ วางแนวทางจัดการปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกราย จะทำการบล็อก SMS ที่มีเนื้อหาชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวง เว็บพนันออนไลน์ หรือลามกอนาจารทันที และเร่งตรวจสอบ กำกับดูแลกันเองอย่างเคร่งครัด และให้ทุกค่ายเริ่มทำการ Backlist ผู้ส่งที่ส่งข้อความหลอกลวง หลังจากที่ได้การแชร์ข้อมูล SMS หลอกลวงระหว่างกันแล้วพบว่ามาจากผู้ส่งรายเดียวกัน

สำหรับกรณีการโทรหลอกลวงประชาชนโดยตรง ผู้ให้บริการมือถือทุกราย สามารถตรวจสอบการกระทำความผิดได้ชัดเจนเนื่องจากเบอร์โทรศัพท์มือถือที่มิจฉาชีพใช้สามารถตรวจสอบจากการลงทะเบียนได้ว่าใครเป็นเจ้าของเบอร์นั้น ถือเป็นหลักฐานที่ระบุต้นทางที่มา ประกอบกับข้อมูลที่ประชาชนให้ข้อมูลการหลอกลวง ส่งคลิป หรือแจ้งเบอร์โทรศัพท์เข้ามาเพื่อเป็นข้อมูล บช.สอท.จะตรวจสอบกับค่ายมือถือ และ สำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายในการดำเนินคดีเอาผิดกับมิจฉาชีพต่อไป