“ชัยวุฒิ”เตรียมเสนอ ศบค.ผ่อนปรนมาตรการเข้ม “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” หวังดึงยอดนักท่องเที่ยวทะลุเป้า 

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เยี่ยมชมผลสำเร็จของกระทรวงฯ ที่สั่งการดีป้า สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยวและการควบคุมโควิด ในโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เล็งต่อยอดแอพพลิเคชั่นหมอชนะ หนุนแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในเฟสต่อไป

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ภูเก็ต และเยี่ยมชมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยว และการควบคุมโควิด ในโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ที่เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำร่องขับเคลื่อนแผนการเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เริ่มจากภูเก็ต ก่อนใช้เป็นต้นแบบขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อมต่อไป โดยมีนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมด้วย





ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีให้กับการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เช่น ระบบติดตามบุคคลโดยการจับใบหน้า, ระบบติดตามตัวหมอชนะ, Dash Board ที่ใช้สำหรับรายงานสถานการณ์ แจ้งเตือนในระบบ Phuket Tourism Sandbox, ระบบ Shaba Plus และระบบตรวจสอบนักท่องเที่ยวเพื่อใช้ในการกักตัว เป็นต้น









รมว.ดีอีเอส กล่าวภายหลังการประชุมร่วมจังหวัดภูเก็ต พังงา ส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ว่า การลงมาตรวจเยี่ยมภูเก็ต แซนบ็อกซ์ และได้เข้ามารับฟังรายงานของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและทุกภาคส่วนในวันนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่า เราเดินมาถูกทางแล้ว กับตัวเลขข้อมูลต่างๆ ยืนยันได้ว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เดินหน้าได้อย่างดี และเร็วๆนี้จะขยายผลไปยังจังหวัดใกล้เคียง ในพังงา และกระบี่ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการควบคุมนักท่องเที่ยวหรือมาตรการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ



ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า เราสามารถเปิดประเทศได้ตามนโยบายที่ท่านพลเอกประยุทธ จันทรโอชาได้เคยพูดไว้ ว่า จะเปิดประเทศได้ใน 120 วัน ซึ่งตรงนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ต่อไปและกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้ในเร็ววัน ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น

เรื่องมาตรการการควบคุมการแพร่เชื้อของโรค เราก็ยังต้องใช้มาตรการควบคุมการเดินทางอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีการหารือกันในการวางแผนการผ่อนปรนมาตรการ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตให้ดีขึ้น

ส่วนกรณีการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 นั้น นายชัยวุฒิ กล่าวว่า “การใช้ RT-PCR ตรวจนักท่องเที่ยวที่เข้าภูเก็ตมีราคาสูงมาก ครั้งละ 2,600 บาท ค่าประกันสุขภาพอีก เป็นภาระของนักท่องเที่ยว ทำให้คนไม่อยากมาเที่ยว จึงคิดว่าน่าจะมีการทบทวนให้นำการตรวจแบบ ATK มาใช้แทน ซึ่งสามารถตรวจได้รวดเร็วและถูกกว่ามากอยู่ที่ประมาณ 100-200 บาทเท่านั้น ตรงนี้ก็จะนำเสนอมาตรการนี้ไปยังศบค.ต่อไป อีกทั้งถ้าเรามีการขยายพื้นที่ท่องเที่ยวไปหลายจังหวัดมากขึ้น ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น”



นายชัยวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาคือว่า อยากให้แต่ละจังหวัดมีการเชื่อมโยงข้อมูล เชื่อมโยงมาตรการให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็น Command Center ให้มีการบริหารจัดการที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลที่เดียว ไม่ใช่แต่ละจังหวัด หรือแต่ละหน่วยงานแต่ละกรมมีข้อมูลหนึ่งซึ่งการทำงานแยกกันไปหมด คิดว่าทางศบค.ต้องมีการกำหนดศูนย์บัญชาการหลักสำหรับดูแลการท่องเที่ยวที่จะดูแลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่จะขยายต่อไปในอนาคต

เป็นเรื่องสำคัญที่จะผลักดันต่อไป โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบไอซีทีมาใช้เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของทุกจังหวัดให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้



เราตั้งเป้าหมายวันละหนึ่งหมื่นคนที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาในช่วงเดือนธันวาคม เชื่อว่า หากมีการโปรโมทการท่องเที่ยวและผ่อนปรนมาตรการบ้างเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ภูเก็ตจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น รวมถึงถ้าสามารถขยายแหล่งท่องเที่ยวให้ข้ามไปถึงพังงา กระบี่ ให้สามารถท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้นกิจการการท่องเที่ยวโรงแรมต่างๆ ในพื้นที่เหล่านี้จะได้รับรายได้ที่ดียิ่งขึ้น

“ผมอยากให้ประเทศไทยของเราเป็น one country one application วันนี้มีหลายแอพพลิเคชั่นมากในการที่นักท่องเที่ยวจะต้องโหลดเข้ามาในมือถือ แต่ละหน่วยงานแต่ละกรมแต่ละกระทรวงมีแอพฯ ของตัวเอง แยกกันไปหมดไม่ได้เชื่อมโยงกัน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ก็จะเป็นแม่งานในการเชื่อมโยงข้อมูลทำให้แอพพลิเคชั่นรวมเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ เพื่อลดความซ้ำซ้อน ความยุ่งยากของพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วย”นายชัยวุฒิกล่าว 

หลังจากนั้น รมว.ดิจิทัลฯ และคณะได้เดินทางไปยัง ศูนย์ดิจิทัลชุมชน กศน. ตำบลป่าตอง โดยตั้งเป้าเป็นสถานที่ให้คนในชุมชนทุกกลุ่ม เข้าถึงการเรียนรู้ระบบไอทีและคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ต่อยอดพัฒนาอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต เปิดช่องทางขายสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนผ่านออนไลน์ ตั้งเป้าปีหน้าทำงานร่วมกับ ศธ. อปท. และหน่วยราชการอื่นๆ ขยายศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพิ่มอีก 2,000 แห่งทั่วประเทศ



 

 

 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ดิจิทัลชุมชน กศน. ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ด้านดิจิทัลระดับชุมชน ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโนยายให้กระทรวงดิจิทัลฯ ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านดิจิทัลให้กับทุกชุนชนทั่วทั้งประเทศ

โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ ได้รับการออกแบบเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะของกลุ่มเป้าหมายในชุมชน ครอบคลุมทั้ง ประชาชนในชุมชน นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้นำชุมชน เพื่อให้ก้าวทันเทรนด์โลกยุคใหม่ ในการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เข้าถึงความรู้และทักษะใหม่ๆ เพื่อต่อยอดสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ผ่านทางออนไลน์และโซเชียล

  

 

 

สำหรับการดำเนินภารกิจของศูนย์ดิจิทัลชุมชน กศน. ตำบลป่าตอง ได้มีการให้บริการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ (Printer) สัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) บริการห้องประชุมในรูปแบบของ co-working space พร้อมอุปกรณ์แก่ชุมชนโดยให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมทั้ง จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล การขายสินค้าออนไลน์ การสร้างเพจโฆษณาสินค้า สำหรับชุมชน

 

 

 

 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ในปีต่อไปกระทรวงดิจิทัลฯ มีเป้าหมายจัดทำศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพิ่มอีก 2,000 แห่ง โดยจะร่วมทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยราชการอื่นๆ ที่มีความพร้อมในด้านสถานที่ที่จะให้กระทรวงฯ ได้จัดโครงการที่จะประกอบด้วย ระบบไอซีทีคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบที่จะช่วยในการขายของออนไลน์ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำที่ช่วยให้ความรู้ ดูแลการทำงานในศูนย์ฯ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ศูนย์ดิจิทัลชุมชน เป็นสถานที่ในการเรียนรู้ระบบไอทีและคอมพิวเตอร์  และได้นำระบบที่เรามีไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป



 

 

 

“ต้องขอขอบคุณบริษัท ไปรษณีย์ไทย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ให้ความร่วมมือกับศูนย์ดิจิทัลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ ในการไปส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนเรียนรู้ที่จะขายของออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ thailandpostmart.com ของไปรษณีย์ไทย เป็นช่องทางหนึ่งสำหรับการขายสินค้าในชุมชน สินค้าเกษตร อาหารแปรรูปต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ และจัดส่งโดยไปรษณีย์ไทย ซึ่งอันนี้ก็พิสูจน์ว่าเราได้ทำมาอย่างดี ประสบความสำเร็จ ผมเชื่อว่าถ้าเราส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ต่อไป นโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประชาชน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” นายชัยวุฒิกล่าว

นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ IOC (Intelligence Operation Center) หรือ Command Center ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการและรวบรวมข้อมูลระดับเมืองของเทศบาลป่าตอง เป็นการขยายผลสู่ระดับจังหวัดที่ดำเนินการร่วมกับ จังหวัดภูเก็ต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน โดยศูนย์ดังกล่าวมีการนำแพลตฟอร์มจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมือง (City data Platform: CDP) มาใช้วางแผน บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาของเมืองที่มีความซับซ้อนให้เกิดประสิทธิภาพ



นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ”ดีป้า ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดดีอีเอส ได้ขับเคลื่อนและพัฒนาแพลตฟอร์มจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการการทำงานกับ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ติดตั้งกล้องซีซีทีวีบริเวณหาดป่าตอง และทุกแยกจราจร ให้ทำงานร่วมกับโซลูชันตรวจจับใบหน้า เพื่อตรวจสอบและติดตามผู้กระทำผิด และส่งการแจ้งเตือนสู่ศูนย์ฯ ก่อนนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และนำไปใช้วางแผน บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาของเมือง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และด้านอสังหาริมทรัพย์







ขณะที่ ในระยะต่อไปวางเป้าหมายการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตเข้าด้วยกัน เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัด ก่อนนำไปสู่การขับเคลื่อนภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ (Phuket Smart City)”