สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ เดินหน้าจัด “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2564” สานพลังชาวจุฬาฯ ทั่วโลก ร่วมทำดีในคอนเซ็ปต์ “จุฬาฯ รับใช้ประชาชน”

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) เดินหน้าจัดงาน   “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2564” ภายใต้แนวคิด “จุฬาฯ รับใช้ประชาชน” น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกําเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมพลพี่น้องชาวจุฬา ฯ ทั่วโลก เชื่อมเกียรติภูมิจุฬา ฯ สานพลังทำความดีแบบ “4D” ตลอดเดือนตุลาคม รับวิถี Next Normal 



นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานปิยมหาราชานุสรณ์ ประจำปี 2564 และ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ พร้อมด้วยเหล่านิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ร่วมงานแถลงข่าวแบบออนไลน์จัดงาน “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2564” โดยมีชาวจุฬาฯ จากทั่วโลกหลอมรวมใจกันเป็นหนึ่งเข้าร่วมกว่า 300 คน



นายก สนจ. กล่าวว่า งาน “ปิยมหาราชานุสรณ์ 2564” ในปีนี้กำหนดจัดขึ้นตลอดเดือนตุลาคม เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมสานต่อปณิธานแห่งการให้ภายใต้แนวคิด “จุฬาฯ รับใช้ประชาชน” รวมพลังชาวจุฬาฯ ทั่วไทย ทั่วโลก ชวนกันมาทำความดีผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อหารายได้สมทบทุนจุฬาสงเคราะห์ ทุนอาหารกลางวัน และสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ให้น้องนิสิตจุฬาฯ ได้ใช้เรียนและทำกิจกรรมจิตอาสาออนไลน์ควบคู่กันไป นับเป็นการส่งต่อโอกาสที่ดีจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินในแคมเปญออนไลน์ “Less is More” เริ่มต้นบริจาคได้ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป



อย่างไรก็ดี ตลอดทั้งเดือนตุลาคม สนจ. จะจัดกิจกรรมออนไลน์ที่หลากหลาย ปรับรูปแบบใหม่ให้สอดรับกับยุค Next Normal โดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาใช้ร่วมดูแลประชาชน ขับเคลื่อนสังคม และสร้าง “ผู้นำแห่งอนาคต” (Future Leaders) ให้กับประเทศไทย ซึ่งชาวจุฬาฯ จากทั่วทุกมุมโลกสามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Chulalongkorn University และ Chula Alumni

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนต่างร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว เราชาวจุฬาฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่หลากหลายมาช่วยเหลือประชาชนให้ยังคงดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย เรามีหุ่นยนต์ CU RoboCOVID ทั้งน้องปิ่นโต น้องกระจก และมีกิจกรรมใหม่อย่าง “ข้าวแสนกล่อง” และ “กล่องรอดตาย” ซึ่ง สนจ. ได้เข้าไปมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้นอย่างเต็มรูปแบบ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  โดยจากนี้ไปอีก 2 ปี ข้างหน้า ทิศทางการดำเนินงานของ สนจ. จะมุ่งสร้างสรรค์และดำเนินกิจกรรมดี ๆ เพื่อรับใช้ประชาชนแบบ 4D ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลกยุค Next Normal”  นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าว

สำหรับที่มาของแนวคิดจุฬาฯ รับใช้ประชาชนแบบ “4D” นั้น ประกอบด้วย D1 : Diversity ไม่ว่าจะเป็นจุฬาฯ รุ่นไหน Generation อะไร อยู่ที่ไหน ทั่วไทย ทั่วโลก ก็สามารถร่วมทำความดีเพื่อสังคมได้ D2 : SDGs (Sustainable Development Goals) สนับสนุนและมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกสร้างความยั่นยืนให้บรรลุทั้ง 17 เป้าหมาย ด้วยความถนัด ความเชี่ยวชาญของจุฬาฯ ผ่านนวัตกรรมมากมาย D3 : Digital Platform เชื่อมโยงทุกคนเข้าหากันด้วยช่องทางดิจิทัลหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น 1) CHAM Mobile App 2) www.dek.chula.ac.th ชวนคนจุฬาฯ กลับมาเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต 3) Instagram 4) Clubhouse และ 5) Tiktok  ปิดท้ายด้วย D4 : DSR (Digital Social Responsibility) กิจกรรมจิตอาสาออนไลน์ที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง

ขอเรียนเชิญพี่น้องชาวจุฬาฯ ทั่วไทย ทั่วโลก และผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนในงาน “ปิยมหาราชานุสรณ์  2564” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผู้นำแห่งอนาคตผ่านแนวคิด “4D” ดังกล่าว เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าสู่เว็บบริจาค www.cuaa.chula.ac.th

 ติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่าง ๆ ของทางสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Chula Alumni