“ลดเหลื่อมล้ำ เเก้ปัญหา โง่ จน เจ็บ”

บทความพิเศษ โดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


วงจรแห่งความชั่วร้าย( vicious cycle) คือลูกโซ่ของเหตุการณ์ซับซ้อน ซึ่งเสริมกันเอง ผ่านวงวนป้อนกลับและให้ผลลัพธ์ในทางร้าย ซึ่งในทางทฤษฎี ระบุไว้ว่า โง่ จน เจ็บ เป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์และมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกเมื่อเกิดปัญหาหนึ่งจะกระทบไปยังอีกปัญหาหนึ่งเป็นวงจรอยู่เช่นนี้ไม่มีสิ้นสุด


วันนี้ปัญหาของวงจรแห่งความชั่วร้าย เริ่มที่ปัญหาความเจ็บป่วยจากCOVID -19 นำไปสู่ความยากจน ไม่มีงานทำ และกระทบไปสู่การขาดโอกาสพัฒนาสติปัญญาของเด็กทุกระดับการศึกษา ที่ต้องออกกลางคัน หรือหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากพ่อแม่เจ็บป่วย เสียชีวิต หรือยากจนลง 


ในประเทศไทย เฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งสำรวจและติดตามเด็กตกหล่น และออกกลางคันในสถานศึกษาภาคบังคับ พบว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวนถึง 41,610 คน และเชื่อว่าอาจจะมีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ 

ตามสถานการณ์ความรุนแรงของ covid -19 จากการขาดโอกาสทางการศึกษา หรือความถดถอยของความรู้ จะนำไปสู่ปัญหาความยากจนในที่สุด เป็นวงจรเช่นนี้ไม่รู้จบสิ้น ซึ่ง3 นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2019 คือ อภิจิต บาเนอร์จี เอสเทอร์ ดูโฟลและ ไมเคิล เครเมอร์ ได้นำเสนอแนวคิดไว้อย่างน่าสนใจว่าทำไมคนจนถึงจน เป็นเพราะขี้เกียจหรืออะไรกันเเน่ 

ซึ่งจากผลการศึกษาส่วนหนึ่งให้คำตอบว่ามิได้มาจากความขี้เกียจ แต่น่าจะมาจากวงจร โง่ จน เจ็บ โดยเห็นว่า เกิดจากเหตุผลสำคัญห้าประการคือ 1) ปัญหาการขาดการศึกษา แม้จะมีการศึกษาฟรี แต่ไม่มีเสรีที่จะเลือก บางคนไม่ได้อยากเรียนวิชาสามัญแต่อยากเรียนอาชีพเพื่อการมีงานทำ มีรายได้ จึงต้องออกแบบหลักสูตรใหม่ให้ตรงกับที่คนจนอยากเรียน

2)สาธารณสุขดีเฉพาะกับคนรวย คนจนต้องหมดค่าใช้จ่ายไปกับการดูแลรักษาตัวเอง 3)คนจนจะยึดมั่นกับความเชื่อที่ผิดๆ เพราะขาดความรู้เช่น ทำเกษตร ใส่ปุ๋ยมาก ใช้ทุนสูง ผลผลิตขายได้ราคาต่ำ จึงมีรายได้น้อย เชื่อเรื่องโชคลาง หวยเบอร์ ก็เพราะขาดองค์ความรู้ 4)ปัญหาเพศสภาพ หญิงมีโอกาสน้อยกว่าชายทั้งที่มีจำนวนประชากรที่มากกว่าและระบบการเมืองในบางประเทศทำให้คนยากจนขาดโอกาส 

5)ระบบการเงินของรัฐเอื้อให้กับคนรวยมากกว่าคนจน คนจนมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรน้อย การทำธุรกรรมมีค่าธรรมเนียมสูงหรือการเข้าถึงแหล่งทุนทำได้ยาก 


เมื่อการแก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน กับปัญหาความยากจน และปัญหาผลกระทบจากโรคโควิด เป็นวงจรที่เกี่ยวพันกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กระทรวงศึกษาธิการจึงเตรียมการแก้ปัญหาเบื้องต้นในส่วนที่รับผิดชอบ คือการให้คนได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด 

โดยการสำรวจเด็กตกหล่นและออกกลางคันจากการศึกษาภาคบังคับ เบื้องต้น สพฐ. ได้ติดตามข้อมูลและสามารถช่วยเด็กกลับเข้าเรียนได้แล้วในส่วนของระดับอนุบาลเเละประถม 2,116 คน ส่วนนักเรียนที่เหลือทั้งประถมและมัธยม จะได้ดำเนินการโดยสำรวจข้อมูลแบบปูพรมครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในภาคเรียนที่สองนี้ 

จากนั้นจะนำมาวิเคราะห์หาเเนวทางผลักดันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ในขณะเดียวกันข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่ายังมีคนพิการไม่ได้รับการศึกษา 54,513 คน ได้นำมาคัดกรองผู้ที่อยู่ในระดับวัยเรียนขั้นพื้นฐานจำนวน 7,173 คน และเตรียมการปักหมุดที่อยู่ของเด็กนักเรียนเหล่านี้เพื่อนำไปสู่การจัดการในลักษณะของการเรียนศึกษาสงเคราะห์ และการศึกษาพิเศษ 

สำหรับเด็กพิการที่ยังไม่ได้รับการศึกษาและอายุเกินกว่า 18 ปีจำนวน 47,340 คน กศน. จะเข้าไปดำเนินการค้นหา ปักหมุด และให้บริการทุกคนอย่างครบถ้วนและเป็นระบบด้วยความตั้งใจว่าคนทุกคนจะต้องได้รับการดูแลและได้รับการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม


อีกนโยบายและทิศทางหลักที่จะดำเนินการโดย กศน. ในเรื่องนี้ คือจะมีการจัดตั้งอาสาสมัครการศึกษาประจำตำบล (อสส.กศน.) อย่างน้อย ตำบลละสามคน เพื่อสำรวจข้อมูลและปักหมุดที่อยู่ของบุคคล กลุ่มคนพิการ / กลุ่มเด็กกำพร้า เด็กออกกลางคันหรือตกหล่นจากระบบ/ และกลุ่มที่ยากจนมากขาดอาชีพขาดรายได้ โดยเริ่มต้นกลุ่มคนพิการที่จังหวัดระนอง ขยายผลไปยัง 19 จังหวัดและปักหมุดทุกกลุ่มทุกจังหวัดทั่วประเทศ เด็กที่ยังอยู่ในวัยเรียนจะส่งต่อเข้าสู่ระบบการศึกษาของสพฐ./สช/และโรงเรียนขององค์กรท้องถิ่น ผู้ที่มีอายุเกินหรือไม่สามารถเข้าเรียนในระบบได้ จะเข้าเป็นนักเรียน กศน. 

โดยการศึกษาอาจจะใช้เเบบพบกลุ่มในห้องเรียนหรือระบบออนไลน์เพื่อให้โอกาสแก่ทุกคนอย่างทั่วถึง สำหรับเด็กพิการ สมาคมซึ่งรับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ จะได้เข้ามาให้บริการอย่างทั่วถึงในทุกประเภทผู้พิการ และในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 


กศน. จะปรับวิธีการเรียนการสอนสายสามัญให้เข้าถึงระบบการเรียนได้ง่ายขึ้น ทั้งการเรียนแบบปกติ เเละแบบออนไลน์หรือทางไกล ซึ่งถือเป็นทิศทางของการจัดการศึกษานอกระบบในอนาคต จัดสอนอาชีพให้คนยากจนทั้งอาชีพระยะสั้น สตาร์ทอัพ การขอทุน กยศ.เพื่อสนับสนุนการเรียนอาชีพระยะสั้นในโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ในกศน. หรือสถานศึกษาอาชีวะ 

ส่วนการเรียนรู้ตามอัธยาศัย จะบริการผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆเช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์ ห้องสมุด อีทีวี โดยมุ่งเน้นให้คนไทยได้รู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ จากความไม่รู้ กลายเป็นผู้ฉลาดรู้ รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก เอาตัวรอดได้ในสังคมยุคนิวนอร์มอลและทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้(learning society) 


กลุ่มเป้าหมายการเรียนการสอนของ กศน. จะเน้นให้ครอบคลุม ทุกช่วงวัย มีรูปแบบวิธีการเรียนที่หลากหลาย ทั้งการเรียนแบบปกติในห้องเรียน และการเรียนการสอนทางไกลผ่านออนไลน์ ปรับเนื้อหาให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน ปรับวิธีการประเมินผล โดยเน้นสร้างสมรรถนะให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีการเก็บคะเเนนผลการเรียนไว้ในระบบเครดิตแบงค์ และสามารถเรียนต่อในระดับสูงได้โดยการเทียบโอน 


ด้วยความหวังว่าการลดความเหลื่อมล้ำนี้จะทำให้เราก้าวไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และขจัดวงจรแห่งความชั่วร้าย โง่ จน เจ็บ ให้หมดไป หรืออย่างน้อยก็หวังว่าจะลดระดับของความรุนแรงให้น้อยลงกว่าเดิม