รมว.แรงงานติดตามงาน “ขับเคลื่อน สร้างการรับรู้ และประเมินผล”

๑๐ เมษายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๓๐ น. พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อสรุปรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานรอบ ๖ เดือนแรกและมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานของกระทรวงแรงงานรอบ ๖ เดือนหลัง ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๐ แก่ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น ๕ อาคารกระทรวงแรงงาน

 พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ซึ่งถือเป็นปีแห่งการวางรากฐาน การพัฒนาแรงงานมุ่งสู่ศตวรรษที่ ๒๑ โดยมีวาระการปฏิรูปด้านแรงงาน ๘+๑ ได้แก่ การปฏิรูปบทบาทกระทรวง Zero Corruption Information Technology Safety Thailand การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและแรงงานผิดกฎหมาย การเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand ๔.๐ สร้างมิติใหม่ของการส่งเสริมการมีงานทำ การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมจาก Manpower เป็น Brain Power โดยให้แรงงานไทยยกระดับทักษะฝีมือสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการทำงานไปจนถึงใช้กำลังปัญญาในที่สุด เพื่อก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ในปี ๒๕๖๐ เป็นปีแห่งการ “ติดตาม ขับเคลื่อน สร้างการรับรู้ และประเมินผล”วาระปฏิรูปแรงงาน ๘+๑ ให้เป็นผลสำเร็จโดย ๖ เดือนข้างหน้าขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งรัดดำเนินการตามแผนโครงการต่างๆ ให้บรรลุผลโดยเร็ว ทั้งการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เฉพาะด้าน การพัฒนาฐานข้อมูลด้านแรงงาน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการต่างๆ สู่การปฏิบัติ

   

   

ส่วนในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ จะเป็นปีแห่งการ “เตรียมการส่งมอบ เพื่อให้ขับเคลื่อนงานสู่การเป็น Thailand ๔.๐”ผ่านแผนแม่บทพัฒนาแรงงานไทยในระยะ ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) โดยมี ๖ ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ๑) การเพิ่มศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานไทยให้ได้มาตรฐานสากล ซ่อม กลุ่มแรงงานทักษะฝีมือต่ำเพื่อให้มีทักษะที่เพียงพอในส่วนที่ขาด เพื่อให้คงอยู่ในตลาดแรงงานได้ และทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคตได้

๒) การคุ้มครองและเสริมสร้างความมั่นคง หลักประกันในการทำงาน โดยการเสริมสร้างความมั่นคงในการมีงานทำ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แรงงานผ่านระบบประกันสังคม/ส่งเสริมระบบการออม เพื่อให้มีหลักประกันชีวิตที่มั่นคง ๓) การบริหารจัดการด้านแรงงานระหว่างประเทศ โดยเร่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านแรงงานทั้งในกรอบทวิภาคี พหุภาคีและเขตการค้าเสรี ๔) การพัฒนากลไกในการสร้างความสมดุลของตลาดแรงงานเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ภาคแรงงาน

โดยมุ่งบรรเทาความไม่สอดคล้องของการจ้างงานระหว่าง Demand และ Supply ๕) การบริหารจัดการองค์กร บุคลากร ด้วยหลักธรรมาภิบาล และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในองค์กร และ ๖) การพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศ เพื่อบูรณาการสารสนเทศที่ทันสมัยและมีเสถียรภาพด้วย