รมช.พาณิชย์ มอบ sacit ติวเข้มผู้ประกอบการ สร้างจุดขายงานหัตถศิลป์ไทยด้วย Storytelling  

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเกือบ 2 ปี และรัฐบาลออกประกาศเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระตุ้นภาคธุรกิจรายย่อยให้มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น 

และในฐานะที่สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ได้เห็นโอกาสที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเริ่มทยอยกันเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้ sacit เร่งเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการในด้านการสร้างสตอรี่หรือการเล่าเรื่อง (Storytelling) ในงานศิลปหัตถกรรมไทยมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีและเป็นส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจซื้องานศิลปหัตถกรรมไทยในกลุ่มลูกค้าชาวไทยและขาวต่างชาติ



“ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่มีความชื่นชอบในงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นทุนเดิม อยู่แล้ว เพราะงานศิลปหัตถกรรมไทยมีจุดแข็งในเรื่องของเรื่องราว ที่มาของชิ้นงาน การใช้วัสดุธรรมชาติ กระบวนการผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งกำลังเป็นกระแสความนิยมของทั้งโลก”

การเล่าเรื่อง หรือ Storytelling เป็นเทคนิคของการถ่ายทอดเรื่องราวโดยใช้วิธีการเล่าเรื่องที่มีที่มาที่ไป เพื่อเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวกับผลิตภัณฑ์อย่างเข้าใจ ช่วยให้เนื้อหาน่าติดตาม สำหรับงานศิลปหัตถกรรมไทย Storytelling ถือเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวและตอกยํ้าคุณค่าของที่มา ผู้สร้างสรรค์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบและขั้นตอนต่างๆ จนออกมาเป็นงานศิลปหัตถกรรมไทยหนึ่งชิ้น สะท้อนคุณค่าในตัวผลิตภัณฑ์ไปถึงผู้ซื้อให้เกิดความประทับใจในงานศิลปหัตถกรรมไทยมากขึ้น

ตัวอย่างเช่นงานผ้าโฮลโบราณ จ.สุรินทร์ ที่มีการสืบทอดภูมิปัญญาผ้าโฮลแบบโบราณมาจากชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่มีความชำนาญในการมัดลายและย้อมสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ ผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ช่วยให้เอกลักษณ์ของผ้าโฮลมีสีสันสดใสและลวดลายที่โดดเด่นของภาคอีสานไว้ได้อย่างสมบูรณ์

รมช.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการสร้าง Storytelling ให้กับผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ถือเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่ผู้ประกอบการโลกยุคใหม่ต้องมี โดยเฉพาะงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจค้นหา 

จึงเป็นสิ่งที่สังคมให้คุณค่า นอกเหนือจากการใช้สอย แต่เป็นเรื่องราวที่ผ่านการสั่งสมภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน แต่ในวันนี้ผู้ซื้องานหัตถกรรมทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมองในแง่มุมของความดั้งเดิมและร่วมสมัย ที่ผสมผสานความเก่ากับความใหม่เข้าด้วยกัน 

โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีของดีมากมาย จึงมีมั่นใจว่าการสร้างเรื่องราว หรือการเล่าเรื่องในคุณค่างานศิลปหัตถกรรมไทยนั้น จะเป็นส่วนช่วยให้ผู้ซื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ใช้ประกอบการตัดสินใจซื้องานศิลปหัตถกรรมไทย สร้างรายได้กลับสู่มือผู้สร้างสรรค์ชิ้นงาน ชาวบ้าน และชุมชน ตลอดจนยังเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศคลี่คลายลง



ด้านนายพรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า sacit พร้อมให้ความรู้ด้านการสร้างเรื่องราว หรือ  Storytelling ให้กับชิ้นงานศิลปหัตถกรรมไทย เพราะ ในปัจจุบัน การสร้างเรื่องราว หรือ การเล่าเรื่องเป็นองค์ประกอบสำคัญของ Content Marketing และเป็นกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้งานศิลปหัตถกรรมไทยเข้าไปอยู่ในใจของผู้ซื้อ และเกิดการตัดสินใจซื้อในที่สุด จึงได้สั่งการให้หน่วยงานภายในของ sacit ดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และผู้ประกอบการ



ในด้านการถ่ายทอดเรื่องราวของชิ้นงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ตนเองผลิต เพื่อสร้างความน่าสนใจ เกิดความประทับใจแก่ผู้ซื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงาน เพิ่มพูนรายได้กลับสู่ชุมชนและชาวบ้านอย่างยั่งยืนต่อไป