“การศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนและสร้างอาชีพ”

โดย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

การศึกษามีหน้าที่สำคัญอย่างน้อยสามประการคือ 1.พัฒนากำลังคน (Manpower) 2 .สร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ(Human Resource) และ 3. สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้( Learning Society) โดยหน้าที่เหล่านี้เป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของมนุษย์ทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล และเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของสังคมโดยรวม


วันนี้ การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนและสร้างอาชีพ ของกระทรวงศึกษาธิการ กำลังก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ ด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในส่วนของเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบการค้าเสรี ซึ่งเชื่อมโยงเครือข่ายถึงกัน จึงจำเป็นต้องสร้างบุคคลที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อนำพาประเทศให้ก้าวทันคนทั้งโลก 

ในขณะที่สถานการณ์ COVID -19 ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระทบต่ออาชีพและรายได้ของประชาชน มีผู้ตกงานเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องสร้าง ปรับหรือยกระดับความรู้เดิม จนถึงสร้างความรู้ใหม่ (Re- skill ,Up- skill ,New-skill) เพื่อการประกอบอาชีพที่นำรายได้มาสู่ครอบครัว ภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนและสร้างอาชีพได้ถูกกำหนดเป็นนโยบายสำคัญ ที่จะต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง 

โดยความร่วมมือทั้งในส่วนของการอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย รวมทั้งการศึกษา ระดับพื้นฐานของโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน โดยผ่านนโยบายสำคัญ 2 เรื่อง คือ การขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศ และ การพัฒนาทักษะทางอาชีพ


“การขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศ “ คือการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ในกลุ่ม New Growth Engine ของประเทศ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย First S-Curve และ New S-Curve โดยมีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ การเทียบเคียงหลักสูตรอาชีวศึกษากับมาตรฐานวิชาชีพ การพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาและกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ

 รวมทั้งพัฒนาครูอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงมุ่งสู่ความเป็นเลิศ สำหรับในส่วนของการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศนั้น ได้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน พัฒนาครูให้มีสมรรถนะสูง และพัฒนานักเรียน นักศึกษา ให้มีสมรรถนะเชี่ยวชาญสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยร่วมมือฝึกปฏิบัติในลักษณะของทวิภาคี โดยจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา(Excellent Center ) 120 ศูนย์ และ มีศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา( Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) 25 ศูนย์ ซึ่งได้ดำเนินการจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว 

ได้แก่ 1) สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา 2) เทคนิคเครื่องกล(สาขางานอาชีพซ่อมตัวถังและสีรถยนต์) ว.การอาชีพไชยา 3)เทคนิคการผลิต ว.เทคนิคสมุทรสงคราม 4) อิเล็กทรอนิกส์ ว.เทคนิคนครนายก 5) การท่องเที่ยว ว. อาชีวศึกษาเชียงราย 6) การโรงแรม ว. อาชีวศึกษาภูเก็ต

 7) การจัดประชุมและนิทรรศการ ว.อาชีวศึกษาขอนแก่น 8) พืชศาสตร์ ว. เกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี 9) สัตวศาสตร์ ว.เกษตรและเทคโนโลยีสงขลา 10) อาหารและโภชนาการ ว.อาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา 11 )แมคคาทรอนิกและหุ่นยนต์ ว. เทคนิคสัตหีบ 12 ) การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ว. อาชีวศึกษาอุดรธานี 13 ) เทคนิคเครื่องกลเรือ ว.เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช 14 ) ช่างอากาศยาน ว. เทคนิคถลาง 15 ) เทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง ว.เทคนิคชลบุรี

 16) ปิโตรเคมี ว.เทคนิคมาบตาพุด 17) อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ว.เทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ. แม่เมาะ 18 )เทคนิคพลังงานทดแทน ว. เทคนิคชัยภูมิ 19 ) เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล ว.พณิชยการธนบุรี 20 )ช่างก่อสร้าง ว. เทคนิคสระแก้ว 21) เครื่องประดับอัญมณี กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง 22) ธุรกิจค้าปลีก ว.พณิชยการบางนา 23) เทคนิคเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ ว.เทคนิคราชสิทธาราม 24) เทคนิคโลหะ ว. เทคนิคหาดใหญ่ และ 25) เทคโนโลยีความงาม ว. สารพัดช่างสมุทรปราการ 


“การพัฒนาทักษะทางอาชีพ” เพื่อส่งเสริมการมีรายได้ เป็นการขับเคลื่อนวิทยาลัยสารพัดช่าง เพื่อพัฒนากำลังคนสู่ทักษะเฉพาะกลุ่มอาชีพ การอบรมอาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ เพื่อให้นำไปใช้ได้จริงและมีรายได้ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนอาชีวศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการ เช่น บ่มเพาะผู้เรียนสู่ Start up พัฒนาด้านการต่อยอดธุรกิจเกษตร ในช่วงของสถานการณ์โควิด มีการฝึกอาชีพเพื่อการมีงานทำสำหรับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด โครงการทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนประจำ ให้ กศน. จัดกิจกรรมสอนอาชีพสำหรับประชาชน ทั้ง 77 จังหวัด โดยศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กศน. ประจำตำบล 7,000 แห่ง มีการคัดเลือกอาชีพเด่นเพื่อส่งเสริม 1 อำเภอ 1 อาชีพ มีการประสานกับแหล่งทุน หรือสถาบันการเงินสำหรับการสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนประกอบกิจการ จัดระบบการเรียนการสอนอาชีพแบบออนไลน์ 

จัดจำหน่ายสินค้าของกศน. ผ่านระบบ e-commerce มีกิจกรรมการเรียนการสอนอาชีพที่หลากหลาย ทั้งหลักสูตรระยะสั้น 3 ชั่วโมง 6 ชั่วโมง จนถึง 30 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น สามารถนำไปใช้เทียบโอน ต่อยอดเพื่อศึกษาในระดับสูงขึ้นและเรียนต่อในสถาบันอาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษาได้ สำหรับนักเรียน ระดับประถม และมัธยม ของสพฐ. และสช. รวมทั้งสังกัดอื่น เน้นให้เด็กได้เรียนรู้วิชาชีพต่างๆ พร้อมกับการศึกษาสายสามัญ 

เพื่อให้ทำงานได้ มีรายได้แบ่งเบาภาระสำหรับผู้ปกครอง และเตรียมจัดให้มีระบบการเทียบโอนผลการเรียนเพื่อเรียนต่อสถาบันอาชีวะเเละมหาวิทยาลัย จัดห้องเรียนอาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งผู้เรียนสามารถออกไปทำงานได้เลย หลังจากเรียนจบ หรืออาจเรียนต่ออาชีวศึกษาในระดับสูงขึ้นก็ได้ 


การศึกษา พัฒนากำลังคนและสร้างอาชีพ ผ่านระบบการเรียนสายอาชีพ เพื่อสร้างชาติ สร้างความก้าวหน้าให้กับบ้านเมือง การพัฒนากำลังคนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ในขณะเดียวกันการมีอาชีพก็ทำให้คนไทย ทุกคน ทุกครอบครัว มีรายได้ อยู่ดีกินดี มีความสุข ประเทศไทยหลุดพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง นี่จึงน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญที่การศึกษาไทยต้องทำให้ได้ และก้าวไปให้ถึงสิ่งที่วาดหวังไว้นั้น