10 จุดต๊ะต่อนยอน หนาวนี้ไม่ควรพลาด ทริปแม่ฮ่องสอน

การเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยิ่งถ้าขับรถไปเอง เพื่อไม่ให้เสียเวลาและพลาดกับบางบรรยากาศ สิ่งสำคัญสำหรับเราคือการแพลน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง สถานที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่กิน โดยเฉพาะกับห้วงเวลาใกล้เข้าปีใหม่เข้าไปทุกขณะ 

สำหรับใครที่สนใจการเดินทางแบบเรา... ไม่ยาก ค่อยๆ คำนวณเวลาและจองที่พักเอาไว้ล่วงหน้า สำหรับเราครั้งนี้ เริ่มล้อหมุนจากกรุงเทพฯในช่วงสายของวันเพื่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดเชียงใหม่และแวะค้างคืนกันหนึ่งวัน ก่อนที่จะเดินทางขึ้นไปยังแม่ฮ่องสอน เราเลือกเส้นทางแม่สะเมิง แม้จะอ้อมหน่อยแต่ก็เส้นทางค่อนข้างสะดวก และยังได้แวะเที่ยวชมทุ่งดอกบัวตองขุนยวมในระหว่างทาง หลังจากนั้นจึงปักหลักกันที่แม่ฮ่องสอน เพื่อเที่ยวในสถานที่เที่ยวต่างๆ ด้วยระยะทางจากเชียงใหม่ ปลายทางที่แม่ฮ่องสอน 349 กิโลเมตรแต่ใช้เวลาขับรถ 7-8 ชั่วโมง เพราะเส้นทางคดเคี้ยว 1864 โค้ง การแวะสถานที่เที่ยวตามทางช่วยให้เราได้ผ่อนคลายไม่ล้ากับการเดินทางด้วย “เมืองสามหมอก”..... รออยู่

@ พิงค์นคร ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่ 

สุดคลาสสิค จุดแวะแรกจากการขับรถอันยาวนานตลอดทั้งวัน คือ โรงแรมแอทพิงค์นคร ริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพักผ่อนหนึ่งคืน ก่อนจะเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น

มุมกาแฟ หลังอาหารเช้าริมสระว่ายน้ำของโรงแรม

ภายในห้องอาหาร

ด้านหลังโรงแรมติดแม่น้ำปิง
ด้วยห้องพักแสนอบอุ่น ดีไซน์สุดคลาสสิคริมแม่น้ำปิง พร้อมสระว่ายน้ำกลางแจ้ง แม้ในครั้งแรกเราจะไม่ได้เลือกจองแอทพิงค์นคร ริเวอร์ไซด์ เราเลือกจองที่ถนนห้วยแก้ว แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่าได้ห้องที่เป็นบันไดวน แม้จะกว้าง แต่ก็ไม่ค่อยสะดวกกับการจะยกสัมภาระ ที่เตรียมมาเพื่อการเดินทางระยะยาว ค่อนข้างหนักหนาอยู่ ลองติดต่อขอเปลี่ยน ปรากฏห้องเต็มคะ แต่เอาเถอะ เมื่อพนักงานนำเสนอที่ริเวอร์ไซด์ เมื่อไปถึงทั้งห้องพักและบรรยากาศเป็นเลิศ สอบผ่าน นอกจากจะคลาสสิคสวยงามแล้ว ยังมีอาหารเช้า ที่วางไลน์อาหารเอาไว้หลายอย่างพอสมควร

ดอกบัวตองที่ดอยแม่อูคอ



ทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่อูคอ ได้เปิดเทศกาลดอกบัวตองบาน บนดอยแม่อูคอ ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน” จากข้อมูลเบื้องต้น ระหว่างที่เราเดินทางก็กลางเดือนธันวาคม ซึ่งยังทันเห็นดอกบัวตองเหลืองบานอร่ามอยู่ หลังจากทานอาหารเช้ากันเรียบร้อย ล้อก็เริ่มหมุนออกจากจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเดินทางขึ้นสู่แม่ฮ่องสอน

  

เรามุ่งหน้าสู่ อ.ขุนยวม เพื่อชื่นชมทุ่งดอกบัวตองที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในเมืองไทย บนพื้นที่มากกว่า 500 ไร่บนความสูงกว่า 1,600 เมตร อยู่ห่างจากอำเภอขุนยวม 25 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการพัฒนาป่าไม้ที่สูง หน่วยที่ 5 กองอนุรักษ์ต้นน้ำ



สิ่งอำนวยความสะดวก มีบริการให้เช่าเต็นท์ค้างแรมบนดอย ตั้งได้ประมาณ 100 หลัง ติดต่อโดยตรงบริเวณหน่วยทำการบนทุ่งบัวตองหรืออำเภอขุนยวม โทร 053 691108

ต้องบอกว่า แม้ตลอดเส้นทางคดเคี้ยวเลี้ยวลดขึ้นลงเขาตามทางจะมากขนาดไหน แต่ต้องถือว่าค่อนข้างสะดวก ปลอดภัย เพราะมีป้าย สัญลักษณ์ บอกทางที่คดเคี้ยวนั้นอย่างชัดเจน





 



 

 







 

เมื่อขึ้นไปถึงบริเวณทุ่งดอกบัวตอง เราเห็นรถทะเบียนกทม.เพียบ จอดเรียงรายริมข้างทางบนเนินทุ่ง ก็ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ห้วงเวลาท่องเที่ยวแบบนี้ ไม่ใช่แค่ทะเบียนกทม. แต่มาจากทั่วสารทิศ เพื่อชื่นชมสิ่งเดียวกัน ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ที่ลูกหลานพามาเปิดหูเปิดตา ทั้งหนุ่มสาวที่สาละวนอยู่กับการเซลฟี่เลือกเฟ้นมุมที่ถูกใจ ด้วยเพราะความสวยงามของทุ่งดอกบัวตองไม่ใช่เพียงดอกไม้ ทัศนียภาพที่กว้าง อลังการสุดสายตาของเนินภูน้อยใหญ่ลดหลั่นกันรายรอบทุ่ง บางคนเลือกที่จะมาดูพระอาทิตย์ตกบนนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวค่อนข้างมีจำนวนมาก เพราะทุกคนที่มาก็ไม่อยากพลาดเก็บภาพมาอัพเฟซกัน



ถนนคนเดินหน้าหอนาฬิกา 

ประมาณห้าโมงเย็นเราก็ขับรถกลับออกมาจากเนินทุ่งดอกบัวตองเพื่อเดินทางต่อไปยังตัวอำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน กว่าจะถึงก็ราวสองทุ่ม ครั้งนี้เราจองที่พักที่บีทู พรีเมียร์ สามคืนติดต่อกัน เพื่อจะได้มีโอกาสเที่ยวแม่ฮ่องสอนให้หนำใจ สถานที่ตั้งของบีทู จะถึงก่อนใจกลางเมือง แต่สถานที่กว้างขวาง จอดรถสะดวกสบาย ห่างออกมาก็แค่ไม่กี่นาทีถึงตัวเมือง ทำให้เราเลือกที่จะนอนพักกันที่นี่ และความที่จองล่วงหน้าทำให้ไม่พลาดเรื่องที่พัก เพราะเมื่อเราไปถึงปรากฏว่ามีคนวอคอินเข้ามาแต่ก็ต้องผิดหวังกลับไป เพราะเต็มไปนานแล้ว

จากระเบียงห้องนอนของบีทูพรีเมียร์

หลังเช็คอินเรียบร้อย เราไปหาอะไรกินกัน โดยเลือกถนนคนเดินซึ่งปัจจุบันนำมาจัดเอาไว้ที่บริเวณหอนาฬิกา ตลาดนัดถนนคนเดินจัดทุกวัน กลางค่ำกลางคืนหิวก็มาหาอะไรทานกันที่นี่ได้ แต่ปิดเร็ว สามทุ่มแม่ค้าพ่อขายก็จะเก็บกลับกันหมดแล้ว ช่วงหลังโควิดแบบนี้ ร้านบางร้านเปิดให้บริการถึงสี่ทุ่ม ขณะที่บางร้านก็คนเต็มรอคิวกันยาวนานเพราะการจัดสรรโต๊ะไม่มากนัก

ถึงหอนาฬิกา ก็วนหาที่จอดรถตามริมทางกันคะ

การแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวแม่ฮ่องสอนของน้องนักศึกษา

ขนมสูตรโบราณเหลืออยู่เจ้าเดียวของแท้หลายสิบปี

เดินจนเมื่อย จนมาสุดตลาดจะพบร้านกาแฟ

มีหมาล่าปิ้งด้วย อากาศเย็นๆอย่างนี้ ต้องหมาล่า

มื้อค่ำของวันแรกในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน
ที่ถนนคนเดิน จะมีน้อง ๆ นักศึกษา มาเปิดหมวกแสดงการร่ายรำตามศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ได้ดูกันเป็นประจำทุกค่ำคืน แต่ต้องมาไวกันหน่อย นอกจากนี้ร้านรวงของที่ระลึก สนนราคาพอจับต้องได้ มีขนมโบราณโดยฝีมือผู้สูงวัยที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่เจ้าในเมืองแม่ฮ่องสอนแล้ว แค่ดูวิธีการห่อ การทำ ก็เพลิดเพลินแล้ว

 หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว



คอยาวสุดเห็นจะไม่มีใครเกินชาวชุมชนกะเหรี่ยงคอยาว บ้านห้วยเสือเฒ่า ซึ่งหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวแห่งนี้อยู่ใกล้กับตัวเมือง ขับรถไปไม่นาน สามารถนำรถไปจอดได้ถึงด้านหน้าหมู่บ้าน มีป้ายบอกทางชัดเจน เส้นทางเข้าค่อนข้างแคบหน่อย ต้องระวังรถสวนทางช่วงเข้าโค้ง แต่ก็ปลอดภัย




การเดินทาง จากตัวเมือง ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ผ่านซุ้มประตูเมือง เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดิน 1250 ขับตามป้ายบอกทางไปเรื่อยๆ ก็จะถึง ห้วยเสือเฒ่า ที่นี่ ที่จอดรถด้านหน้าค่อนข้างน้อย ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เราเลือกขอแนบสนิทจอดหน้าร้านริมทางเดินเลยทางเข้าหมู่บ้านมาเล็กน้อย ด้วยอัธยาศัยไมตรีของชาวบ้านทำให้เราไม่พลาดที่จะอุดหนุนอาหารและน้ำเป็นการตอบแทน

ทุกคนเทิดทูนในหลวงเหนือหัว


เมื่อนักดนตรีมาเจอกัน
ที่นี่ไม่มีค่าเข้า สามารถเดินเข้าไปเลือกซื้อสินค้า ของที่ระลึกได้เลย และในช่วงสถานการณ์โควิด – 19 ทางเข้าหมู่บ้านจะมีเครื่องวัดอุณหภูมิจากด้านหน้า ทุกคนต้องตรวจอุณหภูมิก่อนเข้า รวมถึงต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยจึงจะเข้าได้



แม่ค้าพูดจาอัธยาศัยดีเยี่ยม แต่ต้องตะแคงหูฟังหน่อยว่าพูดอะไร


 



ส่วนสามีก็แกะไม้เตรียมลงสีจำหน่าย


สำหรับเรา ทุกครั้งที่ขึ้นมาแม่ฮ่องสอน เป็นต้องแวะมาที่นี่ทุกครั้ง เรียกว่าต้องมนต์กับสีสันวิถีของเขาก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการแต่งกาย การมัดผ้าหลากสีเหนือศีรษะ การสวมห่วงคอทองเหลืองในแต่ละห่วงที่มีความหมาย เด็กแต่ละรุ่นยังคงสืบสานวิถี





สองนางปั้นดินให้เป็นเงิน (ลูกดินสำหรับยิงหนังสะติ๊ก)

เกมส์ละห้าบาท มีสิบลูก เอาไว้ประลองฝีมือเล่นๆ

ลองมั่งจบข่าวไม่ถูกสักลูก
   

พริกกะเหรี่ยงของแท้แน่นอน
แม่ค้าคอยาวเล่าสำเนียงแปร่งปร่าให้ฟังว่า การใส่ห่วงคอจะเริ่มตั้งแต่เด็ก อายุ 5 ขวบ จะมีหมอผีประจำเผ่าเป็นผู้ใส่ให้ มีการใช้กระดูกไก่ทำนายหาฤกษ์ยามที่ดีที่สุด จะสวมให้กับหญิงที่เกิดวันพุธหรือตรงกับวันเพ็ญเท่านั้น และต้องเป็นหญิงกะยันไม่ใช่ผสมกับเผ่าอื่น

หลายคนอาจจะคิดว่า ชาวเผ่านี้มีคอยาวกว่าคนปกติ แต่จริงๆ แล้วกระดูกคอเท่าเดิมแต่ถูกห่วงทองเหลืองไปกดกระดูกช่วงไหล่ให้ลู่ต่ำลงไป เลยดูคอยาวกว่าปกติ

นอกจากจะมีสินค้าจำหน่ายหลากหลายชนิด ยังมีมุมให้ทดสอบฝีมือการยิงหน้าไม้ การยิงหนังสติ๊กไม้  เราเองก็อดไม่ได้ที่จะอุดหนุนเขาเหมือนกัน

 

หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว(กะยัน) KAYAN บ้านห้วยปูแกง

จอดรถแล้วจะเห็นป้ายเล็กๆ ยืนยันการฉีดวัคซีน

คนละ 20 บาท ไป- กลับ

เรือยังเป็นเส้นทางสัญจรของคนที่นี่
 



การถักทอยังคงเป็นอาชีพดั้งเดิม
    

 

 

  

อีกหนึ่งชนเผ่าแยกด้วยเครื่องประดับที่ต่างหู

รุ่นเก๋า หูจะกว้างขึ้น
 

 

ที่แม่ฮ่องสอน มีหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวอีกแห่งหนึ่ง อยู่บ้านห้วยปูแกง สามารถขับรถจากตัวเมืองไปไม่ไกลเช่นกัน แต่ที่นี่เราต้องนั่งเรือข้ามลำน้ำไป ราคาคนละ 20 บาทไป-กลับ  มีชาวกะเหรี่ยงให้บริการเรือหางยาวข้ามฟาก เมื่อจอดรถเสร็จแค่มายืนรอที่ท่า เขาก็จะเข้ามารับเรา ที่นี่สำหรับใครที่เคยไปเดินเล่นที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว บ้านห้วยเสือเฒ่า จะเห็นว่า การจัดการรวมทั้งร้านค้าจะน้อยกว่า มีความเป็นเพียวไลฟ์มากกว่า ร้านรวงจึงน้อยกว่า แต่เราเชื่อว่า หากใครที่อยากเห็นวิถีชีวิตของชนชาวกะเหรี่ยงกะยัน บ้านห้วยปูแกงก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน

มินิมาร์ทชนเผ่า ร้านเดียวในหมู่บ้าน


นางแบบตัวน้อยที่ยิ้มแย้มใส่กล้องตลอดเวลา

สุดยอดความศรัทธา สะพานซูตองเป้





และสำหรับเมืองสามหมอก แหล่งที่ไม่ควรพลาด อีกแห่งคือ สุดยอดสะพานไม้ไผ่ยาวสุดในไทย สะพานแห่งศรัทธา สะพานอธิษฐานสำเร็จหรือสะพานซูตองเป้ ตั้งอยู่บ้านกุงไม้สัก อ.เมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร เช้านี้เรารีบตื่นแต่เช้าเพื่อมาสัมผัสกับเมืองสามหมอกในอีกมุมที่สำคัญ คำว่า ซูตองเป้ เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่าอธิษฐานขอความสำเร็จ









 

 

 

 

ท่านเจ้าอาวาส

หากบิณฑบาตไม่ทัน ก็นำมาถวายสังฆทานกับท่านเจ้าอาวาสแทน
 

 



มีความเชื่อว่า ถ้าเดินมาถึงกึ่งกลางระหว่างสะพานให้ตั้งจิตอธิษฐานขอพร แล้วเดินข้ามสะพานไปจะพบกับความสมหวัง เป็นสะพานที่สร้างจากความศรัทธา การร่วมแรงร่วมใจของพระภิกษุสงฆ์ ช่วยกันลงแรงกายและแรงใจ สานพื้นสะพานด้วยไม้ไผ่มีความยาวถึง 500 เมตร ผ่านที่นาของชาวบ้านเพื่อเชื่อมต่อระหว่างสวนธรรมภูสมะและหมู่บ้านกุงไม้สัก ให้พระภิกษุและชาวบ้านที่อยู่คนละฝั่งสามารถเดินข้ามไปมาระหว่างหมู่บ้านได้สะดวกยิ่งขึ้น

  





หลังจากสถานการณ์โควิด – 19 ทางวัดเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าสักการะหลวงพ่อพาราซูตองเป้ ร้านกาแฟเองก็เริ่มเปิดให้บริการ นอกจากนี้วัดภูสมณาราม สะพานซูตองเป้ ยังให้พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญ เททองหล่อองค์พระปฏิมาเจ้าพาราซูตองเป้หน้าตัก 108 นิ้ว และร่วมบวชเนกขัมมะ วันที่ 18-20 มกราคม บริจาคได้ที่บัญชี ธนาคารกรุงไทย 508-0-52672-6 ชื่อบัญชี หล่อพระหลวงพ่อซูตองเป้ โทร 065 5717512 ,095 6256968



นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี จะเต็มไปด้วยชาวบ้านจำนวนมากมาทำบุญตักบาตรเพื่อสร้างบุญสร้างกุศล มีการจัดตกแต่งด้วยตุงและธงสีหลากหลายสีสันอย่างงดงาม ปีนี้จะเป็นอย่างไรไม่แน่ใจนะคะ เพราะไม่น่าจะมีโอกาสร่วมเทศกาลปีใหม่ เพราะกลัวโควิดคะ

มีร้านกาแฟนั่งพักเหนื่อย










การเดินทาง ถ้าปักหมุดตามจีพีเอส บางครั้งก็จะพาคุณไปฝั่งชุมชนของชาวบ้านมีลานจอดรถ ซึ่งก็มีเสื้อผ้า กระเป๋าลายปักพื้นเมืองของชนเผ่า เครื่องประดับ ร้านกาแฟ รวมถึงร้านให้เช่าผ้าถุง ร่ม เอาไว้บริการ ซึ่งก็สามารถเดินสะพานไม้ไปสู่เนินสวนธรรมภูสมะได้ ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งคือจอดรถที่บริเวณลานด้านหน้าสวนธรรมภูสมะ ซึ่งอยู่บนเนินเขาสักการะหลวงพ่อพาราซูตองเป้ได้เลย แล้วค่อยเดินลงชื่นชมสะพานซูตองเป้ หากแต่ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากฝั่งใดมุมใด สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกถึงก็คือ ความจริงแท้ของที่มาของสะพานแห่งนี้

ร้านค้าบริเวณลานจอดรถ คนละฝั่งกับวัด


แม่ค้าทำเองมานานสิบกว่าปี ราคาถูกกว่าท้องตลาดเพราะเธอทำส่งเอง
 



พระธาตุดอยกองมู 

พระธาตุดอยกองมู เดิมชื่อ วัดปลายดอน ตั้งอยู่ที่ดอยกองมู อ.เมือง ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองเพียง 3 กิโลเมตร ถือเป็นวัดและพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองแม่ฮ่องสอนมาช้านาน อยู่ในหนึ่งจุดเช็คอินที่ใครไปเยือนแม่ฮ่องสอนต้องไม่พลาด เพราะนอกจากจะเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแล้ว ยังเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นภูมิประเทศและตัวเมืองแม่ฮ่องสอนชัดเจน





พระธาตุดอยกองมู ประกอบด้วย พระธาตุเจดีย์ ศิลปะไทใหญ่-พม่า จำนวน 2 องค์ จากตัวเมืองขับรถขึ้นไปบนพระธาตุ เป็นเขาระยะทางไม่ไกล มีลานจอดรถกว้างขวาง ก่อนถึงทางเข้าพระธาตุบริเวณลานจอดรถ มีร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกให้ได้ช็อปกันแบบราคาไม่แพง และสายมูทั้งหลายที่ชื่นชอบการเสี่ยงดวง ที่นี่มีร้านจำหน่ายล็อตเตอรี่จำนวนมาก เรียกว่าหาซื้อกันได้ตั้งแต่ลานจอดรถละเรื่อยไปจนถึงประตูทางเข้าพระธาตุกันเลยทีเดียว





การมาแวะสักการะของเราในวันนี้ ก็เพื่อจะบอกลาตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เช็คเอาท์กันออกจากโรงแรมบีทู พรีเมียร์ เพื่อไปพักยังบ้านพักของชาวบ้านด้านหน้า โครงการพระราชดำริปางตอง 2 ปางอุ๋ง



ปางอุ๋ง (โครงการพระราชดำริปางตอง 2)











ปางอุ๋ง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านรวมไทย  ตำบลหมอกจำแป๋ อำเภอเมือง จัจงหวัดแม่ฮ่องสอน ที่นี่เจ้าหน้าที่อุทยานจะตรวจโควิดอย่างเข้มข้นมาก ตั้งแต่ก่อนเข้าหมู่บ้าน รถยนต์ทุกคัน คนบนรถทุกคนต้องลงมาวัดอุณหภูมิและแสดงหลักฐานการฉีดโควิดไม่ต่ำกว่า 2 เข็ม ตรวจบัตรประชาชน ก่อนจะเข้าหมู่บ้านรวมไทยได้



ที่นี่ เราเลือกจองห้องพักกับบ้านพักลุงสร้อยเงิน เป็นบ้านโฮมสเตย์คุณลุงชาวบ้านในหมู่บ้านรวมไทย เพราะในวันรุ่งอยากจะเข้าไปที่อุทยานฯ กันตั้งแต่เช้า เพื่อสัมผัสกับหมอกสวยยามเช้า

ที่พักลุงสร้อยเงิน เป็นหนึ่งในที่พักด้านหน้าทางเข้า ปางอุ๋ง ซึ่งมีอยู่ไม่กี่เจ้า แต่ทุกเจ้าเป็นคนพื้นถิ่น ที่ปรับปรุงสถานที่ทำเป็นที่พัก สำหรับของลุงสร้อยเงินก็มีอยู่ไม่กี่หลัง เราเลือกที่นี่เพราะมีแบบห้องกว้างสำหรับการนอน 3-4 คนได้ในห้องเดียวกัน ด้านหน้ามีระเบียง นั่งเล่นพอเย็นๆ และถ้าใครต้องการทานหมูกระทะ ก็สามารถสั่งกับลุงได้ จะนั่งรวมกลุ่มหน้าห้องพักหรือจะนั่งที่ร้านริมถนนของแกเองก็ได้

ร้านหมูกะทะ ลอยฟ้าริมทางเข้าอุทยานฯปางอุ๋ง
 

 

ยามค่ำคืน ... เราเริ่มเดินเล่นกันริมทางเล็กๆ พบร้านอาหารริมทางน่ารักๆเหมือนกัน มีร้านหมูกระทะมีชั้นลอยให้นั่งชิลๆ ส่วนด้านล่างมีบาร์ให้นั่งกันเก๋ๆ

ร้านรวงริมทางก่อนเข้าอุทยานฯ
 





หนึ่งในอาหารเช้าจากบ้านลุงสร้อยเงิน
 



 

วัดเล็กๆด้านหน้าอุทยานฯ มีพระภิกษุนั่งรอผู้มีจิตศรัทธา


ชาวบ้านบอกว่า พระรูปอื่นที่เดินบิณฑบาต จะมาจากที่อื่น

ช่วงเย็นของปางอุ๋ง
.... อรุณรุ่งวันใหม่ เราตื่นขึ้นมาแต่เช้า เพื่อไปสัมผัสบรรยากาศกระไอหมอกที่งดงามกัน จากที่พักสามารถเดินไปได้เลยแค่ 300 เมตรก็ถึง ตรงนี้ผู้สนใจมาเที่ยวที่นี่ คงต้องตัดสินใจว่า หากต้องการนอนบ้านพักแบบชาวบ้านอาจไม่หรูหรา แต่ก็สามารถมาสัมผัสบรรยากาศได้ค่อนข้างสะดวก แต่ถ้าอยากพักห้องพักที่สะดวกสบายก็เลือกนอนในเมืองแล้วค่อยนั่งรถกันแต่เช้าหน่อยจร้า เพราะหากจะชมความงามของที่นี่ จะมีช่วงที่ไอหมอกบนผืนน้ำจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ หลังจากที่พระอาทิตย์เริ่มขึ้นเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะไม่มีให้เห็น อีกทั้งหากจะนั่งแพลำน้อย ต้องยืนคอยคิวกันอีก อาจจะไม่ทันเท่าไหร่



ก่อนเข้าสู่โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) แม้จะตรวจประวัติการฉีควัคซีนก่อนเข้าหมู่บ้านแล้ว ก็จะต้องแสดงให้เจ้าหน้าที่ก่อนเข้าอีกครั้งหนึ่ง สามารถนำรถไปจอดด้านหน้าทางเข้าได้ (ถ้าว่างนะคะ)

เสน่ห์ยามเช้าของปางอุ๋ง
“ปาง” หมายถึง ที่พักของคนที่ทำงานอยู่ในป่า ส่วนคำว่า “อุ๋ง” หมายถึงที่ลุ่มต่ำลักษณะเป็นแอ่งกระทะมีน้ำขัง สำหรับชื่อเต็มของ ปางอุ๋ง คือโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) เป็นโครงการเนื่องในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของราษฎรกลุ่มน้อยในบริเวณนี้ให้ดีขึ้น รวมถึงการร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติอีกด้วย

สามารถติดต่อสอบถามระเบียบข้อปฏิบัติการจองห้องพักและการพักค้างแรมด้วยเต็นท์ที่ศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร 053 61-1244 มือถือ 0856183303



 

แต่ที่อยากจะแนะนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง คือ การบริการเรื่องแพไผ่ลำน้อย ที่ให้ชาวบ้านพายบริการนั่งท่องเที่ยว มีการจัดระเบียบจำนวนแพได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดสรรชาวบ้านผลัดเปลี่ยนกันวันเว้นวันในการมาพายแพไผ่ เพื่อให้ทั่วถึงกัน

นักท่องเที่ยวรอลุ้นคิวด้านหน้าท่าแพลำน้อย

เสี่ยงกันเอาเองว่าคนพายจะเข้าท่าไหน
แต่ที่ไม่ปลื้มและมีปัญหาแน่นอน(เจอกับตัวเอง) คือเรื่องของการจัดคิว น่าจะมีการจัดการเรื่องคิวการลงแพให้มากกว่านี้ จุดจอดแพอยู่รวมกันราว 3-4  ท่า ที่ต่อขึ้นมาให้บริการ มีศาลาสำหรับนั่งคอย มีเสื้อชูชีพห้อยเอาไว้ 

แต่เอาเข้าจริงๆ นักท่องเที่ยวต้องไปยืนรอเข้าคิวบริเวณหน้าท่าเพื่อรอลงแพกันเอง นานแค่ไหนก็ต้องรักษาคิวกันเอง ที่สำคัญคือ การเข้ามาเทียบท่าของคนพายแพ ลุ้นเอาเองว่าจะเข้าท่าไหน ป๊าดดดดด เราเห็นน้องบางคนยืนมองตาปริบๆ เมื่อเห็นคนแพเข้าท่าตำแหน่งใกล้เคียง ขณะที่เขาเองยืนรออยู่ก่อนในอีกท่าหนึ่ง ทำเอาเสียอารมณ์ความงามไปเหมือนกัน 

อ้อ...และจะเห็นว่า ไม่มีการบังคับให้สวมชูชีพเลย มีเพียงห้อยโชว์เอาไว้เท่านั้น

ห่านนางแบบของปางอุ๋ง
 

หมู่บ้านรักไทย







 

ขาหมูหมั่นโถว มาแล้วต้องชิม

เมนูอร่อยๆ ที่ร้านอาหาร บ้านลีไวน์รักไทย
 

ถัดมาอีกแห่งที่ห้ามพลาด หมู่บ้านรักไทย  (แม่ออ) ตั้งอยู่ ตำบลหมอกจำแป่ ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 44 กิโลเมตร บ้านรักไทหรือบ้านแม่ออเป็นหมู่บ้านสุดท้ายก่อนถึงชายแดนไทย-พม่า คอนเฟิร์มจากการหลงเข้าไปเส้นทางที่ชาวบ้านบอกว่า ถ้าไปเส้นนี้คือออกชายแดนแล้วคะพี่

ด้วยเพราะช่วงเทศกาลโดยเฉพาะฤดูหนาวมาเยือน นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศจะขับเข้ามาเยือนกัน ทำให้การจัดการจราจรจึงจัดแบบวันเวย์ เข้าทางหนึ่ง ออกอีกทางหนึ่ง ออกไม่ถูกก็เข้าป่าไปเลยจร้า

จริงๆแล้วทางออกมีป้ายบอก แต่พอมาถึงทางแยก ซึ่งต้องลงเนินไปอีก ก็เลยทำให้เกิดความลังเล ไม่แน่ใจ แต่จริงๆ ทางออกจะมีลาน ซึ่งมีบ้านดินโบราณๆ อยู่รวมกันเป็นกระจุกให้ได้ท่องเที่ยวชิมชากัน





 

ร้านค้าลีไวน์

จะซื้อไวน์ติดไม้ติดมือกลับบ้านก็ต้องชิมกันก่อน
เรามารู้จักกันก่อน หมู่บ้านแห่งนี้เขาบอกว่าส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของจีนในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ ส่วนใหญ่จึงยังคงวิถีเดิม ๆ วิถีการกินชา การกินขาหมูหมั่นโถว การกินอาหารตามร้านอาหารตำรับจีนยูนนาน บ้านดินบางส่วนที่ยังคงทำจากดินเหนียวผสมฟางข้าวยังมีให้เห็น และดูจะเป็นเสน่ห์ที่ทำให้หลายคนมาเยือนสถานที่นี้กันอย่างไม่หยุดหย่อน

เมื่อก่อนหลายคนจะรู้จักกันว่า ลีไวน์รักไทย เป็นทั้งที่พักและร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกและร้านอาหาร ริมทะเลสาบนี้ แต่ปัจจุบันมี ชาสา รักไทย ที่กำลังมาแรงด้วยเพราะการปลูกสร้างใหม่ ตกแต่งสีสันได้จัดจ้านน่าสนใจ ทั้งด้านบนและด้านล่าง ด้านล่างเป็นร้านจำหน่ายของกินของใช้ ชั้นบนเป็นร้านอาหาร ขณะที่เลยขึ้นเนินเขาเป็นที่พักที่จองกันหลายเดือนทีเดียว ที่พักที่สร้างลดหลั่นตามเนินเขา ขณะที่แต่ละชั้นก็มีจุดแวะให้ถ่ายภาพกันด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม:ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 0 5361 2982-3
http://www.tourismthailand.org/maehongson

  

โรงแรมฟอร์จูน ดี พิษณุโลก  

แม้ครั้งแรกจะแพลนเอาไว้ว่าจะนอนที่ “ชาสา รักไทย” ก่อนกลับลงมาแวะพักที่พิษณุโลกและต่อไปยังกรุงเทพฯ แต่ด้วยมีเหตุจำเป็นบางประการงานด่วน เราจึงต้องลงมาจากหมู่บ้านรักไทย โดยไม่มีโอกาสได้เก็บบรรยากาศยามค่ำคืนและยามเช้ามาฝากกัน บอกเลยว่า เสียดายยยย



..  ช่วงสายของวันใหม่ เราจึงมุ่งหน้าออกจากแม่ฮ่องสอน โดยผ่านลงมาทางอ.ปาย เข้าเชียงใหม่ แต่ก็เกิดเหตุที่ว่า น้ำมันเหลือน้อยเต็มทีระหว่างทางลงจากแม่ฮ่องสอน... เอาไงดี เราถามถึงปั๊มน้ำมันกับพี่สาวคนหนึ่งในร้านอาหารริมทางที่พี่เขาก็แวะทานอาหารเช่นกัน ดูจากเกย์น้ำมันแล้วเหลือสำหรับระยะทาง 30 กิโลเท่านั้น ขณะที่พี่เขาบอกว่า ปั๊มน่าจะอยู่ที่ 20 กว่ากิโล เอาหล่ะ.... ลุ้นกันหน่อย แต่ก่อนจะสตาร์ทรถ พี่สาวคนเดิมยังเดินมาบอกว่า เอางี้ น้องขับนำหน้านะคะ เดี๋ยวพี่จะขับตามไป เพราะพี่จะไปทำธุระที่เชียงใหม่ เผื่อน้ำมันหมดก่อนจะได้ช่วยได้

... อืมม... ในความยากลำบาก น้ำใจคนไทยไม่เคยเหือดหายจริงๆ










 
 

สามทุ่มกว่า เราก็มาถึงพิษณุโลก เพื่อเข้าพักที่โรงแรมฟอร์จูนดี พิษณุโลก ที่นี่เป็นโรงแรมในเครือฟอร์จูน กรุ๊ป โรงแรมปรับปรุงใหม่ในปี 2563 ตั้งอยู่กลางเมืองสะดวกสบาย ต่อการเดินทางและแวะพักผ่อนเป็นอย่างมาก ดีไซน์เรียบง่ายแต่แฝงด้วยเรื่องราวสนุกเต็มพื้นที่ เหมาะสำหรับการเข้าพักแบบระยะสั้นและระยะยาว มีพื้นที่ Co Working Space ไว้ในที่เดียวกัน และที่สำคัญได้รับมาตรฐานปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA เรียบร้อย

ขนาดห้องพักเริ่มต้นกว้างถึง 32 ตารางเมตร สำหรับห้อง Superior และ 64 ตารางเมตร สำหรับห้อง Family Suite เครื่องนอนคุณภาพดี มีโต๊ะเอนกประสงค์ และระเบียงทุกห้อง

หากคุณอยากหาที่พักเล็กๆ สไตล์น่ารักๆ สะดวกสะอ้าน ที่นี่ ถือเป็นอีกแห่งที่น่าสนใจระหว่างการเดินทางเช่นกัน

.... การเดินทางจบทริปลงแล้ว แต่ความประทับใจและความทรงจำจะยังอยู่ ... แต่เชื่อเหอะ เราจะกลับมาอีกครั้ง ในหนาวหน้า และหนาวต่อๆไป เหมือนเช่นเคย เมืองสามหมอก ... แม่ฮ่องสอน