งานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 9

รมว.พม. เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2560 และการสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อการเข้าถึงของคนทั้งมวล” (Innovation towards Accessibility for All)

   



วันนี้ (26 ก.ค. 60) เวลา 13.30 น. นายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2560 และการสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อการเข้าถึงของคนทั้งมวล” (Innovation towards Accessibility for All) ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้บริหารกระทรวง พม. องค์กรด้านคนพิการ สถาบันการศึกษา องค์กรด้านคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 800 คน เข้าร่วมงาน ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างโอกาสเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ อันเป็นสิทธิพื้นฐาน และการพัฒนาประเทศในระยะยาว ภายใต้ “ประเทศไทย 4.0 ” เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาประเทศให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว จำเป็นต้องขับเคลื่อนประเทศด้วยฐานความรู้ การปฏิรูปการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคมฐานราก สร้างชุมชนสังคมเข้มแข็ง เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” ที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงบุคลากรทั้งในประเทศและระดับต่างประเทศ

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดสัมมนาฯ ในครั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2560 และการสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อการเข้าถึงของคนทั้งมวล” (Innovation towards Accessibility for All) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2560 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิชาการ งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของในยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของประเทศที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ และในจำนวนนั้นมีคนพิการอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอรูปแบบของการสร้างสังคมเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ให้ได้รับการอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตประจำวัน และการทำกิจกรรมร่วมกับทุกคนในสังคมอย่างมีความสุข

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนาฯ มีกิจกรรมประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นวัตกรรมเพื่อการเข้าถึงของคนทั้งมวล : ความท้าทาย สู่ยุคประเทศไทย 4.0” การอภิปรายเสวนา เรื่อง “ การเข้าถึงของคนพิการหูหนวกตาบอด สู่ข้อมูลข่าวสารและการอยู่ร่วมกันในสังคม” โดยได้รับเกียรติจาก Dr. Eugene A. Bourquin, Deaf-Blind Youths and Adults, USA และ Mr. Shin - ichiro Kadokawa, Service Center of the Deaf-Blind, JAPAN ผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ การนำเสนอผลงานวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผลงานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 30 เรื่อง การจัดนิทรรศการ และการประกวดนวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการนำเสนอผลงาน 

ภายใต้ 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1) การออกแบบสำหรับคนทั้งมวล 2) เทคโนโลยีเพื่อสุขภาวะ 3) ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ 4) นวัตกรรมทางสังคมกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต และ 5) นวัตกรรมทางการศึกษา และมีการมอบรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น จำนวน 22 รางวัล รวมทั้ง รางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรม ประเภทนักศึกษาและประชาชน จำนวน 4 ราย พร้อมตั๋วเครื่องบินไป–กลับประเทศญี่ปุ่น เพื่อแสดงผลงานร่วมในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง วิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ประจำปี 2560 (International Convention on Rehabilitative Engineering and Assistive Technology : i-CREATe 2017) ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2560 และการมอบธงเจ้าภาพกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในปี 2561

“ขอขอบคุณสถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านคนพิการในวันนี้ ที่ได้มีความร่วมมือทางวิชาการ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมถึงการขับเคลื่อนผลงานวิชาการ งานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และการออกแบบเพื่อทุกคน ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และกระจายโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ ทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมอย่างเต็มภาคภูมิต่อไป” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย