สธ.เผยผลเฝ้าระวังยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ของประเทศไทย  ไม่พบการตกค้างในเนื้อไก่และเนื้อวัว แต่พบเกินเกณฑ์มาตรฐานในเนื้อหมูเพียงร้อยละ 1 ของตัวอย่างทั้งหมด ซึ่งเป็นเนื้อหมู ที่ไม่ทราบแหล่งผลิต 

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อการบริโภคขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นนอกจากเทคโนโลยีต่างๆ ที่ผู้ผลิตนำมาใช้ในกระบวนการเลี้ยงสัตว์แล้ว ยังมีการใช้ยาและสารเคมีต่างๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต เพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด ยากลุ่มหนึ่งซึ่งมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวาง 

ได้แก่ยาต้านจุลชีพ (antimicrobial) ซึ่งหมายรวมถึงยาปฏิชีวนะ (antibiotics) โดยยาต้านจุลชีพที่ใช้ในสัตว์ส่วนใหญ่เป็นยากลุ่มเดียวกับที่ใช้ในคน ดังนั้นการใช้ยาดังกล่าวอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่สมเหตุผล จึงส่งผลกระทบทั้งต่อตัวสัตว์ ผู้เลี้ยง ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบสูงทั่วโลกคือ ปัญหาเชื้อดื้อยาที่เป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุข ซึ่งสร้างความเสียหายมหาศาลทั้งในเชิงสุขภาพอนามัย และเศรษฐกิจของประเทศ

ในปี 2559 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มตรวจยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ทั่วประเทศ จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ เบต้า-แลคแตม, แมคโครไลด์, ควิโนโลน และซัลโฟนาไมด์ รวม 39 ชนิดตัวยา  ในเนื้อไก่ 39 ตัวอย่าง เนื้อหมู 42 ตัวอย่าง และเนื้อวัว 24 ตัวอย่าง รวมทั้งหมด 105 ตัวอย่าง 

โดยสุ่มเก็บจากตลาดค้าส่งและตลาดสดขนาดใหญ่ของ 12 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี ระยอง สงขลา ตรัง นครปฐม ราชบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ จำนวน 60 ตัวอย่าง และเนื้อสัตว์ที่มีตราสัญลักษณ์สินค้าที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือแหล่งจำหน่ายโดยตรงของผู้ผลิต จำนวน 45 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบการตกค้าง ของยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อไก่และเนื้อวัวทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบการตกค้างของยาต้านจุลชีพเกินมาตรฐานเพียง 1 ตัวอย่าง ในเนื้อหมู คือ พบซัลฟาไดมิดีน (sulfadimidine) ซึ่งพบในตัวอย่างที่ไม่พบแหล่งผลิต

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 303 พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง กำหนดให้ยาชนิดนี้มีปริมาณตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit หรือ ค่า MRL) ไม่เกิน 100 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ยาซัลฟาไดมิดีน เป็นยาใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โรคเท้าเปื่อย โรคบิด และโรคคอตีบในสัตว์

   

นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า การสำรวจปริมาณการตกค้างของยาต้านจุลชีพในเนื้อสัตว์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินสถานการณ์แนวโน้มการตกค้างของยาต้านจุลชีพในเนื้อสัตว์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวอย่างที่ตรวจพบการตกค้างของยาต้านจุลชีพเกินเกณฑ์กฎหมายกำหนด เป็นตัวอย่างที่ไม่พบแหล่งผลิต เนื่องจากเนื้อสัตว์ที่มีแหล่งผลิตที่ตรวจสอบได้มีระบบการควบคุมความปลอดภัยที่ดีกว่าเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา 

ซึ่งปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาระดับโลกและช่องทางหนึ่งของการได้รับเชื้อดื้อยา คือ จากการบริโภค ซึ่งในปัจจุบันภาครัฐมีมาตรการและระบบรับรองหลากหลายรูปแบบทั้งมาตรฐานเขียงสะอาดหรือเนื้อสัตว์อนามัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่ามีการควบคุมความปลอดภัยในเรื่องดังกล่าว สำหรับผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์ ที่ทราบแหล่งผลิตชัดเจนหรือได้รับป้ายสัญลักษณ์รับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้