พลังอาสาสมัคร กศน. ครูพันธุ์ใหม่ สู่การศึกษาตลอดชีวิต

บทความพิเศษโดย ดร. กมล รอดคล้าย


ครู กศน. เปรียบเสมือนครูพันธุ์ใหม่คนกศน. ทุกคน ทุกตำแหน่ง มุ่งมั่นเข้มแข็งพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิต ทำงาน 24 ชั่วโมง ฝังตัวในชุมชน พร้อมเผชิญปัญหาและขจัดความไม่รู้หนังสือและความยากจนให้กับประชาชนในทุกรูปแบบ คน กศน.มีส่วนสำคัญในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้( Learning Society)ให้กับประเทศ และผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมาสู่สังคมอย่างมากมาย ภายใต้ข้อจำกัดเเละความขาดแคลนของทรัพยากร


วันนี้ กศน. เปิดโฉมหน้าใหม่ของการพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการแต่งตั้งอาสาสมัคร กศน.ขึ้นในระดับพื้นที่ทุกจังหวัด โดยจะมีอาสาสมัครกศน.ทุกตำบลทั่วประเทศ ชุดแรกตำบลละ 3 คนรวมทั้งสิ้นกว่า 22,000 คน ซึ่งได้มีการจัดประชุมอบรมกลุ่มเเกนนำไปเเล้ว ทั้ง 77 จังหวัด เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ณ เมืองทองธานี โดยกลุ่มเเกนนำเหล่านี้จะได้ไปร่วมคัดเลือกอาสาสมัครในระดับพื้นที่ และจัดอบรมพัฒนาขยายเครือข่ายในลำดับต่อไป


หน้าที่สำคัญของอาสาสมัคร กศน. คือ 1) เป็นผู้สำรวจและจัดทำข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่อยู่นอกระบบโรงเรียนในชุมชนหรือหมู่บ้าน 2)เป็นผู้ให้คำแนะนำด้านการศึกษาและการเรียนรู้ แนะนำกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะกับแต่ละบุคคล ชุมชน หรือหมู่บ้าน 3) เป็นผู้ช่วยเหลือครู กศน. ตำบลในการจัดกิจกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ ทั้งใน กศน.ตำบลและในพื้นที่อื่นๆ 4)
เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนและร่วมจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้อยู่นอกระบบการศึกษาของชุมชน หรือหมู่บ้าน 5) สลับหมุนเวียนในการปฏิบัติงานที่ กศน. ตำบล เช่น จัดทำศูนย์ข้อมูลข่าวสารของหมู่บ้าน จัดทำศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำศูนย์ดิจิตัลชุมชน 

6) เป็นผู้นำในการจัดทำแผนชุมชน โดยเป็นผู้นำให้ประชาชนในชุมชนได้ศึกษาชุมชนของตนเอง และวางแผนการใช้ทรัพยากรชุมชน 7) เป็นแกนนำของชุมชนหรือหมู่บ้าน ในการเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ของชุมชน 8) ดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการศึกษาของประชาชน ในชุมชนหรือหมู่บ้าน โดยเป็นแกนนำในการประสานงานกับกลุ่มผู้นำชุมชนและองค์กรบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลต่างๆ 


อาสาสมัคร กศน.ถือเป็นมิติใหม่ของการวางระบบในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ โดยการดึงเอาเครือข่ายผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีความปรารถนาดีต่อระบบการศึกษา ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ เทียบเคียงได้กับอาสาสมัครของหน่วยงานอื่น อาทิ อสม. , อพปร. , คลังสมอง , วุฒิอาสา หรืออาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ประจำตำบลของหน่วยงานอื่นๆ หากแต่มิติในการทำงานมุ่งเน้นไปที่สนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษาเป็นสำคัญ 

ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อมีอาสาสมัคร กศน.ขุมพลังจากอาสาสมัครซึ่งเข้ามาร่วมกิจกรรมโดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ ดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาตลอดชีวิตของประเทศให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ สามารถน้อมนำพระบรมราโชบาย โครงการพระราชดำริ มาสู่การปฏิบัติ มีการปฏิบัติงานขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่ตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ช่วยดูแลผู้เรียนตั้งแต่เยาว์วัย ผู้ตกหล่นหรือหลุดจากระบบ แรงงานที่ขาดคุณวุฒิ รวมทั้งกลุ่มผู้สูงวัย ผู้พิการยากไร้ ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าของท้องถิ่น และสร้างเสริมนวัตกรรมต่างๆให้กับชุมชนร่วมพัฒนาห้องสมุดประชาชน ร่วมพัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพ แหล่งเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ รวมทั้งส่งเสริมชุมชนให้สามารถใช้ทรัพยากรของพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

เครือข่ายอาสาสมัคร กำลังถูกจัดตั้งขึ้น ภายใต้ระเบียบการจัดตั้งอาสาสมัคร กศน. พร้อมเตรียมการจัดตั้งเครือข่ายการทำงานผ่านกลุ่ม Line Official จัดให้มีการพัฒนา Web Site เพื่อการเชื่อมโยงเเลกเปลี่ยนข่าวสาร องค์ความรู้และพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน นี่จึงเป็นก้าวใหม่อีกก้าวหนึ่งของระบบการศึกษาไทย ที่จะทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้