กรมควบคุมโรค ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายเตรียมพร้อมด้านการรายงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลตาม กฎอนามัยระหว่างประเทศ 2005

กรมควบคุมโรค พร้อมเครือข่ายหลากหลายภาคส่วนกว่า 50 คน ร่วมอบรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการรายงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2005 โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนติดต่อระหว่างประเทศที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคเป็นพิเศษ แม้ประเทศไทยจะได้อันดับ 5 ของโลก ตามดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก แต่ยังคงเร่งพัฒนาการป้องกัน ควบคุมโรค และตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินให้รวดเร็ว ทันเวลา และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ (11 มีนาคม 2565) นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วมพิธีปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะขีดความสามารถหลักด้านรายงานการแลกเปลี่ยนข้อมูลตาม  กฎอนามัยระหว่างประเทศ 2005 และมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรม พร้อมด้วย Dr.Barbara Knust ผู้แทนจากศูนย์ความร่วมมือ ไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และสัตวแพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงาน  ความร่วมมือระหว่างประเทศ 

โดยมีเครือข่าย อาทิ สำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน  สำนักงานป้องกันควบคุมโรค  กรมปศุสัตว์  กรมยุทธการทหาร  กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ   มูลนิธิรักษ์ไทย  มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย  และองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ศูนย์ความร่วมมือ ไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมพูลแมน พัทยา จี จังหวัดชลบุรี



 

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า การพัฒนาด้านแลกเปลี่ยนข้อมูลตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2005 เป็นกิจกรรมที่สำคัญในการเพิ่มและเร่งการตรวจจับ และตอบโต้โรคและภัยสุขภาพของประเทศ โดยการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไม่เพียงแต่ภาคสาธารณสุขเท่านั้น จะสามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการประเมินผลการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2005 ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ถึงแม้ประเทศไทยจะได้รับคะแนนด้านการตรวจจับโรคและรายงานโรคที่รวดเร็วเป็นอันดับ 1 และได้อันดับ 5 ของโลกตามดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกองการประเมินจากทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่ยังจำเป็นต้องพัฒนาให้ถึงขั้นสูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนของประเทศที่มีปัญหาหลากหลายและจำเป็นต้องได้รับ       ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

 

 

 

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการถอดบทเรียนจากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้ในการลดความเสี่ยงให้กับประชาชน จากโรคระบาดและภัยสุขภาพที่เกิดขึ้น ทั้งภายในและภายนอกประเทศ และร่วมทำกิจกรรมการซ้อมแผนรับมือภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้บุคลากรหลากหลายภาคส่วนเข้าใจบทบาทเเละตอบโต้ต่อสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว เป็นการยกระดับความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล การรายงานโรคระหว่างพื้นที่ชายแดนไม่เฉพาะโรคโควิด 19 เท่านั้น แต่รวมถึงโรคติดต่ออันตรายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต