เวทีเสวนาระดับชาติ “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” วันที่สองประชาชนแห่ร่วมงานล้นหลาม

กรุงเทพฯ – 20 พฤษภาคม 2565 – คณะผู้จัดงานฯ ปลื้ม! วันนี้มีประชาชนและผู้สนใจทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดินทางมาร่วมงานเสวนา “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” เวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่สองอย่างคับคั่ง ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน โดยคาดว่ามีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานและชมไลฟ์สดกว่าสองหมื่นคน 



หลังจากมีรายงานข่าวงานเสวนาฯ ออกไปเมื่อวานนี้ ปรากฏว่า วันนี้มีกระแสการตอบรับที่ดีเยี่ยม ในนามคณะผู้จัดงานฯ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีประชาชน ผู้สนใจ ตลอดจนบริษัทและหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้าร่วมงานเสวนา Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ในวันที่สองอย่างมากมาย โดยงานสัมมนาวันนี้เต็มทุกที่นั่ง พร้อมทั้งมีผู้สนใจหมุนเวียนกันเข้าชมนิทรรศการในบูธต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และคาดว่า จะมีประชาชนที่สนใจร่วมงานและชมไลฟ์สดร่วมผ่านช่องทางยูทูบ  BetterThailand2022 รวมกว่าสองหมื่นคนตลอดสองวัน (19-20 พ.ค.)

ภายในงานมีวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางของประเทศทั้ง 35 ท่านทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ เอกชน และ Startup มาแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยของเราให้ดีกว่าร่วมกัน ภายใต้โมเดลธุรกิจ BCG กว่า 30 หน่วยงานและบริษัทที่มาร่วมจัดนิทรรศการและให้ความรู้

งานเสวนาระดับชาติBetter Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” จัดโดยความร่วมมือของ สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าเศรษฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย ร่วมกับ BRANDi and Companies และหลักสูตร Innovative Engineering for Sustainability ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2565 สำหรับผู้สนใจสามารถดูไลฟ์สดเสวนาในเวทีหลักตลอดวันนี้ หรือดูย้อนหลังทางช่องทางยูทูบ BetterThailand2022

โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "สังคมยุคใหม่ กฎหมายทันสมัย ระบบราชการทันโลก แก้คอรัปชั่นทันที" แสดงทรรศนะทางด้านประเด็นสังคมว่า การบริหารจัดการประเทศและสังคมในปัจจุบันกำลังเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทุกเรื่องต้องใช้เวลา แต่เราเดินไปข้างหน้าแน่นอน



โดยนายวิษณุ กล่าวชูผลงาน 4 ขึ้น 1 ลง "รัฐบาลพยายามทำให้กฎหมายดีขึ้นเพื่อเป็นผลดีต่อประชาชน สิ่งที่พยายามทำคือ ต้องการเห็น 4 ขึ้น 1 ลง คือต้องการเห็นทุกสิ่งทุกอย่างรวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น เข้าท่ากว่าเดิมยิ่งขึ้น แต่ต้อง 1 ลง คือ ต้องการเห็นการให้บริการของรัฐใช้ต้นทุนงบประมาณของรัฐให้น้อยลงกว่าเดิม

เช่นเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การติดต่อราชการประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลงกว่าเดิม ถ้าทำได้ประเทศไทยจะดีขึ้น ประเทศไทยย่อมจะดีกว่านี้แน่นอน ถ้ากฎหมายดีระบบราชการดีไม่มีคอรัปชั่น เราก้าวทันโลกนี้อย่างแน่นอน"

ปัญหาที่ผ่านมา เพราะกฎหมายล้าสมัย ระบบราชการเช้าชามเย็นชาม คอร์รัปชั่นมีมาก  เรื่องนี้ต้องเริ่มว่า กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ สภาพของระบบราชการ หรือการทำงานของบุคลากรนั้น อยู่กันเช่นนี้ ด้านกฎหมาย ล้าสมัย บางฉบับออกมาตั้งแต่ครั้ง รัชกาลที่ 5 กฎหมายเหล่านั้นยังใช้อยู่ ออกกฎหมายไม่ทันสถานการณ์

 ระบบราชการ เช้าชามเย็นชาม ล้าสมัย สร้างภาระ ไม่เป็นมิตรกับประชาชน สิ่งที่พบคือ การติดต่อขออนุญาตสิ่งใดกับราชการไป 6 เดือน 1 ปี ก็ไม่มีคำตอบ ผ่านไป 2 ปีถึงจะตอบปฏิเสธว่าหลักฐานไม่ครบ เพราะไม่มีกฎหมายใดบังคับให้รีบตอบ หรือ บางครั้งเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจ ว่าใครได้รับการอนุญาตหรือไม่ได้

ทั้งหมดนำมาสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น เราเคยรู้สึกว่ามันมีมาก กฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง กลไกการตรวจสอบมีน้อย หรือไม่มีเลย คำว่า ใต้โต๊ะ คำว่ารีดไถ คำว่าอมเงินทอน จึงเป็นคำที่ระบาดอยู่ทั่วไป "และนี่คือสภาพของระบบราชการ ณ กาลครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้"

นายวิษณุกล่าวว่า ครั้งหนึ่งมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ และมาวันนี้รัฐได้ปรับปรุงแก้ไขไปมากแล้ว และจะทำให้มันมากยิ่งขึ้นต่อไป และนี่คือคำตอบ เราจะต้องใช้มาตรการ 3 ประการร่วมกัน มาตรการการบริหาร มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางกฎหมาย

นอกจากนี้วันนี้เรามีกระบวนการปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แก้กฎหมาย กระบวนการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น นายกฯยังสั่งการด้วยว่า ให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วน เผื่อต้องแก้กฎหมายเร่งด่วน เป็น Fast Track เป็นทางด่วน ไม่ต้องต่อคิวกฎหมายฉบับอื่น จะได้เข้าสภาเร็วขึ้น

 นายวิษณุ กล่าวต่อว่า เพื่อจะทำให้ทุกอย่างสะดวก รวดเร็ว ต่อไปนี้คือกฎหมายที่ออกมาแล้วหรือกำลังจะออก และเป็นกฎหมายที่ประชาชนรอคอยมาหลายปีแล้ว แต่ออกมาไม่ได้สักที

 พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ พ.ศ. 2558 มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขออนุญาตกับทางภาครัฐ

การขออนุญาตต้องระบุว่าใช้เวลาเท่าใดจึงจะตอบกลับ หากครบกำหนดแล้วยังไม่ได้รับคำตอบ จะโดนเอาผิด หรือถ้ายังไม่เสร็จต้องออกหนังสือแจ้งประชาชนก่อน ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด



 พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 2563 อนุญาตให้การประชุมของราชการ รวมถึง ครม. ก็ทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้

ร่าง พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ บัญญัติว่า การที่ประชาชนไปติดต่อกับราชการไม่ว่าเรื่องอะไร เดิมทีต้องเอาตัวเองไป นั่งรถไป ไปต่อคิว ไปยื่นบัตร ถึงจะติดต่อราชการได้ สิ่งนี้กำลังเป็นอดีต เพราะร่างกฎหมายนี้ ที่อยู่ในสภา กำหนดให้ติดต่อราชการได้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอป LINE ก็ได้ เว็บไซต์ก็ได้ ไม่ต้องไปปรากฏตัวแล้ว

 ที่สำคัญคือ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้ประชาชนต้องมาปรากฎตัวติดต่อด้วยตนเอง ยกเว้นบางเรื่องเช่น จดทะเบียนสมรส หย่า การทำหนังสือเดินทาง และอื่นๆ ที่มียกเว้นไว้

 ร่าง พ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ท่านไปแจ้งความตำรวจ ที่ผ่านมาใช้เวลาเท่าใด กว่าจะถึงอัยการ ฟ้องศาลต้องรอนานเท่าใด ส่งเรื่องไป ป.ป.ช. ใช้เวลากี่ปีถึงจะตัดสินออกมา

 ร่างกฎหมายนี้กำหนดเวลาในการทำงานของแต่ละหน่วยงานแต่ละกระบวนการยุติธรรมไว้ ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในแต่ละเรื่อง นี่คือกฎหมายที่จะทำให้การดำรงชีวิต ติดต่อราชการ และทำมาหากิน สะดวกขึ้น



นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้เริ่มนำร่องใช้ไปแล้วหลายเรื่อง ถ้านำมาใช้ก็จะโปร่งใส เกิดรัฐบาลดิจิทัล ทุกการขออนุมัติจะเร็วขึ้น การนำ e-service มาใช้ในระบบราชการ จะตรวจสอบได้ ลดการโกง ทุกวันนี้นำมาทดลองใช้แล้ว 350 บริการ ที่ ครม.มีมติบังคับแล้ว 12 บริการ ปีหน้าก็จะมากขึ้นอีก

ในแง่การลดโกง บัดนี้ในสมัยรัฐบาลนี้ มีการออกกฎหมายเหล่านี้มาแก้ปัญหาให้ประชาชน เช่น พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ให้จัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการทั่วประเทศในแต่ละแบบ หากฝ่าฝืนจะมีความผิด แม้แต่นักการเมือง นายกรัฐมนตรี ส.ส. ก็ต้องอยู่ใต้มาตรฐานทางจริยธรรม

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ปกติคนทำผิด ถกปรับเป็นเงิน คนที่ถูกปรับจะต้องโทษอาญา มีประวัติอาชญากรรมติดตัว และถ้าไม่มีเงินต้องถูกกักขัง คนที่มีเงินเวลาถูกปรับจึงไม่เดือดร้อน แต่คนจนเดือดร้อนและถูกขังคุกเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ไม่เป็นธรรม กฎหมายนี้จึงกำหนดว่ากฎหมายใดมีโทษปรับ

ศาลสามารถเปลี่ยนโทษปรับเป็นพินัยได้ แปลว่า ไม่มีโทษปรับ ไม่มีประวัติอาชญากรรม ไม่ถูกกักขัง ศาลอาจลดเงินค่าปรับลง เปลี่ยนการลงโทษเป็นบริการสาธารณะได้

ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับแก้ไข เดิมใครไม่มีเงินเรียน ไปกู้กยศ. มีคนค้ำประกัน เช่น ครู เมื่อไม่จ่ายหนี้ ครูก็เดือดร้อน ร่างนี้แก้ไข ให้สามารถกู้ได้ แต่ห้ามเอาครูมาค้ำประกัน ต้องเป็นญาติเท่านั้น

ด้านกฎหมาย มีการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนเป็นสำคัญ นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน ฉะนั้นมีกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ประชาชน คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะเริ่มใช้ 1 มิถุนายนนี้ กำหนดให้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเป็นความลับ เปิดเผยไม่ได้เว้นแต่เจ้าตัวจะอนุญาต ใครเปิดเผยมีความผิด

พ.ร.บ.ในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2565 ประชาชนเสนอข้อบัญญัติของจังหวัดหรือตำบลได้

พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 รวมตัวกันเกิน 1 หมื่นคน ก็ยื่นกฎหมายได้ ไม่ต้องรอ ส.ส.

พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ถ้าเรื่องใดรัฐอยากฟังคนทั้งประเทศ สามารถจัดทำประชามติในเรื่องนั้นได้

ที่สำคัญคือ กฎหมายอีกฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อถอดถอน สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อเลือกผู้บริหารไปแล้วไม่รักษาสัญญาที่หาเสียงเอาไว้ หรือทำไม่ดี สมัยก่อน ทำอะไรไม่ได้จนหมดวาระ หรือไปฟ้องร้อง

แต่ร่างนี้ให้รวมตัวกันเข้าชื่อถอดถอนออกได้ กึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิ ตั้งข้อหาแจ้งคณะกรรมการที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้นมาได้ ให้ไต่สวน หากผิดจริง จะเสนอ รัฐมนตรีเพื่อถอดถอน และเลือกตั้งใหม่

ทั้งหมดนี้ คือคำตอบสิ่งที่ท่านถามว่าทำอย่างไรให้กฎหมายดีขึ้น ระบบราชการดีขึ้น การทุจริตน้อยลง รัฐบาลพยายามทำเช่นนี้ ซึ่งยังต้องทำอีกเยอะ และยังต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนอีกมาก เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นผล เป็น Better Thailand


ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการสัมมนา"Better Thailand ถามมาตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม" ในหัวข้อ คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ดูแลทุกวัย ยกระดับสวัสดิการ" โดยกล่าวถึงอนาคตของระบบบริการสาธารณสุขไทยว่าการระบาดโควิดทำให้ประชาชนไทยตระหนักในเรื่องสาธารณสุข ด้านสุขอนามัยเข้มข้นและทำให้เวลาประเทศไทยไปเสนอตัวขอดึงฮับด้านสุขภาพต่าง ๆ มาไว้ในประเทศก็ได้รับการรับรอง

เนื่องจากเรามีครบทั้ง 3 หลัก คือ ด้านการป้องกัน ด้านการสืบค้นหาโรค และด้านการตอบสนองในการดูแลรักษา การมีศูนย์สุขภาพก้าวหน้าด้านต่าง ๆ เข้ามาตั้งอยู่ในประเทศไทย จะช่วยเสริมให้นานาชาติมั่นใจประเทศไทยว่า เวลาเข้ามาในประเทศหากมีปัญหาด้านสุขภาพใด ๆ ขึ้น ก็สบายใจได้ ว่าจะได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานระดับสากล





"สิ่งใดที่โควิดเอาไปต่อจากนี้ไปต้องมองว่าเป็นการลงทุน เป็น Capital Expenditure ที่ต้องให้กลับคืนมาให้มากที่สุด ทำให้สุขภาพของประชาชนไทยดีขึ้น ระบบสาธารณสุขของประเทศเข้มแข็ง และเสริมความเชื่อมั่นนานาชาติให้สูงขึ้น" 



นายอนุทิน กล่าวต่อว่า จากนี้ไปกระทรวงสาธารณสุขจะมุ่งใช้บริการสาธารณสุข เป็น Health for Wealth เพราะเมื่อมีบริการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ผู้คนสุขภาพดีจะสามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต สุขภาพดี เศรษฐกิจดี สังคมดี และเมื่อไทยสามารถสร้างปัจจัยด้านสุขอนามัยได้คุณภาพและครบถ้วน ผู้คนจะกล้ามาเที่ยวมาลงทุนในประเทศ โดยรัฐบาลได้อนุมัติแผนยกระดับภูเก็ตเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับสูง (Medical  Hub) ไปแล้ว และต้องมีศูนย์สุขภาพผู้สูงวัย ศูนย์สุขภาพเฉพาะทางอื่น ๆ อย่างครบถ้วน

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมเสวนาในหัวข้อ "คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ดูแลทุกวัย ยกระดับสวัสดิการ" โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐบนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ 

นายจุติ กล่าวว่า รัฐบาลทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งกระทรวง พม. ทำงานเพียงหน่วยงานเดียวย่อมไม่สำเร็จ เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ เพื่อให้ได้ผลสำเร็จ จากสถานการณ์โควิด - 19 จะเห็นเป็นตัวอย่าง โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะรักษาชีวิตของคนไทย และป้องกันไม่ให้คนไทยเจ็บป่วย ซึ่งสิ่งที่เห็นคือ นอกจากความร่วมมือของประชาชนแล้ว ทุกกระทรวงได้ร่วมมือช่วยกันทำงาน และเราโชคดีที่มีฐานการแพทย์ที่เข้มแข็งและครอบคลุมทั่วถึง เพื่อที่ดูแลคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้ง อสม. คอยดูแลประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ประชาชนคือสิ่งสำคัญที่สุด ทุกกระทรวงจึงมีการบูรณาการที่ดี ซึ่งเกิดจากการดำเนินงานของรัฐบาล

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ได้จัดบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service สำหรับคนพิการ เนื่องจากทราบว่ามีปัญหามาก โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยทำบัตรประจำตัวคนพิการ ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมาก กระทรวง พม. จึงได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการดูแลเด็กที่มีปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยที่ไม่พร้อม รวมไปถึงกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน ในการช่วยกันดูแลและหางานทำ เพื่อให้เด็กมีอนาคตต่อไป ซึ่งเด็กเหล่านี้ต้องได้รับคำแนะนำ เพราะยังไม่มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต หากเราไม่ได้บูรณการร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้


นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวง พม. ได้ดำเนินโครงการบ้านเคหะสุขประชา สำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นบ้านเช่าราคาถูก เริ่มต้น 999 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นค่าเช่าที่ต่ำกว่าท้องตลาด 40 เปอร์เซ็นต์ โดยมีแนวคิดที่เปลี่ยนจากการทำกำไรเชิงพาณิชย์เป็นกำไรเชิงสังคม ส่วนความมั่นคงด้านอาชีพ กระทรวง พม. ได้สร้างอาชีพใหม่หลังโควิด - 19 อาทิ อาชีพเชฟอาหารไทยและบัตเลอร์ (Butler) ซึ่งเป็นอาชีพที่สามารถต้อนรับชาวต่างประเทศได้



หลังจากนั้นนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำทีมผู้บริหารภาครัฐและเอกชนร่วมเสวนาในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ" เผยถึงการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในทุกภาคส่วน การหาโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อลดโลกร้อน เพิ่มพลังงานสะอาด เยียวยาระบบนิเวศ โดยมีเป้าหมายในการทำให้เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเติบโตร่วมกันได้ และบรรลุเป้าหมายในการทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และพร้อมส่งมอบสิ่งแวดล้อมคุณภาพดีให้คนรุ่นต่อไป