ติด COVID -19 เสี่ยงเป็นเบาหวานตามมา 

ผู้ที่ติดเชื้อ COVID -19 มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานทั้งในช่วงติดเชื้อและหลังรักษาหายแล้วได้ โดยการเกิดเบาหวานหลังการติดเชื้อสามารถเกิดได้ทั้งคนที่ได้รับเชื้อในปริมาณมากและปริมาณน้อย ทั้งคนที่สุขภาพแข็งแรงก็มีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากัน 

Tired overworked young beautiful caucasian woman wearing medical mask standing against white wall, has sleepy expression, gloomy look, covers face with hand, has eyes shut, gasps from tiredness.

พญ. รัตนพรรณ สมิทธารักษ์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ และเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า เมื่อติดเชื้อ COVID-19 แล้วมีโอกาสสูงถึง 1.4 เท่า ที่จะทำให้เกิดโรคเบาหวานตามมาได้ โดยเบาหวานจาก COVID-19 เกิดจากการติดเชื้อจนทำให้เกิดการอักเสบในหลายระบบและส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หากน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจะส่งผลให้ตัวโรคแย่ลง ถ้าไม่สามารถคุมได้จะทำให้เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น จนทำให้สมองทำงานผิดปกติ แสดงความรู้สึกได้ลดลงจนเกิดอาการซึม และเชื้ออาจทำลายตับอ่อนจนทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เป็นปกติ ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ 

โดยในฝั่งยุโรปโอกาสเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็กเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และกว่าครึ่งจะเข้ารับการรักษาด้วยภาวะเลือดเป็นกรด มาด้วยอาการปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง คอแห้ง หายใจเร็ว มีอาการหอบ เหนื่อย ในกรณีที่เกิดจากการรักษา คือ คนไข้ติดเชื้อรุนแรงจนต้องมีการให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ จนอาจทำให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ใหญ่ได้ชั่วคราว เมื่อหยุด สเตียรอยด์แล้วเบาหวานก็จะดีขึ้น  



นอกจากนี้เบาหวานยังสามารถเกิดหลังจากรักษาหายแล้ว 1- 3 เดือนได้ ด้วยการโดนกระตุ้นจากการติดเชื้อที่ผ่านมา โดยสามารถเกิดได้ทั้งคนที่มีการติดเชื้ออย่างหนักและคนที่ติดเชื้อไม่มากได้ จะเรียกว่า โรคแทรกซ้อนจากภาวะ Long COVID โดยไม่นับคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว แต่จากคนไข้ 40 – 50 เปอร์เซ็นต์ สามารถหายได้เองในช่วงระยะเวลา 1 ปีหลังจากการรักษา ในคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วเกิดการติดเชื้อ COVID – 19 ความรุนแรงของโรคจะมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน และตัวโรคเองก็จะคุมได้ยากขึ้น ความรุนแรงของคนที่เป็นเบาหวานแล้วติดเชื้อ COVID – 19 จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อที่ได้รับ 

โดยจะสัมพันธ์กันทั้ง 2 ฝ่าย คือ COVID-19 ทำให้เบาหวานแย่ลง หรือ เบาหวานทำให้อาการจาก COVID -19 แย่ลงได้เช่นเดียวกัน รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานเฉียบพลันได้ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะซึมจากน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น และทำให้ความซับซ้อนของเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งยาบางตัวที่ใช้รักษาอาจจะใช้ไม่ได้ในช่วงที่มีการติดเชื้อ COVID-19 ต้องคอยปรับยาและการรักษาอยู่เรื่อย ๆ  

แนวทางการรักษาเมื่อเกิดเบาหวานจากการติดเชื้อ COVID -19 ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน โดยในคนที่มีความเสี่ยงสูงคือ อายุ 60 -65 ปีขึ้นไป มีภาวะน้ำหนักเกินคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ ความดันสูง ไขมันสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ควรตรวจเพื่อหาเบาหวานแต่เนิ่น ๆ ถ้ามีอาการปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง ดื่มน้ำมากกว่าปกติ หรือ ในคนที่ประวัติการรับเชื้อ COVID -19 แบบรุนแรง หลังจากรักษาหายแล้ว ควรเข้ารับการตรวจเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้การดูแลตัวเอง ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้โอกาสเสี่ยงในการเกิดเบาหวานลดลงได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ รพ.กรุงเทพ โทร.02-755-1129-30  หรือ แอดไลน์ https://bit.ly/3juXi4i