กรมศิลปากร จัดนิทรรศการ“แม่ในนวนิยายไทย” เทิดพระเกียรติ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

กรมศิลปากร โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ขอเชิญชมนิทรรศการ เรื่อง “แม่ในนวนิยายไทย” เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕  ณ ห้องวชิรญาณ  ๒ – ๓ อาคาร ๒ ชั้น ๑ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ



นวนิยายไทยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ เนื่องด้วยได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกและกลุ่มบุคคลที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ มีการนํารูปแบบการเขียนนวนิยายในต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่ ระยะแรกจึงเป็นนวนิยายแปลและดัดแปลงจากนวนิยายต่างประเทศ เนื้อหาแนวอาชญากรรม สืบสวน ผจญภัย เรื่องเกี่ยวกับชีวิต ความรัก และอิงประวัติศาสตร์ โดยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ นวนิยายแปลเป็นภาษาไทยเรื่องแรก คือ ความพยาบาท แปลโดย แม่วัน (พระยาสุรินทราชา) จากนั้นนวนิยายจึงแพร่หลายมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน

นิทรรศการ เรื่อง “แม่ในนวนิยายไทย” นำเสนอความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของนวนิยายไทยและถ่ายทอดบทบาทของความเป็นแม่ในนวนิยายเรื่องต่างๆ เนื้อหานิทรรศการแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ ๑ “๙๐ พรรษา แม่ของแผ่นดิน”  เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ส่วนที่ ๒ “วิวัฒน์ นวนิยายไทย” นำเสนอประวัติความเป็นมาของนวนิยายเล่มแรกของไทย จัดแสดงหนังสือนวนิยายไทยที่จัดพิมพ์ในรัชสมัยต่าง ๆ



 

 

 

 
ส่วนที่ ๓ “บทบาทของความเป็นแม่ในนวนิยายไทย” นำเสนอนวนิยายเรื่องต่าง ๆ กว่า ๕๐ เรื่อง พร้อมทั้งเนื้อเรื่องย่อ รวมทั้งนวนิยายไทยที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ กว่า ๒๐ เรื่อง ส่วนที่ ๔ “จากนวนิยายสู่บทโทรทัศน์” นำเสนอบทละครโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทของแม่ที่สร้างจาก นวนิยาย เช่น ทองเนื้อเก้า คู่กรรม สี่แผ่นดิน ส่วนที่ ๕ “เกร็ดความรู้จากนวนิยาย” นำข้อมูลที่ปรากฏในนวนิยาย เช่น สถานที่ วัฒนธรรม ประเพณี มาอธิบายเพิ่มเติมเป็นการให้ความรู้แก่ผู้เข้าชม เช่น สถานีรถไฟบางกอกน้อย จากนวนิยายเรื่อง “คู่กรรม” ทุ่งวัวแล่น จากนวนิยาย “แผ่นดินของเรา” ตลาด ๑๐๐ ปีชุมแสง จากนวนิยาย “กรงกรรม”

 ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการ เรื่อง “แม่ในนวนิยายไทย” ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕  จันทร์ - ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. เสาร์ - อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. (หยุดวันนักขัตฤกษ์) ณ  ห้องวชิรญาณ  ๒ – ๓ อาคาร ๒ ชั้น ๑ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ