กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเผย ครึ่งปีแรกส่งออกไทยไปซีไอเอส-รัสเซียเพิ่ม 55%

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก ถึงแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคชาวรัสเซียในการรับประทานอาหารปี 2559 ว่า ผู้บริโภครัสเซียหันมาพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันยังมีความใส่ใจในสุขภาพ โดยบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล เกลือ และสารสังเคราะห์ปรุงแต่งน้อยลง

“ผู้บริโภครัสเซียพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปร้อยละ 28 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 ในปีก่อนหน้า เนื่องจากสะดวก ประหยัดเวลา และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนทำงาน อีกทั้งความตระหนักด้านสุขภาพมีผลกับอุปนิสัยการรับประทานของชาวรัสเซียที่เปลี่ยนไป ผลการสํารวจของรัสเซียในปี 2559 ระบุว่า ร้อยละ 27 ของผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อยหรือปราศจากน้ำตาล (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22 ในปีก่อนหน้า) ร้อยละ 17 ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือน้อยหรือปราศจากเกลือ (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ในปีก่อนหน้า) และร้อยละ 57  ต้องการอาหารที่มีส่วนผสมสารสังเคราะห์น้อยหรือไม่มีเลย (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49 ในปีก่อนหน้า)” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว

นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก กล่าวเพิ่มเติมว่า หากสามารถรับค่าใช้จ่ายได้ ผู้บริโภครัสเซียจํานวนมากเลือกออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่เนื่องจากทุกวันนี้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น ทําให้มีโอกาสรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง จากการสํารวจโดยนิตยสารโฮเรก้า (Horeca) ร้อยละ 46 ของชาวรัสเซียนิยมร้านอาหารลักษณะให้บริการชา กาแฟ ของว่าง และอาหาร (Coffee & Tea Rooms) ร้อยละ 43 นิยมร้านอาหารประเภทสั่งซื้อเพื่อนํากลับไปรับประทาน ร้อยละ 29 นิยมภัตตาคารแบบดั้งเดิม (Full Service) ร้อยละ 26 นิยมร้านอาหารจานด่วน (Fast Food) และร้อยละ 24 นิยมร้านพิซซ่า ทั้งนี้การเลือกร้านอาหารขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคามากที่สุด รองลงมาได้แก่ ปัจจัยด้านทำเล รสชาติอาหาร การให้บริการ รวมถึงการทดลองร้านอาหารเปิดใหม่ตามที่ได้รับการแนะนำ

ผู้เชี่ยวชาญของวงการร้านอาหารรัสเซียให้ความเห็นว่า การให้บริการจัดส่งอาหารไปยังบ้านพักหรือที่ทํางานมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะชีวิตคนทํางานในเมืองที่ต้องรับประทานอาหารกลางวันอย่างเร่งด่วน ซึ่งบริการจัดส่งนี้ตอบโจทย์เรื่องประหยัดเวลาได้มาก ส่วนการสั่งซื้อเพื่อนํากลับไปรับประทานที่บ้านก็เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลคล้ายกัน

สำหรับมูลค่าการค้าไทย-รัสเซียและกลุ่มซีไอเอส การส่งออกครึ่ง

ปีแรก (มกราคม – มิถุนายน 2560) มีมูลค่า 528 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 55.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ขณะที่การนำเข้ามูลค่า 1,374 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.64 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น