Google จัดทำ Doodle ร่วมฉลองครบรอบ 55 ปีโรงละครแห่งชาติ
Google ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 55 ปี โรงละครแห่งชาติ ด้วยการจัดทำ Doodle พิเศษที่คนไทยทั้งประเทศจะได้เห็นกันเมื่อเข้าไปใน Google Search ในวันที่ 23 ธันวาคม ศกนี้ เพื่อเป็นการยกย่องและระลึกถึงโรงละครแห่งแรกของประเทศไทย เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อจิตใจและเป็นที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมระดับชาติ และนานาชาติ ทั้งยังเป็นสถานที่ที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยอีกด้วย โรงละครแห่งชาติได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2508 นับเป็นส่วนราชการอยู่ในบังคับบัญชาของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีฐานะเป็นกลุ่มงาน มีการบริหารงานแบบไม่หวังผลกำไร ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักการสังคีต ปัจจุบัน โรงละครแห่งชาติ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 แห่ง อยู่ในส่วนกลาง 1 แห่ง ที่กรุงเทพมหานคร และอยู่ในส่วนภูมิภาค 2 แห่ง ได้แก่ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จ.สุพรรณบุรี และโรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา Google Doodle สำหรับวันที่ 23 ธันวาคม 2563 โรงละครแห่งชาติในวันที่เปิด 23 ธันวาคม พ.ศ. 2508 จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โรงละครแห่งชาตินอกจากจะเป็นสถานที่จัดงานแสดงนาฏศิลปไทยต่างๆ แล้วยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญได้ส่งเสริมในการเชิดชูงานด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยที่สำคัญ ณ โรงละครแห่งชาติแห่งนี้ ซึ่งปกติจะทำการแสดงในวันเสาร์และอาทิตย์ ที่มีทั้งการบรรเลง ละคร และโขน และสิ่งที่คอยจรรโลงให้โรงละครแห่งชาตินี้ได้ดำรงอยู่ได้ถึงวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการให้ความสำคัญ ความเทิดทูนในความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมไทย และการอนุรักษ์จากกลุ่มคนเหล่านี้ อาทิ ศิลปิน นักประพันธ์ นักแสดง ผู้กำกับ นักดนตรี ฯลฯ ซึ่งแต่ละท่านได้มาร่วมแสดงความยินดีพร้อมกับความประทับใจต่อโรงละครแห่งชาติในวาระครบรอบ 55 ปี ดังนี้ นายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร กล่าวว่า “ผมรู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย โรงละครแห่งชาติเปรียบเสมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและสวยงามมาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นโรงละครต้นแบบทั้งจากไทยและต่างชาติ เป็นเวทีสำหรับการแสดงนาฏศิลป์ที่โดดเด่นจากกรมศิลปากร และยังแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่ไม่ด้อยไปกว่านานาอารยประเทศ ซึ่งจะเห็นได้จากที่โรงละครแห่งชาติมักจะถูกเนรมิตให้เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี ในวาระครบรอบ 55 ปีนี้ ผมยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมให้โรงละครแห่งชาติของเราเป็นสถานที่เชิดชูชาติ เป็นศูนย์รวมของศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างมีศักยภาพ และผมหวังว่าโรงละครแห่งชาติจะได้มีโอกาสต้อนรับผู้ที่มีความสนใจ รวมทั้งเยาวชนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้ด้านศิลปศึกษา ที่ผมเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเข้ามาเรียนรู้ของพวกเขาจะต้องได้เรียนรู้ถึงศาสตร์แห่งศิลป์ การแสดง รวมทั้งเทคนิคต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ซึ่งผมมั่นใจว่าพวกเขาจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน และเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีนี้ ทำให้การแสดงได้ถูกยกเลิกไปชั่วคราว แต่ในส่วนของปีหน้านั้นจะยังคงมีกิจกรรมการแสดงอย่างแน่นอนแต่อาจจะเป็นช่วงๆ ไป เพื่อให้แฟน ๆ ของโรงละครแห่งชาติคลายความคิดถึงและมีความสุขในการรับชมเช่นเดิมครับ” นายกัญจนปกรณ์ แสดงหาญ หรือ “ครูแป๊ะ” คีตศิลปินอาวุโส ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มดุริยางค์ไทยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร กล่าวว่า “ผมมีความรักและสนใจด้านศิลปะการแสดงแบบไทยทุกแขนงมาตั้งแต่ครั้งที่เรียนระดับประถมศึกษา มีความสุขที่มีโอกาสได้ทำงานในสิ่งที่รักจากศาสตร์การแสดงที่ได้ร่ำเรียนมาตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน ได้ถวายงานสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิดเกือบทุกพระองค์ และมีความภูมิใจทุกครั้งที่ได้มีโอกาสขึ้นเวทีโรงละครแห่งชาติที่ถือว่าเป็นเวทีอันทรงเกียรติของประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นงานแสดง โขน ละคร ร้องเพลงไทย ขับเสภา ลูกทุ่ง ลูกกรุง ลิเก รวมทั้งเป็นวิทยากรเกี่ยวกับงานงานศิลปะวัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผมมีอาจารย์ เสรี หวังในธรรม เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจมาโดยตลอด ในวาระครบรอบ 55 ปีของโรงละครแห่งชาติปีนี้ ผมอยากฝากถึงเยาวชนที่กำลังก้าวสู่วงการบันเทิงไทยแบบนี้ให้ศึกษาหาความรู้ให้ถ่องแท้ รู้จักคำว่าการอนุรักษ์ การพัฒนา การสร้างสรรค์ ที่สามารถทำควบคู่กันไป เพราะนั่นคืออัตลักษณ์แห่งชาติของเราที่ไม่มีที่ไหนในโลกนี้จะทำได้เหมือนเราแล้ว” ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร เจ้าของรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาคีตศิลป์ ในปี พ.ศ. 2551 อาจารย์ประจำวิชาความรู้ด้านการประพันธ์ดนตรีตะวันตกตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา และนักประพันธ์ กล่าวว่า “ผมมีความผูกพันกับโรงละครแห่งชาติตั้งแต่สมัยยังเด็กและช่วงเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สมัยตอนเด็กผมได้มีโอกาสไปดูการแสดงที่โรงเรียนพาไปดูทั้งคอนเสิร์ต ดนตรีคลาสสิค ดนตรีไทย โขน วงออร์เคสตราของกรมศิลปากร และวงต่างประเทศ ที่สมัยนั้นโรงละครแห่งชาติที่เป็นสถานที่เดียวที่แสดงดนตรีสดได้จริง และหลังจากกลับมาจากเรียนต่างประเทศก็เห็นว่าเรามีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยแล้ว ซึ่งเพลงส่วนมากมักจะถูกแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แต่ก็ยังมีเพลงบางส่วนที่มีการแสดงที่โรงละครแห่งชาติเช่นกัน ผมภาคภูมิใจที่ประเทศเรามีโรงละครแห่งชาติที่ได้มาตรฐานโลกแห่งแรก เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความขลัง สถาปัตยกรรมสวยงาม นอกจากจะเป็นที่บ่มเพาะศิลปินแล้วยังเป็นสถานที่สร้างศิลปินแห่งชาติอีกหลายแขนงเช่นกัน ผมอยากฝากไว้ว่าโรงละครแห่งชาติเป็นเอกลักษณ์ของประเทศที่ไม่ใช่เป็นเพียงโรงละครแต่เปรียบเสมือนกับ โอเปร่าเฮ้าส์ เมืองซิดนีย์, Esplanade สิงคโปร์, หรือรอยัลอัลเบิร์ตฮอลล์ ลอนดอน ที่คนทั่วโลกรู้จักไม่ใช่แค่เพียงเป็นสถาปัตยกรรม แต่เป็นสถานที่วงระดับโลกเข้าไปแสดง ผมอยากให้โรงละครของเราเป็น สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ที่เปิดกว้างให้มีการแสดงทั้งจากไทยและต่างชาติ รวมถึง หลังโควิด-19 หากเราเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว ผมอยากให้พวกเขาเข้าเยี่ยมชม ดูการแสดง หรือไปถ่ายรูป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยอนุรักษ์มรดกและศิลปะวัฒนธรรมแห่งชาติของเราไว้ได้อย่างยั่งยืน” กิ่ง เหมือนแพร พานะบุตร หรือ กิ่ง The Star 5 แชมป์ The Mask จักรราศี นักร้อง นักแสดง และครูสอนร้องเพลง กล่าวว่า “กิ่งเลือกเรียนคณะดุริยางคศาสตร์ สาขาวิชาดนตรีแจ๊ส เอก Voice Jazz มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกๆ ของคณะดนตรี แรงบันดาลใจของกิ่งคือเพื่อนๆ ในวง (วงดนตรีตอนมัธยม) ที่ผลักดันให้กิ่งกล้าที่จะเริ่มต้นเส้นทางดนตรี และพวกเราก็สอบติดคณะดุยางคศาสตร์กันทั้งวงด้วยค่ะ โดยอาชีพในปัจจุบัน กิ่งได้นำทักษะและความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ได้ทั้งหมดและตรงจุดที่สุด และสามารถนำมาต่อยอดในสายอาชีพด้วย ทั้งงานร้องเพลง จัดรายการวิทยุ รวมทั้งบทบาทของครูสอนร้องเพลง และถึงแม้ว่ากิ่งยังไม่มีโอกาสได้ไปแสดงที่โรงละครแห่งชาติ แต่กิ่งก็มองเห็นความสำคัญและเห็นว่าโรงละครแห่งชาติถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และทรงคุณค่ากับคนดนตรีทุกคน รวมถึงการแสดงทุกแขนง กิ่งอยากให้ทั้งคนรุ่นใหม่หรือผู้ที่สนใจได้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ออกมาและได้มีโอกาสแสดงผลงานในสถานที่อันทรงคุณค่านี้ต่อไป อยากเห็นโรงละครแห่งชาติอยู่คู่กับทุกการแสดงศิลปะทุกแขนงต่อไปค่ะ” นาว ทิสานาฏ ศรศึก นักแสดง และนางแบบ กล่าวว่า “สมัยเด็ก ๆ นาวเรียนไม่เก่งและไม่ชอบอะไรที่เป็นวิชาการแต่พอเป็นวิชาที่มีการปฏิบัติ เช่น วิทยาศาสตร์ พละ หรือนาฏศิลป์ ก็จะรู้สึกสนุกกับสิ่งเหล่านี้มากกว่า และยังได้เรียนพิเศษนาฏศิลป์ในช่วงปิดเทอม ในที่สุดจึงตัดสินใจเลือกเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และหลังจบการศึกษานาวได้เริ่มเข้าสู่วงการนักแสดง และนางแบบ และได้นำสายวิชาที่เรียนมาช่วยสนับสนุนการทำงานได้เป็นอย่างดี โดยมองว่าในตอนเรียนนาฏศิลป์จะมีการตีบทออกมาเป็นท่ารำต่างๆ บวกกับทำนองเพลง และพอมาเล่นละครก็ดึงเอาสิ่งเหล่านั้นมาผสมผสานทำให้การแสดงมันมีชีวิตเพิ่มขึ้น โดยส่วนตัวนั้นนาวเคยได้เข้าร่วมพิธีไหว้ครู และใช้โรงละครแห่งชาติเป็นที่แสดงช่วงจบการศึกษา ทำให้เกิดความประทับใจและเป็นสถานที่ที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ นาวเห็นว่าการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยนั้นมีความสำคัญ และในวาระครบรอบ 55 ปี ของโรงละครแห่งชาติในปีนี้ นาวขอให้โรงละครแห่งชาติเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และอยู่เคียง และเชิดชูความเจริญแห่งอารยธรรมด้านศิลปะการแสดงสืบต่อไป”