Update Newsสกู๊ปพิเศษ

Local Experience @ สกลนคร

ไปทริปชิลๆ กันอีกครั้ง กับกิจกรรม Shop and Share : Local Experience “ช็อป ชิม ชิลล์ ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง” @ สกลนคร ที่จัดโดยความร่วมมือของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลฯและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จัดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการช้อปปิ้งโดยนำผู้ใช้บัตรเดอะวันการ์ดที่โชคดีได้รับการแลนด้อมมาเพื่อเที่ยวฟรี ช้อปฟรี กินฟรี กับบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่นในดินแดนแถบอีสาน จังหวัดสกลนคร

สกลนคร หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองหนองหาน” เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เป็นแหล่งชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องจวบจนปัจจุบัน ถือเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญที่หลากหลาย ทั้งทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และยังอยูในกลุ่มจังหวัดสนุก ซึ่งได้แก่ สกลนคร นครพนมและมุกดาหาร

ครั้งนี้คณะของเราเดินทางด้วยสายการบินนกแอร์ตั้งแต่เช้ามืด กว่าสามสิบชีวิตพร้อม ไม่นานนักเจ้านักยักษ์ก็พาเรามาเหยียบดินแดนหนองหาน( บางข้อมูลเขียนตัว ร.เรือ บางแห่งเขียน น.หนู)  โดยสถานที่แรกที่จะแวะเยี่ยมเยียนกันคือพิพิธภัณฑ์ “บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้” แหล่งเรียนรู้กระบวนการทอผ้าไหมบ้านหนองแข้ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ

พวงมาลัยเรียงร้อยเป็นวงอย่างตั้งใจ ถูกบรรจงคล้องคอให้กับผู้มาเยือน แค่มาถึงก็รับรู้ได้ถึงความอบอุ่นของชาวบ้านหนองแข้ ทำเอาคณะยิ้มกันแก้มปริ

   

หลังจาก นางพวงเพ็ญ กลั่นวารี ผอ.กองประสานการลงทุน ฝ่ายลงทุนธุรกิจท่องเที่ยว ททท.และป้าบัวสี ขันทีท้าว ประธานกลุ่มทอผ้าไหม ผู้ใหญ่บ้านหนองแข้ แนะนำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เราจึงเริ่มเดินเข้าเยี่ยมชมบ้านไม้สองชั้น ที่ถูกนำมาปรับแต่งเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต  โดยมี “คุณโจ” สุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ์ ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ และเจ้าของกระเป๋าผ้าไทย Jo’s Bag พาเยี่ยมชม

   

ป้าวาสเมือง ปาระคะ ประธานเครือข่ายกลุ่มทอผาไหม เล่าให้ฟังว่า “เดิมชาวบ้านหนองแข้มีการทอผ้าไหม เพื่อสวมใส่ตามประสาชาวบ้านมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า จนปี 2518 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาที่โรงเรียนร่มเกล้า อำเภอโคกศรีสุพรรณ  จังหวัดสกลนคร พระองค์ท่านได้ทรงทอดพระเนตรเห็นผ้าไหมที่ป้าไท้กับป้าทุ้มสวมใส่มารับเสด็จพระองค์ท่านด้วยความจงรักภักดี พระองค์ทรงสนพระทัยและตรัสถามป้าไท้และป้าทุ้ม




“ผ้าไหมสวยดี ที่บ้านมีอีกไหม อยากให้ทอไว้มากๆ เดี๋ยวจะไปซื้อ” ทำให้ป้าไท้-ป้าทุ้ม ปลื้มใจมากที่พระองค์ท่านทรงเมตตาทักทายชาวบ้านที่ยากจน ต่อมาปี 2521 สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จมาที่บ้านป้าไท้ด้วยพระองค์เองเวลา 18.00 น. สมัยนั้นบ้านหนองแข้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงจุดตะเกียงและจุดเทียนเพื่อให้แสงสว่าง พระองค์ทรงนั่งและขอชมผ้าไหมป้าไท้- ป้าทุ้ม อย่างเป็นกันเอง โดยไม่ถือพระองค์

ชาวบ้านที่รู้ข่าวก็มารับเสด็จที่หน้าบ้านป้าไท้ด้วยความปลื้มอกปลื้มใจ ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวว่าเหมือนฝัน ตื่นเช้ามาก็ยังนั่งคุยกันว่า เป็นไปได้อย่างไร พระองค์ท่านบอกให้ชาวบ้านทอผ้าไหมมากๆ พระองค์ท่านจะรับซื้อทั้งหมด”

ป้าวาสเมือง เล่าด้วยน้ำตาคลอเบ้า ว่า “ปี 2523 และ 2525 พระองค์ท่านได้เสด็จมาติดตามการทอผ้าและรับซื้อผ้าไหมอีกสองครั้ง แต่ละครั้งชาวบ้านปลาบปลื้มใจในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น บรรยายไม่ถูกจริงๆ”

   

ปี 2535 บ้านหนองแข้ ได้ประชุมกันจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้น โดยมีสมาชิกจำนวน 60 คน ต่อมาตั้งเป็นเครือข่าย 11 หมู่บ้านในอำเภอโกศรีสุพรรณ ปัจจุบนมีสมาชิกจำนวน 580 คน ได้ทอผ้าไหมส่งพระตำหนักภูพานในนามเครือข่ายกลุ่มทอผ้า ผ้าไหมวัดดอย

   

   

   

กิจกรรมของพิพธภัณฑ์บ้านป้าไท้- ป้าทุ้ม นอกจากทอผ้าไหมแล้ว ยังเป็นกลุ่มต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งตนเองปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม อาชีพหลักคือการทำนา ซึ่งการทอผ้าไหม มีผลิตภัณฑ์ดอกไม้จากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งทำจากรังไหม เพื่อจำหน่ายเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่มาเยี่ยมชม

“กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองแข้ เป็นกลุ่มอาชีพที่ชาวบ้านภาคภูมิใจ รักหวงแหนอาชีพทอผ้าไหมนี้เป็นอย่างมาก เราตั้งปณิธานเอาไว้ว่าจะสานต่ออาชีพนี้ให้คงไว้ตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยการดำเนินงานของกลุ่มจะทำงานแบบครอบครัวเดียวกัน คือการให้ความรัก ความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และที่สำคัญชาวบ้านหนองแข้ทุกคนต่างสำนึกในพระเมตตาจากองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงติดตามผลการดำเนินงานของสาชิกกลุ่มทอผ้าไหมเสมอมา” ป้าวาสเมืองกล่าว
 “คุณโจ” สุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ์ เล่าถึงพิพิธภัณฑ์ว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ร่วมกับชุมชนบ้านหนองแข้ จ.สกลนคร จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ บ้านป้าทุ้ม – ป้าไท้ เพื่อสืบทอดความภาคภูมิใจและความทรงจำอันงดงามให้คงอยู่เป็นสมบัติของลูกหลาน โดยนำบ้าน ป้าทุ้ม – ป้าไท้ ราษฏรที่เคยรับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับปรุงและนำผลิตภัณฑ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จเยี่ยมราษฏรบ้านหนงอแข้ พร้อมทั้งทรงฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพันธ์พื้นเมืองของไทยและการทอผ้าลายไทย โดยทรงรับราษฏรบ้านหนองแข้เป็นสมาชิกศิลปาชีพ เพื่อให้มีรายได้เสริมจากการทอผ้าและอนุรักษ์ลวดลายผ้าไทย

นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เคยเสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านหนองแข้เป็นการส่วนพระองค์ถึง 3 ครั้ง ในปี 2521 ,2523 ,2525 เพื่อพระราชทานกำลังใจในการทอผ้าไหม และประทับอยู่ที่ชานเรือนเป็นเวลานานจนค่ำมืด ทรงไต่ถามเรื่องความเป็นอยู่และพระราชทานฉลองพระองค์คลุมไหมมัดหมี่สีม่วงแก่นางไท้ เพื่อใช้เป็นแบบในการทอผ้า

   

   

ภายหลังนางไท้ได้เชิญฉลองพระองค์นั้นไว้บนหิ้งและบูชาด้วยดอกไม้มหาหงส์ ตามประเพณีของชาวอีสาน และเคยได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพือสืบทอดความภาคภูมิใจนี้ มูลนิธิจึงได้ร่วมกับชาวบ้านเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์บ้าน “ป้าทุ้ม- ป้าไท้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งความรู้เรื่องกระบวนการทอผ้า ตั้งแต่การเลี้ยงไหม ไปจนถึงการทอผ้าไหม โดยจะเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. สอบถามได้ที่ 083 562 2354



หลังทานมื้อกลางวันฝีมือชาวบ้านหนองแข้ ที่เตรียมเสริฟคณะของเราด้วย อาหารพื้นบ้าน ทั้งส้มตำ ไก่ย่าง และ… อิ่มแปล้ ฝีมือชาวสกลนครแท้ๆ

   



พิพิธภัณฑ์ภูพาน

จากนั้น เราก็ไปต่อกันที่พิพิธภัณฑ์ภูพาน  ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร บริเวณติดริมทะเลสาบหนองหาร (ฝั่งหลังโรงเรียนเชิงชุมราษฎร์นุกูล) เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม ของชาวจังหวัดสกลนคร ดินแดนแห่งธรรม ประกอบด้วย 4 ธรรม ได้แก่ ธรรมะ อารยธรรม วัฒนธรรม ธรรมชาติ

   

   

   

พิพิธภัณฑ์ภูพานจัดแสดงโซนต่างๆ ทั้งหมด 9 โซน ได้แก่ ห้องโหมโรง ,นิทรรศการ “มหัศจรรย์ภูพาน”, ป่าบุ่งป่าทาม ป่าพรุอีสาน, หนองหารกับการตั้งเมืองสกลนคร, ห้องคนสกลนคร, อาศิรวาทองค์ราชัน องค์ราชินี, นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ, ดินแดนแห่งธรรม, และประติมากรรมลานกลางแจ้ง

   







   



   

หลังจากนั้นจึงได้เข้าสักการะ มูลนิธิหลวงปู่มั่น อีกด้วย

   

   

พิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00 น.ถึงเวลา 17.00 น.ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ( หยุดวันจันทร์ ) โทร 08-4513-242

แล้ววันแรกของการเยือนสกลนครก็จบลงด้วย ที่พักน่ารักที่วางน้องหมีต้อนรับเราอย่าง @ sakon

   

______________________________________________________________

วัดถ้ำผาแด่น



รุ่งอรุณวันใหม่ คณะออกกันแต่เช้า

“วันนี้เราเดินทางกันเช้าหน่อยจะได้ไม่ร้อนค่ะ” ทีมงานบอกกับคณะของเรา ที่มีแพลนเดินทางขึ้นไปยังวัดถ้ำผาแด่น
 วัดถ้ำผาแด่น  ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน บ้านดงน้อย ตำบลดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 17 กม.  เป็นอีกหนึ่งในสถานที่ที่เมื่อมาเยือนเมืองสกลนครแล้ว ไม่ควรพลาด เป็นที่ที่สวยงามด้วยผลงานการแกะสลักบนหน้าผาหิน ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและงดงามด้วยเรื่องราวทางพุทธประวัติ

วัดถ้ำผาแด่น

เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในจังหวัดสกลนคร มีความเป็นมานับร้อยปี สภาพแวดล้อมเหมาะแก่การจำศีลบำเพ็ญภาวนา ในอดีตมีพระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนาหลายองค์มาจำพรรษาปฏิบัติธรรม อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

   

ปี 2550 พระอาจารย์ปกรณ์ กนฺตวีโร เจ้าอาวาสคนปัจจุบัน ได้เข้ามาพัฒนาวัด ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมะ เพื่อดึงประชาชนและกลุ่มวัยรุ่นให้เข้าวัดมากขึ้น วัดตั้งอยู่บนภูเขาสูง มีการจัดพื้นที่ให้สามารถชมทิวทัศน์และถ่ายรูป 

นักท่องเที่ยวที่เดินทางมา ต้องจอดรถบริเวณลานจอดรถด้านล่าง และขึ้นรถสองแถวต่อขึ้นไปยังบนวัด โดยจะมีกล่องรับบริจาคค่ารถตั้งอยู่

เมื่อเข้าสู่ภายในวัด มีการแกะสลักหินรูปปั้นหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ แกะจากหินขนาดใหญ่ทั้งก้อนมีช้างหมอบด้านข้างและมีงูใหญ่คอยปกป้องเป็นองค์ประธานให้ประชาชนได้สักการะ ภาพแกะสลักพระพุทธรูปประจำวันเกิด ปางต่างๆ มีศาลายาใจ คนบุญ ที่นำเอาต้นไม้ขนาดใหญ่หายากอายุหลายร้อยปี มาทำเป็นเสาศาลาเป็นการอนุรักษ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ดูอีกด้วย

นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมแกะสลักหินทรายขนาดใหญ่ ที่แกะสลักเรื่องราวมากมาย รวมถึงภาพแกะสลักหินทรายพระพุทธสีหไสยาสน์ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 19 เมตร เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาของผู้มาเยือน ประดิษฐาน ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น เป็นจุดเด่นของวัดถ้ำผาแด่น ภาพแกะสลักเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ด้านหลังเป็นภาพพระอริยสงฆ์รูปต่างๆ ของประเทศไทย

   

   



   

เจ้าอาวาส ชี้ให้เราได้เห็นถึง ภาพแกะสลักด้านข้าง พญาครุฑเวสสุวรรณ สื่อถึงความอยากได้อำนาจ เงินตราของมนุษย์อย่างไม่สิ้นสุด

ด้านบนเป็นที่ตั้งของหินสีทองที่สามารถมองเห็นมาแต่ไกล เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ตามคติในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา คือภูเขาที่เป็นหลักของโลก ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล พร้อมแกะสลักหิน สื่อถึงรูปต่างๆ เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ นับแต่สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน ไปถึงมนุษย์นาค ครุฑ ยักษ์มาร และเทวดา โดยมีปลาอานนท์หนุนอยู่ รอบๆ เขาพระสุเมรุ



ภาพแกะสลักรอยพระพุทธบาท 4 รอยจำลอง สื่อให้พุทธศาสนิกชนตระหนักในคำสอนของพระพุทธเจ้า และหินก้อนที่อยู่ด้านล่างสุด เป็นภาพแกะสลักหิน 4 มหาเทพ หรือเรียกว่าหินเทพ  สื่อถึงการมีอำนาจอิทธิฤทธิ์ แต่ยังไม่หลุดพ้นวัฏสงสาร





หากจะเดินทางไปวัดถ้ำผาแด่นด้วยตัวเอง สามารถใช้เส้นทางสกลนคร – กาฬสินธุ์ ผ่านสี่แยกบายพาส ถึงไทวัสดุ ให้ชะลอรถ จะมี 3 แยกที่บ้านศรีวิชา มีป้าย บอกไปวัดถ้ำผาแด่น และ ไปอำเภอเต่างอย เลี้ยวซ้ายตรงไปอีก 10 กม.ถึงบ้านดงน้อย มีป้ายบอกว่าไปถ้ำผาแด่น เลี้ยวขวาเข้าไปตาม ทางเข้าหมู่บ้านไปอีก 3 กม . เป็นขึ้นภูเขา ถนนสะดวกสบาย เป็นทางลาดยางจนถึงวัด

……และแล้วก็ได้เวลาอาหารกลางวัน ด้วยร้านครัวลำดวน ร้านอาหารพื้นเมืองที่ได้รับเลือกจากห้องเครื่อง พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ให้ปรุงเมนูขึ้นโต๊ะเสวย ไม่เพียงแต่ไก่ย่างรสเลิศ ยังมีก๋วยเตี๋ยวที่แสนอร่อยเอาไว้ชิมกันอีกด้วย

   

   

   

ถัดมาเป็นการทำเวิร์คช้อปที่ร้าน ครามสกล ร้านค้าที่รวบรวมผ้าย้อมคราม ที่ส่วนหนึ่งเป็นงานจากชุมชน แต่ราคาสูงกว่าที่จำหน่ายในชุมชน

   

   

   

   

   



งานนี้ได้มีโอกาสเลือกผ้าและแบบลายครามตามต้องการโดยมีเจ้าหน้าที่คอยสอนและช่วยเราทำจนสวยงามดูจะถูกอกถูกใจคณะของเราเป็นอย่างมาก

วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร

บ่ายคล้อยเต็มที ….วันนี้จะได้เข้าไปสักการะ พระธาตุเชิงชุม กันก่อนจะเดินช้อปเพลินๆ ในถนนคนเดินผ้าย้อมครามด้านหน้าวัดพระธาตุเชิงชุม



ตามประวัติ เขียนไว้ว่า วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร พระธาตุเชิงชุม ตั้งอยู่ถนนเจริญเมือง  อำเภอเมือง ตั้งหันหน้าไปทางหนองหารที่อยู่ทางทิศตะวันออก เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 24 เมตร  ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม ไม่มีลวดลายประดับ ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุเชิงชุมทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก 247 บาท มีซุ้มประตู   4 ด้าน  ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท ข้างในทึบสร้างด้วยศิลาแลง และหินทรายแดง มีซุ้มประตูหลอกแบบขอม ด้านทิศ เหนือ ใต้ และตะวันตก

  

ซุ้มประตูทางเข้าจริงด้านทิศตะวันออก สร้างครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ซึ่งหมายถึง พระกกุสันทะ พระโกนาคม พระกัสสะปะ และพระโคดม หรือพระศรีอารียเมตตรัย (คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ชาวพุทธศาสนิกชนเคารพสักการะบูชาอยู่ทุกวันนี้)

แต่แรกเริ่มพระธาตุเชิงชุมคงเป็นปราสาทหินทรายศิลปะสมัยขอม ภายในกรอบประตูทางเข้าอุโมงค์ด้านขวามือ มีจารึกพระธาตุเชิงชุมอักษรขอมโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ 16 องค์พระธาตุในปัจจุบันเป็นศิลปะล้านช้าง เนื่องอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างแผ่เข้ามาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ราวพุทธศตวรรษที่ 19 และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่

สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด แต่นับเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาแต่โบราณ ภายในวิหารใกล้พระธาตุเชิงชุม เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสนอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดสกลนคร ทุกวันพระในตอนค่ำจะมีประชาชนไปบูชากราบไหว้พระธาตุ และหลวงพ่อองค์แสนเป็นจำนวนมาก งานประจำปีของพระธาตุเชิงชุมจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ (2) ของทุกปี (กำหนดตามจันทรคติ)

ภายในพระวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร



พ.ศ. 2370 มีการสร้างพระอุโบสถหลังเดิมหรือสิมเก่า มีลักษณะเป็นสิมแบบโถง โครงสร้างเป็นไม้ก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นกระเบื้องไม้แบบเดิม หันหน้าไปทางทิศใต้ ครั้งพระธานีเป็นเจ้าเมือง ภายในมีจิตรกรรมเป็นภาพเถาไม้เลื้อยเป็นแนวรอบอาคาร หน้าบันมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปเทพบุตรและเทพธิดา ดาวประจำยาม มังกรและเถาไม้เลื้อย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ทั้งที่สร้างด้วยไม้และเป็นปูนปั้น

ภายในวัดมีหอกลองหรือหอระฆัง เป็นหอกลองสูงทั้งหมดสามชั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2503 โดยชาวเวียดนามที่ได้มาพำนักอาศัย ณ จังหวัดสกลนคร ร่วมใจกันสร้างขึ้นถวายองค์พระธาตุเชิงชุมเพื่อเป็นพุทธบูชาเพื่อใช้บอกเวลายาม

   

……แดดร่มลมตก หลังจากกราบสักการะหลวงพ่อคู่บ้านคู่เมืองของสกลนคร เราก็เริ่มตระเวนเดินชื่นชม ฝ้ายย้อมครามที่มีชาวบ้านจากหลากหลายตำบล หลายอำเภอนำมาจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์ตลอดสองฟากถนน ซึ่งถนนคนเดินนี้มีขึ้นทุกวันเสาร์ อาทิตย์ เพื่อให้ชาวบ้านได้นำสินค้ามาจำหน่าย



“ได้ไปกี่ผืนคะ” น้องแอน ส่งเสียงเจื้อยแจ้วสอบถามคณะ ที่หอบกันพะรุงพะรังหลังเดินช้อปปิ้งบนถนนคนเดิน

นอกจากจะมีกระเป๋า เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต หมวก เป้ และผลิตภัณฑ์จากการย้อมผ้าครามแล้ว บนนถนนคนเดินยังมีอาหารพื้นเมืองเอาไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวให้ได้ลองสัมผัสลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่กันด้วย

   

   

   

   

ค่ำคืนนี้จึงหลับกันสนิทด้วยความอ่อนเพลียจากการช้อปกระจาย……

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

วันสุดท้ายของทริป เดินทางกันต่อไปยัง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่บ้านนานก-เค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีพื้นที่โครงการฯ ประมาณ 2,100 ไร่ และมีเขตปริมณฑลเพื่อการพัฒนาป่าไม้ประมาณ 11,000 ไร่ ภูพานฯ เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลองการเกษตรในด้านต่างๆ ตลอดจนการอบรมและเผยแพร่ไปสู่ข้าราชการ และเกษตรกรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างในรูปแบบหมู่บ้านสหกรณ์ต่อไป

   

   

   

ในปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษา ทดลอง และพัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมทางการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ชุมชนยืนได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง ทั้งยังช่วยฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้ด้วยระบบชลประทาน เป็นต้น ที่ทำการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2527 ประกอบไปด้วย พื้นที่สาธิตเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม และพื้นที่พัฒนาป่าไม้ จนกลายมาเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว เชิงเกษตรที่น่าสนใจของจังหวัดสกลนคร

   

   

   

   

   

   

   



   

   

   

   

การมาเยือนศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน สิ่งที่ได้กลับไปไม่ได้มีเพียงแค่ความรู้และความประทับใจเท่านั้น การได้เห็นคุณภาพชีวิตที่ดี การสร้างงานและพื้นฐานอาชีพ รวมทั้งการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมเพื่อการเรียนรู้ที่เปิดให้คนไทยได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้อีกด้วย