SACICT ยกทัพงานคราฟต์ สร้างเครือข่ายหัตถศิลป์ไทยในงาน WTM 2017 ณ สหราชอาณาจักร
SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) นำงานหัตถศิลป์ไทยร่วมสมัยจากฝีมือการสร้างสรรค์ของทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิก SACICT จัดแสดงและสาธิตในงาน World Travel Mart 2017 : WTM ภายใต้แนึวคิด Open to the New Shades มุ่งหวังให้งานหัตถศิลป์ไทย เข้าไปมีเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของเราทุกคนได้อย่างกลมกลืน สร้างความคุ้นเคย ความน่าจดจำให้งานหัตถศิลป์ไทย และยังเป็นแรงบันดาลใจในการร่วมต่อยอดให้งานหัตถศิลป์ รวมถึงการขยายช่องทางการตลาดให้กับงานหัตถศิลป์ไทย ระหว่างวันที่ 6–8 พฤศจิกายน 2560 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในปี 2561 นั้น SACICT มุ่งสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่าย หน่วยงานพันธมิตร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในงานหัตถศิลป์ เพื่อต่อยอดและผลักดันให้งานหัตถศิลป์ไทยได้รับความนิยมในวงกว้าง รวมถึงสร้างการรับรู้ในบทบาทของ SACICT ในฐานะการเป็นผู้สร้างพลังและชี้นำทิศทางของการพัฒนางานหัตถกรรมในทุกมิติ หรือ Enhancing Navigator ที่สามารถสะท้อนผ่านการพัฒนาเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับงานหัตถกรรม (Empowering Thai Crafts) ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การพัฒนาคนและการรวบรวมองค์ความรู้ (Smart Craft) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีนวัตกรรมร่วมสมัย (Craft Studio) และการพัฒนาด้านการตลาดทั้งในภายในและต่างประเทศ รวมถึงการตลาดออนไลน์ (Craft Society) โดยการพัฒนางานทั้ง 3 ด้านนี้ มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การสร้างการรับรู้ใหม่ในงานศิลปหัตถกรรมไทยให้กับกลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไปให้มองงานหัตถศิลป์เป็นงานทันสมัยที่เหมาะกับชีวิตปัจจุบัน หรือ Today Life’s Crafts งาน World Travel Mart 2017 เป็นงานใหญ่ที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอและแสดงศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยซึ่งเข้าร่วมเป็นหนึ่งในงานนี้ โดยการนำของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่นำเสนอภายใต้แนวคิด “Open to the New Shades” คือ การนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ของประเทศไทยที่น่าสนใจ และยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือเคยเห็น หรือคุ้นตามากนัก ในมุมมองของงานหัตถกรรม หรือ งานหัตถศิลป์นั้น SACICT เห็นว่างานเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด งานเครื่องเบญจรงค์ และงานเครื่องเงินสุโขทัย เป็นงานหัตถศิลป์ไทยที่มีศักยภาพ สามารถสร้างการรับรู้ และจดจำแก่ชาวต่างชาติได้ จึงได้คัดเลือกทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิก SACICT จำนวน 3 ราย ไปจัดแสดงและสาธิตภายในงาน ประกอบด้วย คุณพงษ์พันธ์ ไชยนิล ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 นำเสนอมุมมองใหม่ของงานเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด โดยการผสมผสานศิลปะพื้นบ้านแบบมอญ รูปทรงแบบจีน และเทคนิคการเขียนลายทองอันวิจิตรแบบไทย ทำให้ชิ้นงานมีความพิเศษดูมีคุณค่าและมูลค่าแตกต่างจากเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดทั่วไปที่เราเคยพบเห็น คุณณัฐวุฒิ พลเหิม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2558 นำเสนอมุมมองใหม่ของเครื่องเงินสุโขทัย และเป็นผู้สืบทอดมรดกเครื่องเงินโบราณ โดดเด่นด้วยลายฉลุ ที่ผสมผสานลวดลายแบบสมัยใหม่ เพิ่มการออกแบบให้ใช้งานง่าย แต่ยังคงเด่นสะดุดตา แฝงกลิ่นอายแบบประวัติศาสตร์อันยาวนานของสุโขทัย คุณอภิชัย สินพูล สมาชิก SACICT นำเสนอมุมมองใหม่ของงานเครื่องเบญจรงค์ ที่สร้างงานแนวใหม่ ผสานการเขียนลายเทคนิคเบญจรงค์ บนรูปทรงร่วมสมัยเช่น หัวกะโหลก หรือ งานในแนว Art Toy อันต่างจากงาน เบญจรงค์ที่เป็นแบบดั้งเดิมที่มักเป็นภาชนะหรือของตกแต่งที่มักถูกมองว่าเป็นของโบราณล้าสมัย นางอัมพวันฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญของ SACICT ที่จะใช้ช่องทางนี้ ในการพัฒนารูปแบบและขยายช่องทางการจำหน่ายงานหัตถศิลป์ไทย ให้เป็นที่รู้จักควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่างหัตถศิลป์ของไทย ได้เรียนรู้และพัฒนารูปแบบให้กับงานหัตถศิลป์ของตนเอง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้นอีกด้วย