SME ปรับตัวรับสงกรานต์ เตรียมขอรัฐบาลช่วยหนุนธุรกิจ
เถ้าแก่ SME พร้อมปรับกลยุทธ์ธุรกิจรับเทศกาลสงกรานต์ เผยขอมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชน เป็นของขวัญจากรัฐบาลเพื่อหนุนยอดขายคึกคักช่วงวันหยุดยาว
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผย “ผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการ SME ต่อเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560” จำนวน 484 กิจการทั่วประเทศ ช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ทีเอ็มบี พบว่า SME ร้อยละ 24 หรือสัดส่วน 1 ใน 4 ระบุว่า ธุรกิจได้ปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจให้สอดคล้องกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง มีการเตรียมสต็อกสินค้า และโปรโมชั่นต่างๆ รองรับยอดขายช่วงสงกรานต์
ส่วนธุรกิจกลุ่มผู้ผลิต ได้เร่งกำลังการผลิตไปแล้วก่อนหน้าเพื่อให้ทันกับคำสั่งซื้อของร้านค้า ด้านธุรกิจบริการเน้นขยายเวลาการให้บริการลูกค้ายาวขึ้นกว่าปกติ ส่วนธุรกิจอีกร้อยละ 76 หรือ 3 ใน 4 ระบุว่าดำเนินธุรกิจตามปกติและบางส่วนปิดกิจการเพื่อให้พนักงานหยุดในช่วงเทศกาล เนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่มีผลต่อการทำธุรกิจ
ด้านสิ่งที่เถ้าแก่ SME อยากได้เป็นของขวัญวันสงกรานต์ปีนี้ ”มากที่สุด” คือ มาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 28 เห็นว่ามาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และ กระตุ้นการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา สามารถช่วยสร้างเม็ดเงินจับจ่ายใช้สอยและหนุนรายได้ธุรกิจให้สูงขึ้น ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่ต้องการเพื่อเสริมการดำเนินธุรกิจ เช่น มาตรการช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องและดอกเบี้ย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นต้น
ของขวัญอันดับที่สอง ที่ผู้ประกอบการร้อยละ 26 ต้องการ คือ สินเชื่อ/เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มและดอกเบี้ยลดลง เนื่องจากช่วงสงกรานต์ ธุรกิจต้องมีวัตถุดิบและสต็อกสินค้าเพื่อรองรับยอดขายเพิ่ม ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจในช่วงสงกรานต์ลดลงและเป็นข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจในช่วงสงกรานต์ ของขวัญอันดับที่ 3 ที่ธุรกิจร้อยละ 12 ต้องการคือ ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่ปรับตัวลดลงก่อนหน้านี้บั่นทอนกำลังซื้อประชาชนในภูมิภาคและส่งผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจ SME ลดลง หากราคาผลผลิตดีขึ้น ย่อมส่งผลบวกต่อรายได้ SME ในพื้นที่
ของขวัญอันดับที่ 4 ที่ผู้ประกอบการร้อยละ 5 ต้องการคือ ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มผันผวนจากสถานการณ์ต่างประเทศ กระทบกับต้นทุนของธุรกิจ SME อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 12 มองว่า ไม่ต้องการอะไรเป็นพิเศษในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากธุรกิจยังสามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติเช่นเดียวกับช่วงปีที่ผ่านมา