หลงเสน่ห์ อาหารพื้นถิ่น ชุมชนวิถี ….สตูล (ตอน 1)
Btripnews ยังคงตามโครงการนำร่องเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy) กันอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นจังหวัดสุดท้ายสำหรับโครงการกันแล้ว โดยการนำของ ผอ.ปทิตตา ตันติเวชกุล ผอ.กองเผยแพร่ความรู้ด้านการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่เดินทางพร้อมกับคณะสื่อมวลชนและนักแสดง ลีนา ลลินา ซูเอ็ท จากโครงการนำร่อง ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจและจัดทำเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน (Gastronomy Tourism) ไว้จำนวน 10 เส้นทางกระจายไปทุกภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดตาก พะเยา สกลนคร สุรินทร์ ตราด ราชบุรี ระนอง สตูล อ่างทอง-สิงห์บุรี และลพบุรี เพื่อขานรับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจใน ภูมิภาคของรัฐบาล ด้วยการใช้การท่องเที่ยวมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยจาก 10 เส้นทางดังกล่าว ททท. ได้ พิจารณาเลือก 5 เส้นทางได้แก่ จังหวัดตาก สุรินทร์ ตราด สตูล และลพบุรี มาดำเนินการจัดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยว นำร่องเพื่อให้สื่อมวลชนได้สัมผัสประสบการณ์จริง นั่นคือที่มาที่ทำให้วันนี้เราได้มาเยือนจังหวัดสตูล ซึ่งผอ.ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ใน ( “สตูล” อีกหนึ่งศักยภาพเมืองนำร่อง “เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน” http://www.btripnews.net/?p=26083 ) คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยค่ะ ชุมชนบ้านควน กับขนมบุหงาบูดะ บุหงาบุดะ และสถานที่แห่งแรกที่พาเรามาพบกับ อาหารพื้นถิ่นที่เลื่องชื่อ คือชุมชนมุสลิมบ้านควน บ้านควน เดิมชื่อกำปงฆวก เป็นภาษามาลายู ซึ่งแปลว่า บ้านควน ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จากเอกสารบอกเล่าประวัติเอาไว้ว่า สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 บ้านควนเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ขึ้นกับตำบลมำบัง อำเภอมำบังนังฆรา (ปัจจุบันตำบลพิมาน อำเภอเมือง) มีวัฒนธรรมพราหมณ์หรือฮินดูที่อาณาจักรศรีวิชัยเคยปลูกฝังไว้ และค่อยจางลงเมื่อศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ แต่ยังมีประเพณี พิธีกรรมตลอดจนความเชื่อถือตามลัทธิพราหมณ์หลงเหลืออยู่บ้าง ต่อมาปี พ.ศ.2471 ได้มีการเป็นปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม) แห่งแรกที่บ้านควน นับเป็นปอเนาะแห่งแรกของจังหวัดสตูล โดยท่านฮัจญีหมัดซีเกร นาปาเลน เป็นโต๊ะครูเปิดสอนวิชาศาสนาอิสลาม ได้มีผู้สนใจการเรียนการสอนวิชาดังกล่าวมากมาย ทั้งในและต่างจังหวัด หลั่งไหลเข้ามาเพื่อหาวิชาความรู้ ทำให้บ้านควนมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วทุกสารทิศ หลังจากนั้นมาประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ เน้นไปตามหลักการของศาสนาอิสลาม ภาษาที่พูดใช้ภาษากลาง สำเนียงเพี้ยนไปทางตอนเหนือของแหลมมลายูผสมผสานภาษาไทยบ้าง ในปี พ.ศ.2475 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตย ได้แยกบ้านควนออกเป็น "ตำบล" วันนี้ ...ชุมชนมุสลิมเก่าแก่แห่งบ้านควน เปิดบ้านต้อนรับเราด้วย ขนมบุหงาบูดะ รู้จักกับบุหงาบุดะกัน บุหงาบุดะเป็นภาษาอิสลาม บุหงา แปลว่า ดอกไม้ บุดะ แปลว่าดอกลำเจียก รวมเรียกว่าขนมดอกลำเจียก ซึ่งมีลักษณะสี่เหลี่ยมคล้ายหมอนสีขาว ทำด้วยมะพร้าวทึนทึกและแป้งข้าวเหนียวผสม ด้วย น้ำาตาลทราย เกลือ น้ำ กลิ่นกะทิ โดยจะทำขึ้นในเทศกาล ฮิดิลรัฎฮา และพิธีแต่งงาน ซึ่งมีความหมายให้คู่ บ่าวสาวร่วมเรียงเคียงหมอนรักกันหวานชื่น ปัจจุบันทำเป็นขนมพื้นเมืองของอำเภอละงู จังหวัดสตูลเท่านั้น ไม่ไกลกันนัก เหล่าสตรีมุสลิมแห่งบ้านควนอีกกลุ่มหนึ่งก็จัดเตรียมอาหารพื้นถิ่นอีกชนิดมาให้ได้ชิมเช่นกัน เรียกว่า แค่ได้กลิ่นก็พาเอาน้ำลายสอไปตามๆ กัน ข้าวมัน แกงตอแมะห์ บอกได้เลยว่าสุดยอด กระทะพร้อมเครื่องเคียงพร้อม แกงเดือดปุดๆ สีเหลืองด้วยขมิ้น หอมน่าทานจริงๆ สำหรับเราครั้งนี้เป็นครั้งแรกจริงๆ กับการได้ลิ้มรสชาติของข้าวมัน แกงตอแมะห์ ซึ่งแค่ข้าวที่หุงกับกะทิ กับแกงที่ถือเป็นอาหารรับแขกบ้านแขกเมืองของชาวสตูลและอาหารหลักประจำบ้าน เรียกว่าหอมกลิ่นเครื่องเทศและสมุนไพร จนยากจะวางช้อนจริงๆ แกงตอแมะห์ครั้งนี้มีผัก อาจาดแตงกวา วางไว้เคียงกัน ถัดมาเป็น แกงกรุหม่า หรือ แกงมัสลา อีกหนึ่งเมนูอาหารพื้นถิ่น แกงกรุหม่า แกงแห้งต้นตำรับเป็นอาหารจากอินเดีย รับอิทธิพลมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิโมกุล เป็นแกงที่ใช้เครื่องเทศเข้มข้น แต่ไม่เผ็ดพริก ไม่ใส่น้ำมากแต่อาศัยน้ำจากเนื้อและผักที่เคี่ยวออกมา เครื่องปรุงมีหลายชนิด ใช้เครื่องเทศเป็นหลักกลิ่นหอมน่ารับประทาน ปรุงจากเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น วัว แพะ แกะ ไก่ และ เป็ด นิยมปรุงแกงกรุหม่าเนื่องในการทำบุญตามประเพณีหรือวันสำคัญทางศาสนา วันนี้ได้ลิ้มรส แกงกรุหม่าไก่ ฝีมือมะชาวบ้านควน อร่อยดีแท้ ถัดมาเป็นแกงปัจรี หย้าหรี่ ก็คือแกงสับปะรด เป็นแกงพื้นเมืองของคนท้องถิ่นสตูล ในอดีตมาจากเชื้อสาย Pajri Nenas แหลมมลายู หรือมาเลเซีย เป็นแกงที่มีรส หวาน คลุกเคล้าไปด้วยเครื่องเทศนานาชนิด สับปะรดจึงเป็นหัวใจหลักของปัจรี อีกทั้งยังเป็นแกงที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ มักจะใช้เป็นเมนูเลี้ยงรับรองในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ที่บ้านควน ไม่ได้มีดีแค่อาหารรสเลิศ แต่ยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนวิถีบ้านควน ที่มีกิจกรรมล่องแพ เอาไว้ให้สำหรับเหล่าคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวสไตล์แอดเวนเจอร์ สนใจติดต่อไปได้ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านบ่อเจ็ดยอด ถัดมาเป็น ชุมชนท่องเที่ยวบ้านบ่อเจ็ดยอด ที่แห่งนี้มีบ่อน้ำ ซึ่งเป็นโบราณสถานบ่อ 7 ลูก หนึ่งในตำนานที่เล่าขานกล่าวต่อกันมาว่า บ่อน้ำแห่งนี้เกิดจากชาวอินโดนีเซียล่องเรือมายังมาเลเซียและมาถึงบริเวณแห่งนี้ แต่ประสบปัญหาขาดน้ำจึงเข้ามาหาน้ำและหาที่พักพิง ก็เริ่มขุดบ่อเพื่อหาน้ำจืด แต่ขุดตั้งแต่ 1 จนถึง 6 เป็นน้ำเค็มทั้งหมด จนบ่อที่ 7 จึงพบว่าเป็นบ่อน้ำจืด หลังจากนั้นไม่ว่าชาวประมงจากที่ไหน จะใกล้หรือไกลจะเข้ามาหลบพายุที่นี่ “มีเจ้าหน้าที่เคยบอกไว้ว่า ที่น้ำบ่อนี้เป็นน้ำจืดเนื่องจากใต้ผืนดินที่ขุดลงไปพอดีเป็นทางของน้ำจากภูเขา” พี่ไกด์วิสาหกิจชุมชนกล่าว หลังจากนั้น ก็เดินหน้าต่อไปยัง ท่าเรือ ซึ่งเป็นท่าเรือที่จะพาเรามุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เพื่อชมปราสาทหินพันยอด แต่ดูเหมือนฟ้าฝนจะไม่เป็นใจ จึงต้องเปลี่ยนแผนปราสาทหินพันยอดพักไว้ก่อน กิจกรรมวันนี้จึงล่องเรือเข้าสัมผัสกับวิถีชุมชนอีกหนึ่งสิ่ง นั่นคือ การจับหอยด้วยการเต้นบนพื้นทราย ใช่ค่ะ เต้นและเต้นโดยใช้ส้นเท้าหมุนๆ ไปตามพื้นทราย ไม่นานก็จะสัมผัสได้ถึงหอยที่อยู่ใต้ผืนทรายนั้น และล่องเรือคายัคกลับสู่ฝั่งกัน การจัดบริการล่องเรือสำหรับนักท่องเที่ยว เป็นในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน สามารถติดต่อได้ หากต้องการเข้ามาท่องเที่ยวที่นี่ ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน สามารถติดต่อทุกคนได้เลย ผ่านวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือ ผ่านบริษัททัวร์น้องยะก็ได้ บริษัททัวร์จะส่งเข้ามาที่วิสาหกิจชุมชน (อ่านต่อตอนสอง)