“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึงปัจจุบัน พบรายงานสงสัยผู้ติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) หลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ได้แก่ ชัยภูมิ อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา มุกดาหาร เชียงใหม่ และลำพูน มีผู้เสียชีวิต รวม 2 ราย จากจังหวัดชัยภูมิ และลำพูนจากคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2560 - 2563 พบว่า มักพบผู้ป่วยโรคนี้ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม - พฤศจิกายนของทุกปี และอาจจะพบผู้ป่วยประปรายในช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม จังหวัดที่พบจำนวนผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ ขอนแก่น มหาสารคาม และปัตตานี”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูหนาว สามารถติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจ โดยการสูดเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าสู่ร่างกาย หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ผ่านการไอ จาม
ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับเชื้อ 2-8 วัน เฉลี่ย 5 วัน พบมากในเด็กอายุแรกเกิด -5 ปี อาการมีตั้งแต่เล็กน้อยเหมือนไข้หวัดถึงรุนแรงจนเสียชีวิต กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรง คือ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเด็กที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนด กรมควบคุมโรค
ขอแนะนำผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเลี้ยงดูเด็ก ครูหรือพี่เลี้ยงเด็ก ควรรักษาสุขภาพตนเองให้แข็งแรงและรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคต่างๆ ไปสู่เด็กในความดูแล และควรสังเกตอาการเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด
โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ไม่ใช้แก้วน้ำหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อหรือมีอาการคล้ายไข้หวัด หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในสถานที่มีเด็กเล่นอยู่รวมกันจำนวนมาก
ส่วนผู้ที่ป่วยควรงดออกนอกบ้านในช่วงที่มีอาการ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น และควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเวลาไอหรือจามด้วย ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆ และให้เด็กพักผ่อนอย่างเพียงพอ
หากเด็กมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ และพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
Post Views: 17