“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 เมษายน 2564 พบผู้ป่วย 219 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระนอง ยะลา สงขลา พัทลุง และพังงา และกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ อายุ 45–54 ปี รองลงมาคือ อายุ 35-44 ปี และอายุ 55-64 ปี ตามลำดับ โดยอาชีพที่พบส่วนใหญ่คือ อาชีพเกษตรกร ร้อยละ 35.6”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ในช่วงนี้ยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังและสภาพพื้นดินเปียกชื้น โรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะหนู ซึ่งเชื้ออาจปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขัง หรือดินที่ชื้นแฉะ ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการสัมผัสและได้รับเชื้อโรคดังกล่าว
โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรหรือผู้ที่มีการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรืออาจไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังอาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการแช่หรือลุยน้ำที่อาจมีเชื้อโรคไข้ฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ หรือถ้าจำเป็น เช่น ทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ หรือการทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด ควรสวมรองเท้าบูทหรือใช้ถุงมือยางเพื่อป้องกัน แล้วรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้แห้งหลังจากลงไปในแหล่งน้ำหรือย่ำดินโคลน รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และใส่ภาชนะมิดชิด ควรล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน และควบคุมกำจัดหนูในบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน และแหล่งท่องเที่ยว
สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงแช่น้ำ ย่ำดินโคลน หรือบุคคลทั่วไป หากพบว่ามีอาการป่วยด้วยไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว หากเข้ารับการรักษาล่าช้าอาจมีอาการตับวาย ไตวาย และทำให้เสียชีวิตได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”
Post Views: 45