หนานหนิง, จีน--25 ตุลาคม 2565 เมื่อไม่นานมานี้ การประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี จีน-อาเซียน ครั้งที่ 10 (The 10th Forum on China-ASEAN Technology Transfer and Collaborative Innovation) ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงภายใต้มหกรรมแสดงสินค้า จีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo หรือ CAEXPO) ได้จัดขึ้นที่เมืองหนานหนิงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
ซึ่งตรงกับวาระครบรอบหนึ่งปีของการสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน จีน-อาเซียน (China-ASEAN Comprehensive Strategic Partnership) โดยภายในงานมีการประกาศแผนปฏิบัติการพิเศษว่าด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างจีนกับอาเซียน ซึ่งครอบคลุมเทคโนโลยีขั้นสูงและเทคโนโลยีประยุกต์กว่า 1,000 รายการในด้านความยั่งยืนที่ได้รับการคัดเลือกมาจากทั่วประเทศและพร้อมใจกันนำเสนอให้แก่ชาติอาเซียน
นอกจากนี้ กลุ่มความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี จีน-อาเซียน (China-ASEAN Technology Transfer Alliance) ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือแรกในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนสู่อาเซียน ยังได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีการผนึกกำลังกับสถาบันนวัตกรรมระดับมณฑลและระดับเทศบาลของจีนที่มีศักยภาพด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และรวมทรัพยากรเข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองความต้องการด้านนวัตกรรมของชาติอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังมีพิธีเปิดการแข่งขันนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ จีน-อาเซียน (China-ASEAN Innovation and Entrepreneurship Competition) และพิธีเปิดค่ายนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ จีน-อาเซียน (China-ASEAN Innovation and Entrepreneurship Camp) โดยมุ่งมั่นผลักดันให้เป็นการแข่งขันนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการที่ทรงอิทธิพลที่สุด มีผู้เข้าร่วมมากที่สุด และมีโครงการส่งเข้าประกวดคุณภาพสูงที่สุดในอาเซียน พร้อมกับเปิดเวทีสำหรับการแบ่งปันทรัพยากร การเพิ่มมูลค่า และการสำแดงศักยภาพ
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กว่างซีรับบทบาทสำคัญในการเป็นประตูที่เปิดกว้างอย่างเต็มที่สำหรับความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน ยกตัวอย่างเช่น ได้มีการยกให้อาเซียนเป็นเป้าหมายสำคัญของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ รวมถึงมีการจัดตั้งเขตความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออาเซียน ตลอดจนดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จีน-อาเซียน และแผนปฏิบัติการส่งเสริมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) อย่างครอบคลุม
นอกจากนี้ กว่างซียังจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมนุษยศาสตร์ การร่วมกันสร้างห้องปฏิบัติการและอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ
สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ระบุว่า ปัจจุบัน กว่างซีได้จัดตั้งกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับทวิภาคีระหว่างรัฐบาลร่วมกับ 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน (รวมถึงประเทศไทยและกัมพูชา) ตลอดจนจัดตั้งคณะทำงานร่วมว่าด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับ 7 ประเทศสมาชิกอาเซียน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือว่าด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยี จีน-อาเซียน ที่มีสมาชิกมากกว่า 2,600 ราย จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศในโครงการโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางบางส่วน
ขณะเดียวกัน ด้วยการสนับสนุนจากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี จีน-อาเซียน (China-ASEAN Technology Transfer Center) และการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี จีน-อาเซียน กว่างซีได้ดำเนิน “โครงการกว่างซีเพื่อนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์คนเก่งจากอาเซียน” (ASEAN Talented Young Scientists Guangxi Program) อย่างต่อเนื่อง
และได้ดึงดูดกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และช่างเทคนิคจากประเทศสมาชิกอาเซียน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทบีจีไอ (BGI) ได้สร้างห้องปฏิบัติการ “ฮัว เหยียน” (Huo Yan) ให้แก่ประเทศบรูไน เพื่อทำการทดสอบกรดนิวคลีอิก ขณะที่ศูนย์ข้อมูลจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor) ได้กลายเป็นพันธมิตรผู้สนับสนุนโซลูชันเมืองอัจฉริยะให้แก่ประเทศอินโดนีเซีย โดยสองโครงการนี้เป็นตัวอย่างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ลึกซึ้งและครอบคลุมระหว่างจีนกับอาเซียน
ณ เดือนพฤษภาคม 2565 กว่างซีได้จัดกิจกรรมด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับอาเซียนมากกว่า 140 รายการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเกือบหนึ่งในสามจัดขึ้นในประเทศสมาชิกอาเซียน ครอบคลุมมากกว่า 7,800 โครงการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อองค์กรกว่า 9,900 แห่ง และช่วยให้เกิดการทำข้อตกลงความร่วมมือมากถึง 653 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่และความสำเร็จด้านเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
ที่มา: สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
Post Views: 30