กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ต่อ “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ” พร้อมเปิดเวทีระดมความเห็นต่อแนวทางการออกเครื่องหมายแสดงการรับรอง ภายใต้กฎหมาย Digital Platform Services เพื่อเป็นกลไกเสริมในการลดความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดูแลผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า หลังจากที่ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ก่อนที่กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นี้ ดีอีเอส ผ่านการดำเนินงานของ ETDA ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับดังกล่าว จึงได้เดินหน้าศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายลำดับรอง ภายใต้กฎหมาย DPS
หลังจากนั้นจึงได้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการจัด Focus Group สำหรับร่างกฎหมายลำดับรองจากหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากภาครัฐ เอกชน regulator ตลอดจนผู้ประกอบการผู้ใช้บริการและประชาชนทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนนำข้อเสนอแนะความคิดเห็นที่ได้มาจัดทำและปรับปรุงร่างกฎหมายลำดับรองให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะอนุกรรมการกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ในการพิจารณาไปแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อให้หลักเกณฑ์ และข้อปฏิบัติ ภายใต้กฎหมาย DPS มีความชัดเจน โปร่งใส สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ที่ผ่านมา ETDA จึงได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือ Public Hearing ต่อร่างกฎหมายลำดับรองไปแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 9 ฉบับ ผ่านระบบการประชุมทางออนไลน์ และผ่านระบบกลางทางกฎหมาย
โดยวันนี้ (26 มิถุนายน 2566) จะเป็นกิจกรรม Public Hearing ครั้งที่ 4 เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ แก่ผู้ให้บริการ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ ผ่านการลงทะเบียนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ได้บัญชีผู้ใช้งานที่มีความน่าเชื่อถือ ระบุตัวตนได้ เพื่อเป็นประโยชย์ในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกงออนไลน์ โดยเนื้อหาของ (ร่าง) คู่มือฉบับนี้จะครอบคลุมทั้งการจัดประเภทผู้ใช้บริการที่ควรพิสูจน์และยืนยันตัวตน การกำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน รายการของข้อมูลที่จะต้องเก็บรวบรวม แนวทางการตรวจสอบข้อมูล และการแสดงสัญลักษณ์หรือข้อความว่าผู้ใช้บริการรายนั้นได้ดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแล้ว เป็นต้น
นอกจากนี้ เรายังมีกิจกรรมการระดมความเห็นต่อ “แนวทางในการออกเครื่องหมายแสดงการรับรอง” เพื่อนำไปเสริมเป็นแนวคิดในการจัดทำประกาศ คธอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกเครื่องหมายแสดงการรับรอง พ.ศ. .... ภายใต้มาตรา 27 ของ กฎหมาย DPS เพื่อเป็นกลไกช่วยผู้ใช้บริการประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับเครื่องหมายรับรองนี้ ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ DPS เกิดการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย รวมถึงการได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นและการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ จะถูกนำไปเป็นข้อเสนอแนะและข้อมูลสำคัญในการนำไปปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหาของเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ให้มีความครบถ้วน ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถปฏิบัติตามได้จริง
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการ คนทำงานบนแพลตฟอร์ม ผู้บริโภค ผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคู่มือและแนวทางทั้งสองเรื่องให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สามารถร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการ และแนวทางในการออกเครื่องหมายแสดงการรับรองได้ที่ระบบกลางทางกฎหมาย หรือ ที่ลิงก์ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/Public-Hearing-DP.aspx ได้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน – 26 กรกฎาคม 2566
Post Views: 26