ไทย-ภูฏาน เน้นย้ำความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว วิชาการ พลังงาน และความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC พร้อมร่วมกันอำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน เพิ่มปริมาณการค้าสู่เป้าหมาย 120 ล้านเหรียญสหรัฐ
วันนี้ (26 มิถุนายน 2567) เวลา 12.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ดาโช เชริง โตบเกย์ (Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
1) บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับมหาวิทยาลัยแพทย์ เคเซอร์ เกียลโป ของภูฏาน
2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทย – ภูฏาน
สำหรับการลงนาม MOU ทั้งสองฉบับในด้านการท่องเที่ยวและด้านสาธารณสุขวันนี้ จะช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและความร่วมมือด้านการศึกษาทางการแพทย์ ระหว่างกระทรวง สาธารณสุขของไทยและ Khesar Gyalpo (เคเซอร์ เกียลโป) และความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ให้ใกล้ชิดมากขึ้น
ไทยและภูฏานยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันและใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน นอกจากนี้ ประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของภูฏาน จะสนับสนุนแบ่งปันความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ เกษตรกรรม และเทคโนโลยี พร้อมทั้งยินดีเรียนรู้จากแนวทางของภูฏาน ในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของไทย
ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของไทยและภูฏาน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ต่างมีวัฒนธรรมอันยาวนาน และความงามทางธรรมชาติที่หลากหลาย พร้อมยินดีส่งเสริมโครงการ “2 ราชอาณาจักร 1 จุดหมายปลายทาง” (Two Kingdom’s One Destination) ซึ่งจะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในทั้งสองประเทศ และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลุ่ม Friends of Thailand-Bhutan เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ด้านการศึกษาและวิชาการ ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรด้านวิชาการ เสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และสร้างมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างเยาวชนคนรุ่นใหม่
ด้านพลังงานทดแทน ไทยและภูฏานพร้อมทำงานร่วมกัน แบ่งปันความเชี่ยวชาญและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อให้ทั้งสองประเทศบรรลุเป้าหมายเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน อาทิ พลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำ ซึ่งทั้งสองประเทศมีความเชี่ยวชาญ
ความร่วมมือระดับภูมิภาค ความสำคัญกับความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าและความเชื่อมโยง พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีภูฏานเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ในเดือนกันยายนปีนี้ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพด้วย
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี ในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการกระชับความร่วมมือกับภูฏานในทุกมิติ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีภูฏานได้กล่าวว่ารู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี พร้อมนำความปรารถนาดีจากราชวงศ์ และประชาชนชาวภูฏานที่มีต่อนายกรัฐมนตรี รัฐบาลและประชาชนชาวไทย การเดินทางมาในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าประเทศไทย และความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ภูฏานพัฒนาไปอย่างมาก พร้อมขอบคุณรัฐบาลและประชาชนชาวไทยสำหรับความสัมพันธ์และความร่วมมือในการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของภูฏาน โดยภูฏานนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 4 และถือว่าไทยเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ รวมทั้งยังเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญ ทั้งในด้านท่องเที่ยวและการแพทย์สำหรับชาวภูฏาน ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีภูฏานได้ตอบรับการเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือนกันยายนนี้ ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี พร้อมได้กล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีเยือนภูฏานในโอกาสแรกที่สะดวก