“ช่องทางหนานหนิง” เวทีสำคัญของความร่วมมือจีน-อาเซียน

ปักกิ่ง--19 กันยายน 2566 ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปีของข้อเสนอในการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ตลอดจนครบรอบ 20 ปีของงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo) และการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนจีน-อาเซียน (China-ASEAN Business and Investment Summit)

งานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน และการประชุมสุดยอดครั้งแรก ได้จัดขึ้นที่นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน เมื่อปี พ.ศ. 2547 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา งานนี้ก็จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และนครหนานหนิงก็กลายเป็นเมืองเจ้าภาพถาวรของงานนี้ ก่อเกิดเป็น “ช่องทางหนานหนิง” (Nanning Channel) ซึ่งเป็นเวทีสำคัญสำหรับส่งเสริมการเปิดกว้างและความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน และสร้างชื่อเสียงให้กับกว่างซี

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สินค้าหลากหลายประเภทจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้าสู่ตลาดจีนผ่านงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ขณะเดียวกัน การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนก็ได้นำโอกาสมาสู่ผู้ค้าในอาเซียนมากขึ้นเรื่อย ๆ

วิสาหกิจจำนวนมากจากจีน อาเซียน และแม้แต่ทั่วโลก ต่างอาศัย “ช่องทางหนานหนิง” เพื่อร่วมมือกันในหลายภาคส่วน เช่น การขายสินค้า การค้าภาคบริการ การลงทุน กำลังการผลิตระหว่างประเทศ การก่อสร้างข้ามพรมแดน ฯลฯ

คุณเหลียง ชิง (Liang Qing) ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการลงทุนนครหนานหนิง เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นครหนานหนิงได้ลงนามโครงการเกือบ 300 โครงการในระหว่างงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านหยวน

นอกจากนี้ งานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ยังประสบความสำเร็จในการยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-อาเซียน ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนส่งเสริมวิสาหกิจจีนจำนวนมากให้ “ก้าวสู่สากล”

การค้าทวิภาคีระหว่างอาเซียนกับจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547 สู่ระดับ 9.7534 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565

จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนเป็นเวลา 14 ปีติดต่อกัน ขณะที่อาเซียนก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน 3 ปีติดต่อกัน

คุณเว่ย จ้าวฮุย (Wei Zhaohui) เลขาธิการของสำนักเลขาธิการงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน กล่าวว่า “ช่องทางหนานหนิง” อันเป็นเอกลักษณ์ ค่อย ๆ กลายเป็น “ช่องทางล้ำค่า” สำหรับสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

นอกจากนี้ “ช่องทางหนานหนิง” ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความผูกพันระดับประชาชนระหว่างสองฝ่ายให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

จนถึงขณะนี้ จีนและอาเซียนได้ดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษามากกว่า 200,000 คนแล้ว นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดตั้งสถาบันขงจื๊อ 42 แห่ง และโรงเรียนขงจื๊อ 39 แห่งด้วยกัน