มาคาเลียส วอนรัฐช่วยภาคการท่องเที่ยว หวั่นปัญหาระยะยาว คนไทยไม่เที่ยวไทย

มาคาเลียส แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผยภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว คนไทยแห่เที่ยวต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เหตุจากค่าใช้จ่ายเที่ยวในประเทศมีราคาแพง โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารสายการบิน ประกอบกับ นโยบายฟรีวีซ่า แนะภาครัฐและเอกชนควรหาทางออกโดยเร็ว หากปล่อยไว้กลายเป็นปัญหาด้านการท่องเที่ยวระยะยาว

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส (MAKALIUS)  ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ แหล่งรวมอี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว กล่าวว่า “ภาพรวมด้านการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะชะลอตัว เนื่องจากส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายปัจจัย อาทิ อัตราค่าโดยสารสายการบินภายในประเทศมีราคาแพง โดยเฉพาะช่วยเทศกาลท่องเที่ยวจะมีราคาสูงขึ้นประมาณ 2 เท่าตัว อีกทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศไม่ต่างจากการท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น

โดยตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ประเทศที่คนไทยนิยมเดินทางไปมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร ไต้หวัน ลาว เป็นต้น เพราะประเทศเหล่านี้ออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว นโยบายฟรีวีซ่า และปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคาค่าโดยสายสายการบินต่างประเทศแข่งกันทำโปรโมชั่นพิเศษ บางสายการบินทำตลาดด้วยการเปิดเส้นทางใหม่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งตลาดกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) และกรุ๊ปทัวร์

มาคาเลียสมองว่าปัญหา “คนไทยไม่เที่ยวไทย” เริ่มสะท้อนให้เห็นตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ และช่วงสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยพบว่าการจองที่พักในประเทศผ่านระบบของมาคาเลียสมียอดจองต่ำกว่า 50% ในทางกลับกันแพคเกจต่างประเทศกลับมียอดจองสูงขึ้นถึง 70% ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวหากภาครัฐบาลและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่เร่งมือในการแก้ไข ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีนโยบายเพิ่มเที่ยวบินพิเศษจำนวน 38 เที่ยวบิน ในช่วงระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. และวันที่ 15-16 เม.ย.2567 ทำให้มีตั๋วโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้นประมาณ 13,000 ที่นั่ง และสายการบินเตรียมจัดโปรโมชัน เพื่อให้ราคาถูกลง เพิ่มเที่ยวบินในประเทศแต่ราคายังสูงเหมือนเดิม ก็ยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและเป็นเพียงการแก้ไขแค่บางส่วน อาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นความสนใจของนักเที่ยวชาวไทยได้มากนัก เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก การตัดสินใจในแต่ละครั้ง ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประสบการณ์ที่จะได้รับกลับคืนมา

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ต้องดำเนินการแบบ “บูรณาการณ์” แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ “การเดินทาง” (Transportation) ต้องปรับให้ทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง การเดินทางทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ มีมาตรฐานเดียวกัน คือ สะดวกในการจอง มีความปลอดภัย ตรงเวลา และราคาที่เหมาะสม เพราะต้องไม่ลืมว่า นักท่องเที่ยวไทยปัจจุบันมีหลากหลายไลฟ์สไตล์ บางคนชอบเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ นั่งรถไฟ นั่งเรือ แต่ติดปัญหาทั้งด้านราคา การบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงความยากในการเข้าถึงระบบการจองที่สะดวกและรวดเร็ว

“ที่พัก ร้านอาหาร” (Accommodation & Restaurant) ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญ เพราะเป็นหัวใจหลักในการท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการควรรักษามาตรฐานทั้งด้านงานบริการ และราคาต้องเหมาะสม สามารถปรับเปลี่ยนราคาได้ในแต่ละช่วงของฤดูกาลแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเหมาะสมและสอดรับกับค่าครองชีพของคนไทย  ส่วนบทบาทของภาครัฐควรให้การสนับสนุนด้วยนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งควรให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ควรจำกัดเงื่อนไขเฉพาะบางตัวแทนจำหน่าย (Travel Agency) เพราะลูกค้าบางรายไม่ได้จองที่พักกับตัวแทนจำหน่ายขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “เรื่องสุดท้ายคือ “ประสบการณ์การท่องเที่ยว” (Travel Experience) เทรนด์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวมองหารูปแบบการเที่ยวที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งประสบการณ์การพักผ่อน ประสบการณ์ความสนุกกับกิจกรรม ประสบการณ์การบริการที่เหนือระดับ และอื่น ๆ ดังนั้นการจะดึงนักท่องเที่ยวไทยให้เที่ยวในเมืองไทยได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องสอดแทรกประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ไปในบริการของตนเอง และทำการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการมาใช้บริการซ้ำ ในส่วนของภาครัฐอาจจะเข้ามาช่วยเหลือในด้านของเงินทุนปล่อยกู้สนับสนุน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำไปพัฒนารูปแบบบริการต่อไปได้”