กรมควบคุมโรค เดินหน้าจัดทำเกณฑ์เฝ้าระวังสุขภาพผู้ประกอบอาชีพตามปัจจัยเสี่ยงระดับอาเซียน

กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข  จัดประชุมเสริมสร้างศักยภาพความร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้สำหรับ การเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพ พร้อมระดมเครือข่ายในประเทศไทยและในอาเซียน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมจัดทำเกณฑ์เฝ้าระวังสุขภาพผู้ประกอบอาชีพตามปัจจัยเสี่ยงระดับอาเซียน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพ


วันนี้ (19 ธันวาคม 2560) นายแพทย์สมบัติ  แทนประเสริฐสุข  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย โดยกรมควบคุมโรค ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพความร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้สำหรับการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพ ระหว่างวันที่ วันที่ 18 – 20 ธันวาคม 2560  ณ โรงแรมเอเซีย กรุงเทพฯ  

สืบเนื่องจากมีข้อตกลงร่วมกันด้านสาธารณสุขในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านการพัฒนาสาธารณสุข (Senior Official’s Meeting on Health Development: SOMHD) ในประเด็นสุขภาพที่ 4 ด้านส่งเสริมอาชีวอนามัย (Health Priority 4: Promotion of Occupational Health) ภายใต้กลุ่มงานภารกิจด้านสุขภาพที่ 1 (ASEAN Health Cluster 1) โดยเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นแกนหลักในการดำเนินการ และให้มีการจัดทำแนวทางเกณฑ์เฝ้าระวังสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคจากการประกอบอาชีพ  โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม     กรมควบคุมโรค เป็นหน่วยงานหลัก  และแนวทางเกณฑ์วินิจฉัยโรคจากการประกอบอาชีพ โดยโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลัก  ซึ่งคาดว่าแนวทางฯทั้งสองฉบับดังกล่าว จะแล้วเสร็จและได้รับการยอมรับให้เป็นแนวทางฯระดับอาเซียน ภายในปี ค.ศ.2020

ซึ่งภายหลังจากการพัฒนาร่างแนวทางฯ ในเบื้องต้นแล้ว  กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะนำร่างแนวทางฯ ดังกล่าว ไปอบรมบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยมุ่งเน้นบุคลากรสาธารณสุขในสถานบริการสุขภาพ ในรูปแบบของบ้านพี่เมืองน้องหรือแฝดเมือง (Twin Cities) เพื่อทดลองนำไปใช้ในการปฏิบัติงานร่วมกับสถานประกอบกิจการ โดยมีพื้นที่เป้าหมายในการอบรมฯ นำร่อง ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษรอยต่อพรมแดนระหว่างประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย มุกดาหาร สระแก้ว และนราธิวาส  จากนั้นจะมีการติดตามและประเมินผลเพื่อพัฒนาร่างแนวทางฯ ดังกล่าวเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอาเซียน ต่อไป

   

นายแพทย์สมบัติ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบอาชีพทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามถิ่น และแรงงานข้ามชาตินั้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม AEC ซึ่งแรงงานดังกล่าวมีความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพทั้งจากโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โรคจากสุขภาพจิต รวมทั้งโรคจากการประสบอันตรายจากอุบัติเหตุและอุบัติภัยฉุกเฉิน  ดังนั้น การจัดทำเกณฑ์เฝ้าระวังสุขภาพสำหรับ        ผู้ ประกอบอาชีพตามปัจจัยเสี่ยงเพื่อใช้เป็นแนวทางกลางของประเทศในกลุ่ม AEC ที่มีแรงงานเคลื่อนย้ายข้ามประเทศ จึงเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญยิ่งในการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพ

ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 100  คน ประกอบด้วย ผู้บริหารและนักวิชาการจากกรมควบคุมโรค ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขจากประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย รองประธาน ASEAN-OSHNET และผู้แทนคณะเลขานุการอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) เกณฑ์เฝ้าระวังสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบอาชีพระดับอาเซียน  โดยการดำเนินงานครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพ สามารถป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422