เมืองตาก เมืองเมี่ยง (ตอน 1)

จังหวัดตากเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับสองพันกว่าปี มีบรรพบุรุษเป็นชาวมอญที่มาตั้งรกรากบริเวณลุ่มน้ำปิง ด้วยภูมิศาสตร์ที่ใกล้พม่า ล้านนา สุโขทัย รวมถึงอยุธยา ทำให้ตากเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เด่นชัดและสืบทอดกันมายาวนาน คือ อาหาร


ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของว่างผู้คนสมัยปู่ย่า ตายายชาวล้านนานิยมอมเมี่ยงแล้วสูบบุหรี่หลังทานข้าว แต่เนื่องจากรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย ชาวเมืองตากจึงดัดแปลง เมี่ยงแบบล้านนาที่ทานกันแพร่หลายจนปัจจุบัน มี 3 ชนิดคือ เมี่ยงมะพร้าว เมี่ยงแคบหมู และเมี่ยงเต้าเจี้ยว

.... จึงไม่ผิดนักที่ครั้งนี้ กับโครงการนำร่อง เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน(Gastronomy Tourism)  จังหวัดตาก เราจึงได้ชิมเมี่ยง เมี่ยง และเมี่ยง 

..... หากแต่ ตาก ไม่ได้มีสิ่งน่าสนใจเพียงอาหาร แต่ยังมีประวัติศาสตร์ ประเพณี และวิถีชุมชนที่น่าสนใจ ททท. จึงจัดทำโครงการนำร่องโดยผนวกรวมกับการเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ในเมือง เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยวได้ประทับใจกันมากขึ้นไปอีก

....งั้นมาเริ่มเดินทางตามรอยโครงการนำร่องเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนานกับ ผอ.นิธี สีแพร ผอ.ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว ททท.  และคุณนิตยา เมธีวุฒิกร หัวหน้างานส่งเสริมสินค้าที่ระลึก รวมทั้งเซเลป น้องไอซ์ กันเลยละกันค่ะ



วัดพระบรมธาตุ 

เราเดินทางกันด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ลงสู่สนามบินสุโขทัย ก่อนจะนั่งรถตู้ต่อไปยังจังหวัดตาก ตามธรรมเนียมเมื่อถึงเมืองใดก็ตาม สิ่งแรกที่ทำคือสักการะกับพระคู่บ้านคู่เมืองเป็นสิริมงคลกันก่อน วัดพระบรมธาตุจึงเป็นจุดแรกที่คณะผู้บริหารและสื่อมวลชนเข้าสักการะ

จากเอกสาร บอกกับเราว่า จากเขื่อนภูมิพลขับรถล่องมาทางใต้ราวครึ่งชั่วโมง จะถึงอำเภอบ้านตาก ซึ่งถือเป็นตัวเมืองตากในอดีต ก่อนที่จะย้ายมาเป็นเมืองตากในปัจจุบัน และเป็นที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุ

.... วัดแห่งนี้รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุ จำลองแบบมาจากเจดีย์ ชเวดากอง ประเทศพม่าและถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของปีมะเมีย



ในช่วงวันขึ้น 14 ค่ำและ 15 ค่ำของทุกปี จะมีการจัดงานบุญยิ่งใหญ่คือประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า เพื่อเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการจัดขบวนแห่ผ้าห่มธาตุ จากนั้นจะเป็นพิธีการบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถี เจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหง ทรงสร้างไว้ในคราวทำศึกสงครามยุทธหัตถีชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ซึ่งอยู่ตตรงข้ามกับวัดพระบรมธาตุ





“ที่นี่เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อทันใจ ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของผู้คนทั่วสารทิศ ที่สำคัญ ขอพรแล้วส่วนใหญ่จะสมหวัง” เจ้าหน้าที่ภายในวัดเล่า

อืมมม.... เห็นจะจริง เพราะเราเห็นถาดใส่ ผลไม้ ไข่ ดอกไม้ จำนวนมากมาย ที่ผู้คนที่เดินทางเข้ามาถวายจำนวนมาก



Wattana Hip 

อาหารพื้นถิ่นจากร้านแรกส่งกลิ่นโชยมาตั้งแต่แรกเข้าสู่ประตูร้าน ร้านวัฒนา ฮิป แห่งนี้เป็นเรือนไม้โบราณสองชั้นติดริมน้ำปิง ด้านหน้าติดถนน ด้านหลังติดลำน้ำปิง นอกจากจะบริการอาหารถิ่นแล้ว ยังมีห้องพักเอาไว้บริการอีกด้วย





คุณน้าวัฒนา มาสุข เจ้าของร้าน เตรียมเครื่องปรุงพร้อมสรรพสำหรับเมนูแกงมะแฮะ เต็มโต๊ะ ควันโขมงเต็มหม้อขนาดใหญ่ แกงมะแฮะ “ แกงมะแฮะจะนิยมทานกับข้าวเกรียบปิ้งหรือเมล็ดมะแฮะ จะมีรสดีในช่วงเดือนเมษายน หรือช่วงสงกรานต์ ถั่วมะแฮะถูกเคี่ยวต้มจนเปื่อย ก่อนจะเติมพริแกงส้มผสมปลาย่าง โดยเอาพริกแกงกับหมูที่จะใส่แล้วใส่หม้อต้มรวมกับถั่วมะแฮะ ปรุงรสชามชอบ ถ้าจะให้อร่อยต้องใส่ใบส้มป่อย แต่บางคนก็ใส่น้ำปลาร้าเข้าไปด้วย”





พอบอกถึงตรงนี้ ตะแกคว้าช้อนเตรียมตักน้ำปลาร้าใส่หม้อ ต้องรีบยกมือห้ามคุณน้ากันเป็นพัลวัน เอาแค่พอประมาณก็พอค่ะคุณน้า ...อิอิ

ไม่นานบนโต๊ะก็ถูกลำเลียงมาไม่ขาดสาย ทั้งผัดเต้าเจียวเมืองตาก ข้าวเกรียบสีลูกกวาด แต่รสชาติจะขนาดไหน ....ต้องตามกันมาลองชิมค่ะ







ตรอกบ้านจีน  

ชุมชนค้าขายที่เคยรุ่งเรืองมาในอดีต แม้บ้านเรือนเกือบทุกหลังจะปิดตัวเงียบ แต่ยังเผยให้เห็นความวิจิตรของงานไม้สมัยโบราณ สมัยก่อนบ้านจีนมี 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านเสาสูง หมู่บ้านปากคลองน้อยและหมู่บ้านบ้านจีน ต่อมาปี 2495 เทศบาลได้รื้อสะพานทองและถมเป็นถนน และเริ่มใช้รถยนต์ในการสัญจร





ตรอกบ้านจีนเริ่มซบเซาลงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งปี 2484 ร้านค้าที่เคยเปิดกันอย่างคึกคักก็อพยพไปอยู่ที่อื่น ปิดฉากความรุ่งเรืองของตรอกบ้านจีนนับแต่นั้นมา









“ชุมชนบ้านจีน จริงๆ ก็มีผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านที่ให้ข้อมูลเหล่านี้ได้ แต่เราต้องลงไปสร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชนให้มากขึ้นก่อน บริษัทนำเที่ยวพานักท่องเที่ยวมาแล้วจัดการไม่เป็นก็จะเกิดปัญหา นักท่องเที่ยวมารบกวนวิถีชีวิตของชาวบ้านได้” คุณนิธี

แม้ตรอกบ้านจีน จะเป็นเพียงตรอกเล็กๆ แต่เชื่อเหลือเกินว่า ใครหลายคนที่เข้ามาแล้ว จะต้องรับรู้ได้ถึงความยิ่งใหญ่ของชุมชนแห่งนี้ในอดีต แต่บ้านเรือน ณ วันนี้ ปิดเกือบทุกหลัง ความเงียบสงัดมาเยือน มีเ

ไม่ว่าจะเป็น บ้านหลังงาม อย่าง บ้านจีน(ทองอยู่) หลวงบริรักษ์ประชากร  บ้านขุนวัชรพุกก์ศึกษากร บ้านโสภโณดร บ้านนายเฟ้อ บุญอินทร์ บ้านคุณป้ากุหลาบ ที่ตั้งชื่อบ้านว่า (บ้านเจ้ากรม) บ้านตระกูล คอวนิช ของนายหลงกับนางต่วน ชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในไทยสมัยรัชกาลที่ 4 สร้างปี 2390







สะพานสมโภชกรุงฯ 

และในช่วงเย็นวันนี้ ก่อนจะไปถึงกาดนั่งยอง คล้องย่าม ตลาดนัดของเมือง ก็ต้องแวะไปถ่ายภาพกันที่สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีซะก่อน ถือเป็นจุดชมวิวแม่น้ำปิงที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองตาก ปัจจุบันยังใช้สำหรับการจัดกิจกรรมงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง ซึ่งเป็นงานประเพณีประจำท้องถิ่นของจังหวัดที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร







สำหรับกาดนั่งยอง คล้องย่าม เป็นถนนคนเดินเลียบริมแม่น้ำจำหน่ายสินค้า อาหาร ผักสด พื้นถิ่น ผสมไปกับสิ่งของเครื่องใช้ ที่นี่มีเมนูแปลกตาให้ได้ชิมได้ประหลาดใจกันพอสมควร











และแล้วก็ถึงเวลาอาหารค่ำ ที่ร้านไอยราวดี ร้านอาหารบรรยากาศดีริมแม่น้ำปิง กับเมนูยำข้าวเกรียบข้าวต้มเมืองตาก













( อ่านต่อ เมืองตาก เมืองเมี่ยง ตอนจบ )