เที่ยวกัน … มัน good “10 แหล่งเที่ยว เมืองแพร่”

แพร่ เมืองที่รายล้อมด้วยภูเขาทั้งสี่ทิศ มีแม่น้ำยมไหลผ่าน เมืองเล็ก ๆ ที่มากด้วยวัฒนธรรม อบอุ่นด้วยอัธยาศัยของผู้คน มีที่เที่ยว ที่กิน ที่ช้อป หลากหลาย ททท.สำนักงานแพร่ โดยผอ. ยุ้ย - สิรินาถ ฉัตรศุภกุล ได้นำเอาวัฒนธรรมงานบุญผนวกเข้ากับแหล่งกิน แหล่งช้อป และแหล่งเที่ยวเมืองแพร่ 10 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน กับเส้นทาง Local food Fusion มาดูกันเลยดีกว่าว่า 10 แห่ง จากการแนะนำของททท.แพร่มีอะไรกันบ้าง

 1.Hom 2493 ร้านอาหารขนาดเล็กริมเนินกำแพงเก่าของเมือง 

ภายในบ้านไม้สองชั้น ปรับแต่งเป็นร้านอาหารด้านล่างรองรับลูกค้าผู้สัญจรไปมา ดูจากการตกแต่งก็ไม่เลวทีเดียว ทั้งบริเวณภายในร้าน และภายนอกตัวเรือน จัดวางโต๊ะนั่งเอาไว้เป็นสัดส่วน แทรมแซกด้วยต้นไม้ดูร่มรื่นน่านั่ง อีกทั้งอาหารหน้าตาก็น่าทานใช่หยอก นอกจากจะมีอาหารแสนอร่อยให้เลือกทานในราคาไม่แพงแล้ว ยังมีของฝากเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้รองรับลูกค้าอีกด้วย ไปรู้จักกับสองแม่ลูก คุณสิริรัตน์และคุณวรกันต์กันเลยดีกว่า



คุณสิริรัตน์ โพธิ์งาม เล่าถึงที่มาของร้านน่ารักแห่งนี้ว่า “ ฮอม บ้านหลังนี้สร้างเมื่อ 2493 เป็นบ้านเก่าของตระกูล ก่อนหน้านี้ตอนปี 2531 พี่ชายมาทำเป็นบริษัทผ้าบาติก หลังจากทำแล้วพื้นที่คับแคบจึงย้ายไป เป็นการทำบาติก งานคราฟท์ หลังจากที่อาจารย์ช้าง พี่ชายย้ายไปบ้านก็ปิดช่วงหนึ่ง ลูกชายทำงานในกรุงเทพ ฯ เป็นตากล้องของกองถ่าย เบื่อแล้วจึงกลับมาอยู่บ้าน คิดว่าบ้านเรามีก็เลยมาทำ เพราะคุณแม่ก็ชอบทำอาหารอยู่แล้ว แม่เป็นครูสอนคหกรรม เลยมาช่วยกัน







อาหารของร้านเน้นอาหาร Local ของท้องถิ่น แต่ก็มีผัดหมี่ซึ่งคุณพ่อแฟนเป็นคนโคราชไปชิมแล้วอร่อย จึงนำมาปรับ มาผสมผสานก็จะได้เป็นเอกลักษณ์ของร้าน โดยใช้กระทะเหล็กในการผัด ชื่อผัดหมี่ฮอม และก็ฝึกน้องช่วยกันทำ โดยผัดหมี่ทั่วไปจะใส่แค่หมูสามชั้น แต่เราใส่คอหมูย่างเข้าไป



อีกอย่างคือ น้ำสมุนไพรของเรา จะไม่เหมือนใคร โดยนำกระเจี๊ยบกับพุทราจีนมาแมชกัน มะตูมกับบ๊วยมาแมชกัน ซึ่งก็จะเป็นรสชาติอีกอย่างหนึ่ง

จุดหนึ่งของร้านที่อยากจะแนะนำคือ ขนมจีนราคาไม่แพง ถ้วยละ 20 บาท ที่นี่ไม่ได้อาหารท้องถิ่นเสียทีเดียว แต่นักท่องเที่ยวทั่วไปก็สามารถเข้ามาทานได้ ขนมจีนก็ได้แก่ ขนมจีนน้ำใส่ ขนมจีนน้ำพริกน้ำย้อย ผัดหมี่ฮอม ขนมเส้นกระดูกนุ่ม”









ใครสนใจ ต้องลองไปชิมกัน สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณวรกันต์ โพธิ์งาม 102 รอบเมือง ต.ในเวียง อ. เมือง จ.แพร่ โทร 086 1952803



2.JEBAR

หลังทานอาหารคาวเสร็จ เดินทางกันต่อไปหาร้านกาแฟนั่งชิลๆ เฌอบาร์ ร้านกาแฟสไตล์วินเทจของเมืองแพร่ ตั้งอยู่หัวมุมถนนใกล้กับวัดพงษ์สุนันท์ นอกจากจะนั่งจิบคาปูฯ ร้อนๆ กับเค้กที่มีเฉพาะที่นี่แล้ว ยังออกมาแวะถ่ายรูปและกราบสักการะในโบสถ์ที่วัดพงษ์สุนันท์ได้ วัดแห่งนี้วัดเล็กๆ แต่มีพระนอนขนาดใหญ่ มีตำนานเต่าในอดีตซึ่งเป็นที่มาของวัดแห่งนี้ด้วย















ร้านกาแฟแห่งนี้เพิ่งเปิดรองรับลูกค้าได้ไม่นาน แต่ได้รับการตอบรับพอสมควร ก็จะเห็นได้ว่า ช่วงที่เข้าไปอยู่ภายในร้าน มีลูกค้าทั้งคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวแวะเวียนกันไม่ขาดสาย เรียกว่าไม่มีเวลามาคุยกันเลยทีเดียว

มีเค้กยอดนิยมที่คนถามถึงอย่าง นิวยอร์คชีสเค้ก ราคาก็ 65 บาท

ก็เอาเป็นว่าหากใครสนใจลองดู ร้านตั้งอยู่เลขที่ 44 คำลือ ในเวียง เมือง แพร่









3.วัดสูงเม่น หรือ สุ่งเม้นเมืองแป้



เมืองคัมภีร์ธัมม์โบราณ ต้องบอกว่า สำหรับคนที่ไปเมืองแพร่แล้วไม่ได้ไปที่นี่ โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบของเก่าของโบราณ ถือว่าพลาดอย่างแรง ที่ที่มีหลายสิ่งอเมซิ่งสำหรับคนยุคดิจิตอลอย่างเราๆ และมากด้วยคุณค่าอย่างหาที่เปรียบไม่ได้จริง ๆ



วัดสูงเม่น สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีต่อเนื่องสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่ก็ถือว่าอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างสมัยที่พม่าปกครองล้านนาและในช่วงที่ชาวล้านนาร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินขับไล่พม่า ซึ่งเป็นช่วงเริ่มมีการพลิกฟื้นอารยธรรมล้านนาให้กลับมามีบทบาทในการพัฒนาบ้านเมือง และการค้ำชูพระพุทธศาสนา ซึ่งจากหลักฐานตามประวัติของครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถรซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ. 2332-2409 ก็พบว่า มีวัดสูงเม่นมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว







 วัดสูงเม่น เดิมเรียกว่า “วัดสุ่งเม้น” โดยมีเรื่องเล่าสืบๆ กันมาว่าแต่เดิมสถานที่ตำบลสูงเม่นเป็นป่าไผ่และทุ่งหญ้า รวมถึงป่าไม้เบญจพันธุ์ มี “เม่น” อาศัยเป็นจำนวนมากและประกอบกับสถานที่เป็นแหล่งท่าน้ำบริบูรณ์ พวกพ่อค้าและคนเดินทางในสมัยอดีตมักมาแวะพักแรมกันในบริเวณดังกล่าว จนเรียกพื้นที่ตำบลนี้ว่า “ป๋างสุ่งเม้น” การที่พวกสัตว์และ “เม่น” อาศัยอยู่รวมกันมากหรือมีเม่นมากในบริเวณนี้ คนจึงเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “สุ่ง” ซึ่งได้ชื่อตามนิมิตของฝูงเม่นว่า “บ้านสุ่งเม้น”  วัดสูงเม่นในปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ 3  ตำบลสูงเม่น  อำเภอสูงเม่น  จังหวัดแพร่



วัดสูงเม่น เป็นวัดที่มีการเก็บรวบรวมคัมภีร์วรรณกรรมพุทธศาสนาในล้านนาที่มีความสมบูรณ์และมากที่สุดในแผ่นดินล้านนา รวมกันไม่น้อยกว่า 8,000 ผูก มีใบลานมากกว่า 85,000 ใบลาน



พระครูวิบูลสรภัญ (พม.ฉัตรเทพ) รองเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น ผอ.สถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น เล่าว่าการที่วัดสูงเม่นเป็นวัดเก่ามีอายุไม่น้อยกว่า 300 ปี ตามตำนานเล่าว่า วัดสูงเม่นหรือชื่อในคัมภีร์ธรรมปรากฏชื่อว่า “วัดสุงเม้นแก้วกว้าง” เพราะเคยมีพื้นที่กว้างขวาง มีครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร เป็นเสาหลัก และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เจ้าเมืองเจ้าผู้ครองนคร เจ้าราชวงศ์ต่าง ๆ ทั้งในล้านนาและล้านช้างต่างเคยมานมัสการคัมภีร์ธรรมพระไตรปิฎก ณ วัดแห่งนี้”



ที่นี่มีกิจกรรมการห่อคัมภีร์ธัมม์ใบลาน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว โดยสามารถนำถวายวัดหรือจะนำกลับไปสักการะที่บ้าน เพื่อให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เปรียบเหมือนกับมีพระรัตนตรัยคุ้มภัยคนในบ้าน

รองเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น เล่าว่า “การเลือกนำเอกลักษณ์ “คัมภีร์ธัมม์ใบลาน” มาเป็นธงนำในการจัดการท่องเที่ยวทำให้การวางแผนและการจัดกิจกรรมชัดเจนและไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตามประวัติครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร เป็นบุคคลสำคัญในการเชิญคัมภีร์มาจากล้านช้างและสร้างคัมภีร์ใหม่ จนทำให้เป็นวัดที่มีคัมภีร์ใบลานมากที่สุดในแผ่นดิน

ซึ่งนอกจากจะเป็นการร่วมกันทำบุญแล้ว ยังถือเป็นการอนุรักษ์ใบลาน ให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของคัมภีร์ใบลาน อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การสักการะบูชาอีกด้วย”

นั่นทำให้ ... เราต้องตีวงล้อม เรียนรู้การห่อคัมภีร์ธัมม์อย่างตั้งใจ แม่อุ๋ยทำหน้าที่พี่เลี้ยงคอยสอนตั้งแต่เริ่มต้น การก่อด้วยผ้าฝ้ายที่มีเอาไว้ให้ หลังจากนั้นก็เป็นการผูก การมัด และการเขียนชื่อครอบครัว ส่วนใครจะนำถวายให้วัด โดยทำประทักษิณเวียนรอบกลองโบราณ หรือกลองบูชาธัมม์ 3 รอบ หรือจะนำกลับไปบูชาที่บ้าน ก็ได้









และยังมีการนำนักท่องเที่ยวเดินชมหอฟ้า รวมถึง “หอนิพพาน ซึ่งใช้น้ำล้อมรอบหอธัมม์แห่งนี้ เพื่อรักษาอุณหภูมิสำหรับการเก็บรักษาคัมภีร์โบราณ ซึ่งเป็นจุดดั้งเดิมที่เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาจะมาเวียนธัมม์จะเวียนธัมม์รอบตู้เจ้าหลวง เรียกว่า “เวียนธัมม์เจ้าเมือง” ซึ่งยุคนั้นเป็นยุคที่วัดยังไม่ได้สร้างธัมม์ขึ้นเอง เป็นช่วงอนุรักษ์ต่างก็มาเวียนธัมม์อธิษฐาน ปกติหอจะเปิดเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์ วันธรรมจะเปิดให้เฉพาะผู้ที่สนใจ







ใช่คะ น่าสนใจ เราจึงมีโอกาสได้ตามเข้าไปดู หอนิพพาน ที่เต็มไปด้วย คัมภีร์โบราณ ซึ่งแต่เดิมห่อด้วยผ้าชำรุดทรุดโทรมมาก แต่ปัจจุบันมีการห่อผ้าใหม่ และทำบาร์โค้ด เอาไว้เพื่อให้ได้รับรู้ว่า ผ้าผืนนั้น มาจากที่ไหน อายุเท่าไหร่











สำหรับเรา ....หลังจากคีย์บาร์โค้ดคัมภีร์ธัมม์โบราณที่เราหยิบมาชื่นชม พบว่าเป็นคัมภีร์ใบลานจากหลวงพระบาง อายุกว่า 300 ปี แม่จ้าวว....



4.ร้าน BeLeaf Cafe Pratuchai

หลังทำบุญไหว้พระ อากาศร้อนแบบนี้ไปหาสมูทตี้คลายร้อนสักแก้วท่าจะดี ว่าแล้วต้องไปต่อกันที่ ร้าน Beleaf Café ร้านนี้ตั้งอยู่แถวประตูชัย เป็นอาคารพาณิชย์ ด้านหน้าเปิดจำหน่ายผลไม้สด ทั้งมะม่วง ทุเรียน แตงโม มะยงชิดและผลไม้จะขายตามฤดูกาล นั่นเป็นที่มาของการต่อยอดจากธุรกิจของครอบครัว เกิดเป็นร้าน BeLeaf Cafe แห่งนี้









ผลไม้ปั่นที่นี่ ขึ้นชื่อเห็นจะเป็น เมนู Mayongchid Shake มะยงชิดปั่น เมนูเด็ดคือ ข้าวเหนียวมะม่วง สมูทตี้มะม่วง มะม่วงโยเกิร์ต สตรอเบอร์รี่โยเกิร์ต









แต่ถ้าอยากจะทานข้าวเหนียวมะม่วง กับ ทุเรียนกันแบบสดๆ ก็มีไว้บริการ เพราะแว่วมาว่า ครอบครัวทำสวนผลไม้ส่งออกอยู่ เพราะฉะนั้น การเข้ามานั่งร้านนี้ เพื่อชิมน้ำผลไม้ปั่นหรือจะทานสด ก็สะดวก อร่อย เช่นกัน

Be Leaf Cafe เปิดให้บริการทุกวัน 09.00-20.00 น.

# BeLeafCafePratuchai

5.พิพิธภัณฑ์บ้านเทพ



ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มต้นจากผู้ที่สนใจเก็บสะสมของเก่าของโบราณและจำหน่ายในอดีต จนกระทั่งปัจจุบันได้มีการนำสิ่งของเหล่านั้นมาจัดแสดงและจัดโซนไว้อย่างเป็นระเบียบมากขึ้น รวมถึงการเปิดโฮมสเตย์สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย ถือเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ที่น่าสนใจของเมืองแพร่



เมื่อก้าวจากประตูรั้วเข้าสู่ตัวบ้าน ก็จะพบกับประตูขนาดสูงใหญ่อลังการของเรือนไม้สักทองทั้งหลัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ องค์พระนเรศวรมหาราชในลักษณะทรงหลั่งทักษิโณทกประกาศอิสรภาพจากหงสาวดีสีดำสนิท อีกทั้งรายรอบด้วย ของโบราณ อย่าง เกราะ เครื่องแก้ว ถ้วยชาม ลวดลายในสมัยโบราณ











ถัดมาอีกเรือนหนึ่ง เปิดประตูกว้าง เผยให้เห็นเตียงไม้แกะสลักขนาดใหญ่สวยงามราวกับเข้าไปนั่งอยู่ในละครย้อนยุค ที่นี่มีเสื้อเกราะอีก 1 ตัว ตั้งโชว์ สันนิษฐานว่าเป็นเสื้อเกราะสำหรับผู้หญิงแต่ใช้ในทางศาสนา ไม่ได้ใช้สำหรับการรบ มีการจัดแสดง เหรียญกษาปณ์ เหรียญพดด้วง และเหรียญรูที่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว



แต่ที่อเมซิ่งอีกอย่างคือ เรื่องงานไม้ ไม้ขนาดใหญ่ ทำชิงช้า ทำโต๊ะ ทำประตู ขนาดยิ่งใหญ่อลังการ บางชิ้นเขียนป้ายบ่งบอกอายุหลายร้อยปี







คุณวัฒนา เหลืองอุทัยศิลป์ เจ้าของบ้านเทพ เล่าว่า “ เป็นคนที่ชอบสะสมของเก่า และทำธุรกิจค้าขายของเก่ามาตั้งแต่สมัย 4-50 ปีก่อน ของทุกอย่างเกิดจากความชอบก็สะสมมาเรื่อย ๆ นอกจากบางชิ้นที่มีมากแล้ว ก็จะแบ่งปันให้กับคนที่สนใจ ปัจจุบันจึงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยให้ลูกชาย - กฤษฎา มาดูแล เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม





ว่าแล้ว ...คุณวัฒนา ก็พาเราเดินเข้าไปสู่โฮมสเตย์ ซึ่งอยู่ที่เรือนไม้ด้านหลัง 3 ห้อง และอยู่ชั้นบนในอีกเรือนหนึ่ง อีก 1 ห้อง









“โฮมสเตย์บ้านเทพ มีแค่ 4 ห้อง ผมออกแบบเองทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ที่เขาสนใจเกี่ยวกับของโบราณและชื่นชอบการพักที่เงียบสงบ ที่นี่จะเงียบ แต่ละห้องจะตกแต่งไม่เหมือนกันและมีพื้นที่ด้านข้างของแต่ละห้องเพื่อให้มีพื้นที่เอาไว้ให้ผู้มาพักได้ออกมานั่งเล่นด้านนอก หากเขาไม่อยากอยู่แต่ในห้อง รวมถึงมีสถานที่ทำครัวแบบรวม ผู้พักสามารถเข้ามาทำอาหารทานเองได้”



พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดพิธีบวงสรวงและเปิดให้บริการมาได้ 2 ปี กว่า หากใครต้องการเข้ามาเยี่ยมชม สามารถมาได้ที่ ตำบลในเวียง ตรงข้ามกับกำแพงเมืองเก่า บนประตูชัยหรืออยู่หลังเรือนจำจังหวัดแพร่







ที่ตั้ง: ถนนเทศบาล 2 ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

เปิดปิดเวลา: ทุกวัน ตั้งแต่ 09.00 น-17.00 น.

โทรศัพท์: 08-7987-1164



6.แพะเมืองผี 

 วนอุทยานแพะเมืองผี ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำชำ มีพื้นที่ 500 ไร่ เกิดจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นดินและหินทรายถูกกัดเซาะตามธรรมชาติก่อให้เกิดรูปทรงแปลกตา เป็นรูปร่างลักษณะต่าง ๆ เช่นดอกเห็ด และหน้าผา ดูแล้วแปลกตา

จากเอกสารของททท.สำนักงานแพร่ กล่าวว่า แพะเมืองผี น่าจะมาจากภาษาพื้นเมือง แพะ แปลว่า ป่าละเมาะ ส่วนคำว่า เมืองผี แปลว่า เงียบเหงา วังเวง อาจเกิดจากสภาพภูมิประเทศที่ดูเร้นลับน่ากลัว







ปัจจุบัน แพะเมืองผี ยังคงมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมแม้จะไม่มากมายนักแต่ก็ยังคงมีเข้ามาไม่ขาดสาย ซึ่งสถานที่แห่งนี้ได้รับการประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2524

สำหรับคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแล้วละก็ ที่นี่ไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน



สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0 5451 1162 ต่อ 140

การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 101 (สายแพร่ - น่าน )



7.บ้านมัดใจ homemade & café



ภายในรั้วบ้านขนาดกะทัดรัด แบ่งสันปันส่วนพื้นที่ให้เป็นทั้ง ร้านกาแฟ จุดจำหน่ายสินค้า สถานที่สอนการมัดย้อม งานปั้น และศูนย์เรียนรู้ผ้ามัดย้อม และบ้านพัก ต่างถูกปกคลุมด้วยไม้หลากพันธ์ตามความชื่นชอบของเจ้าของบ้าน

 

บรรยากาศร่มรื่นดูอบอุ่น และอบอวลไปด้วยความรักของครอบครัวสุชนก ที่ประกอบด้วย คุณพ่อ คุณแม่ และลูกๆ สามคนพี่น้อง

คุณพ่อ จบด้านศิลปะ ขณะที่คุณแม่เป็นครูด้านนาฏศิลป์ ลูกๆ ของครอบครัวที่อบอุ่นนี้ ประกอบไปด้วย ปอนด์ - ชนิต มะปราง-ชิดชนก และ ปลาย ชฎานุช สุชนก จึงถือเป็นครอบครัวศิลปินโดยแท้



ปลาย-ชฎานุช สุชนก น้องสาวคนเล็ก ที่รับหน้าที่บาริสต้า ชงกาแฟกลิ่นหอมฉุยให้กับเรา เล่าให้ฟังว่า ปลายจบมช. คณะวิจิตรศิลป์ สาขาประติมากรรม พี่คนกลาง จบคณะวิจิตรศิลป์ สาขาออกแบบแฟชั่น ส่วนพี่ชาย จบ แม่โจ้ สาขาอุตสาหกรรมการยาง





จบตอนแรกพี่สาว พี่ปรางคนกลาง ทำผ้ามัดย้อมมาก่อน 7 ปี เมื่อปลายจบมาก็มาเริ่มทำเป็นงานปักผ้า เพราะเห็นว่าพี่สาวทำงานเกี่ยวกับผ้า มีตลาดอยู่แล้ว งานฝีมือเราก็ชอบอยู่แล้ว แต่แนววัยรุ่น ผ้าพื้นเมือง เมื่อพี่สาวออกบูธเราก็ไปด้วย หลังจากนั้นพี่สาวจะแต่งงาน ก็สร้างโรงเรือนนี้ เพื่อจะจัดงานแต่งงาน เป็นพิธีหมั้น แฟนหนูเป็นสถาปนิกจึงออกแบบเรือนหลังนี้ให้

หลังจากนั้น ก็คุยกันว่า มาลองเปิดร้านกัน ให้คนมาเวิร์คช็อปและมากินกาแฟกันด้วย เปิดร้านนี้เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่พี่สาวทำผ้ามาแล้วเจ็ดปี



ส่วนเซรามิก ความที่เราจบด้านประติมากรรม มีความรู้ด้านนี้และได้รับการติดต่อจากศูนย์เซรามิกลำปางติดต่อมา จึงมาพอดีกับที่อยากจะเปิดสอนงานเซรามิกอยู่แล้วด้วย เพิ่งเริ่มทำกันคะ อย่างพี่ที่มาร่วมงาน เคยไปอยู่ญี่ปุ่นหลายเดือนเพื่อหาประสบการณ์งานด้านเซรามิกด้วย

ก่อนหน้านั้นเรามีแต่เพ้นท์สีอะเครลิกแล้วนำกลับบ้าน จนตอนหลังมีผู้ใหญ่ให้ความสนใจด้วย จึงทำเป็นเซรามิกให้คนที่สนใจได้ร่วมทดลองทำด้วยตนเอง นำเข้าเตาจริงๆ โดยให้เขียนไว้ เมื่อเผาแล้วก็ส่งไปให้ลูกค้าทางไปรษณีย์”





ขณะที่คุณแม่และ มะปรางหรือครูปรางทางด้านการมัดย้อมของบ้านสุชนก ก็จัดมุมบ้านมัดใจเอาไว้ให้ผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลลวดลายสีครามของผ้ามัดย้อม















สำหรับเรา เสน่ห์ของผ้ามัดย้อมน่าจะอยู่ที่หลังจากการแกะผ้าที่มัดออก แล้วได้เห็นลวดลายที่ทำขึ้นจากฝีมือตัวเอง เหล่านี้กระมังที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจเข้ามาเรียนรู้ด้วยตนเอง

และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานผ้าครามในลวดลายที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ต้องลองเข้ามาชมกันที่ศูนย์เรียนรู้การมัดย้อมแห่งนี้





ส่วนที่ทำให้เราทึ่งคือ เมื่อเดินเข้าไปด้านหลัง เราแอบเห็นผู้สูงวัยท่านหนึ่งยืนเขียนแพทเทิร์นผ้า สอบถามมารู้ว่า อายุ 80 กว่าแล้ว แต่ยังแข็งแรง ท่านนี้คือหนึ่งในสมาชิกของบ้านที่ถือว่าเป็นมือโปรด้านการทำแพทเทิร์นมาหลายสิบปี



ใครสนใจ กิจกรรมเวิร์คช็อป ที่มีทั้งงานมัดย้อมผ้าคราม งานเซรามิก ต้องโทรจองล่วงหน้า โทร 095 4930909 สอนโดย ครูพี่ปราง และ คุณแม่

 

เข้าไปดูรายละเอียดร้านได้ที่ https://www.facebook.com/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%88-Banmatjai-homemade-cafe-1953144431414561/

#บ้านมัดใจ #banmatjai

#crafe #indigo #ceramic



8.วัดพระธาตุช่อแฮ



ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ ที่เมื่อมาแล้วไม่ควรพลาดการเข้ามาสักการะแห่งนี้ อยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 9 กิโลเมตร ตามตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหารรมราชาธิราช(ลิไท) โดยขุนลัวะอ้ายก๊อม พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า





เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะเชียงแสน สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูนหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง

ชื่อพระธาตุช่แฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดี ทอจากสิบสองปันนาและชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก๊อมนำมาถวาย

ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 9 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ( เดือนมีนาคม) ของทุกปี เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีขาล สอบถามได้ที่โทร 0 5459 9209





ผอ.ยุ้ย - สิรินาถ ฉัตรศุภกุล ททท.สำนักงานแพร่ เล่าถึงงานประเพณีแห่ผ้าพระธาตุช่อแฮ ว่า การแห่ผ้าพระธาตุในช่วงเทศกาลสำคัญจะอยู่ระหว่าง 9-15 ค่ำ เพราะฉะนั้นเดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ จะเป็นช่วงที่สักการะ และต้องเสริมบารมี งานแห่พระธาตุช่วงนี้ พระธาตุทั่วไปก็จะมีกรรมวิธีเสริมบารมีกัน อย่างพระธาตุช่อแฮจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-20 มีนาคม ซึ่งก่อนหน้านั้นจะมีพิธีศักดิ์สิทธิ์ก่อน มีการบวงสรวงและพิธีพุทธาภิเษก



การปฏิบัติธรรมสำหรับที่วัดแห่งนี้สามารถดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ด้วย เพราะฉะนั้นการที่คนใฝ่เรียนรู้ปฏิบัติธรรม และการเสริมบารมีด้วยการกระจายไปให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย ถือว่าเป็นทานบารมีชนิดหนึ่ง”

รายละเอียดอ่านได้ที่ https://www.btripnews.net/?p=37890  จากประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ สู่สงกรานต์ย้อนยุค

9.ร้านกาแฟ Slope บ้านเบ้วววว 

เป็นอีกหนึ่งร้านกาแฟเล็กๆ ที่อยู่ภายในเรือนไม้ที่มีความเอียง อันเป็นที่มาของชื่อ บ้านเบ้ว นั่นเอง บรรยากาศของร้านพาให้เราหวนคิดถึงอดีตสมัยเล็กๆ เก้าอี้นั่งเป็นเก้าอี้ไม้ในโรงเรียนสมัยเด็ก มีขนมปัง A B C หรือขนมปังกระป๋องที่คุ้นชิน ตามมาด้วยการเสริฟกาแฟบนถาดสังกะสี

ที่นี่จึงเป็นอีกแห่งที่เหมาะกับเป็นแหล่งเช็คอิน เช็คชิม กันได้ไม่เลวทีเดียว



ร้านตั้งอยู่เยื้องๆ วัดพงษ์สุนันท์ หาไม่ยาก



















10.บ้านทุ่งโฮ้ง 

แหล่งการค้าขายเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ผ้าหม้อห้อมขนาดใหญ่ แต่ละร้านมีราคาแตกต่างกันออกไป บ้างก็ราคาสูงด้วยงานดีไซน์ ขณะที่บางร้านแตกต่างด้วยการนำเสนอผ้าหม้อห้อมย้อมสีธรรมชาติและการดีไซน์ที่แตกต่างออกไป การจัดบรรยากาศร้านและการตกแต่งร้านก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ราคาแตกต่างกัน





ที่นี่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผ้าฝ้ายย้อมคราม ทั้งที่ตัดเป็นชุด ทั้งกางเกง เสื้อ ผ้าถุง ย่าม รองเท้า หมวก เป้ เสื้อยืด พวงกุญแจ กระเป๋าสตางค์  และอื่นๆ เหมาะสำหรับนักช้อปอีกแห่งหนึ่ง









________________________________________________

พร้อมยัง ... กับการเยือนเมืองแพร่ ... การเดินทางไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง ออกจากบ้านแล้วไปด้วยกัน กับ เที่ยวกัน ... มัน GOOD กับ 10 แหล่งเที่ยวเมืองแพร่



การเดินทาง รถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเข 11 ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และเข้าสู่ตัวจังหวัด รวมระยะทาง 551 กม.

รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด รถโดยสารประจำทางทั้งรถธรรมดาและปรับอากาศ บริการทุกวัน สอบถามได้ที่ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ ฯ (จตุจักร) โทร 1490 www.transpot.co.th

บริษัทเดินรถเอกชน ได้แก่ บริษัท เชิดชัย ทัวร์ จำกัด โทร 02936 0199 www.cherdchaitour.com,

บริษัท วิริยะ แพร่ ทัวร์ จำกัด โทร 02936 3720

บริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด โทร 054511421 www.sombattour.com

บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด โทร 02939 4999

บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร 02936 2852-66

รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทยบริการรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปอำเภอเด่นชัยทุกวัน จากนั้นต่อรถประจำทางเข้าเมืองแพร่อีก 20 กม. จากสถานีเด่นชัยไปสถานีเชียงใหม่ 217 กม. สอบถามรายละเอียดได้ที่ 1690 www.railway.co.th

เครื่องบิน มีเที่ยวบินตรงเส้นทางกรุงเทพฯ แพร่ สอบถามได้ที่

-นกแอร์  www.nokair.com

เส้นทาง กรุงเทพฯ - แพร่ ทุกวัน ช่วงเช้าวันละ 2 รอบ และเส้นทางแพร่ - กรุงเทพฯ ช่วงบ่าย วันละ 2 รอบ โทร 1318, 05452 2189

ภายในตัวเมืองแพร่ มีรถสองแถว รถสามล้อเครื่อง และรถเช่า