DITPแนะผู้ประกอบการไทยนำเทคโนฯการพิมพ์ 3มิติ ผลิตสินค้าและบริการ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ผลิต ผู้ประกอบการไทย ศึกษาใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ในการผลิต เพื่อสร้างความล้ำหน้าทันสมัยให้กับสินค้าและบริการของไทย ชี้ช่องซื้อเทคโนโลยีราคาจากเนเธอร์แลนด์ หลังพบมีการจดสิทธิบัตรเพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันมีราคาถูกลง  
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รายงานสถานการณ์ด้านการตลาดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ หรือ 3D Printing ในภูมิภาคยุโรป โดยพบว่านักประดิษฐ์และนักวิจัยชาวดัตซ์เป็นหนึ่งในผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรเทคโนโลยี 3D Printing มากที่สุดในสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21 ของจำนวนผู้ยื่นขอทั้งหมดในยุโรป รองจากเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 36 ต่อปี
ทั้งนี้ การจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี 3D Printing ที่มีจำนวนมาก ทำให้ยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางระดับโลกของนวัตกรรมในภาคดิจิทัล โดยมีการใช้งานนวัตกรรม 3D Printing ที่ได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 โดยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ จำนวน 4,018 คำขอ ตามด้วยภาคพลังงาน 2,001 คำขอ และภาคการขนส่ง 961 คำขอตามลำดับ
นายนิษณะ ทวีพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ผลจากการพัฒนาเทคโนโลยี 3D Printing ทำให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ 3 มิติ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจจากการใช้นวัตกรรม 3D Printing ในไทย ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตมีการนำมาใช้เพื่อสร้างความล้ำสมัยและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับสินค้าและบริการ ก็จะทำให้สินค้าและบริการไทยมีความโดดเด่นมากขึ้น


“การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ มีมานานแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มคนทั่วไป มีการใช้งานจำกัดแค่ในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิต แต่ปัจจุบันแนวโน้มราคาของเทคโนโลยีนี้ถูกลงเรื่อยๆ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรม 3D Printing ได้ โดยสามารถเข้าไปศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีและนำมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของไทยได้” นายนิษณะกล่าว
 สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169