กรมควบคุมโรค เตือน “หมูกะทะ” เลี่ยงทานหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ อาจเสี่ยงป่วยโรคไข้หูดับหรือเสียชีวิตได้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการรับประทานหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ อาจเสี่ยงป่วยโรคไข้หูดับ และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ พร้อมแนะวิธีป้องกัน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า และขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19 อย่างเคร่งครัด


วันนี้ (9 เมษายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ในครอบครัวมักมีการทำกิจกรรมหรือทำอาหารรับประทานร่วมกัน หากนำเนื้อหมู มารับประทานดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส อาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้



สถานการณ์ของโรคไข้หูดับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 4 เม.ย. 64 พบผู้ป่วยจำนวน 73 ราย เสียชีวิต 7 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคืออายุ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลําปาง นครราชสีมา อุตรดิตถ์ พะเยา และพิษณุโลก ตามลำดับ


โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย 

สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค จากทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย หลังจากได้รับเชื้อ 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 

หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ


นายแพทย์โอภาส แนะนำวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ คือ 1.ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ 

หากรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ ควรทำให้สุกก่อน แยกอุปกรณ์ ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน การบริโภคอาหารปรุงสุกนอกจากจะเป็นการป้องกันโรคไข้หูดับแล้วยังเป็นการป้องกันโรคโควิด 19 ได้อีกด้วย 2.ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน 

หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมู ทุกครั้ง ที่สำคัญในช่วงนี้มีการระบาดของโรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงการจัดเลี้ยงหรือจัดงานสังสรรค์ที่รวมคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มาจากหลากหลายพื้นที่ เพื่อป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422