รมว.พม. ตรวจจุดพักคอยผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ย้ำดูแลคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน อย่างเต็มที่

วันนี้ (21 ก.ค. 64) เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 2 (เดิม) เขตลาดพร้าว กทม. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น  กระทรวง พม. จึงมีความห่วงใยกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนเรร่อน คนไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาส 

ทั้งนี้ จึงได้กำหนดแนวทางในการช่วยเหลือต่างๆ ด้วยความรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ ซึ่งวันนี้  ตนพร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางมาตรวจเยี่ยมการเตรียมพื้นที่ของสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 2 (เดิม) เขตลาดพร้าว เพื่อจัดตั้งจุดพักคอยผู้ติดเชื้อโควิด-19 สำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ซึ่งมีอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ จำนวน 97 เตียง



 

 

โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. กทม. กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ลงพื้นที่ไปตรวจความเรียบร้อยให้เร็วที่สุด และยังได้มอบนโยบายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยว่า ขอให้ใช้พื้นที่ทุกตารางเมตรที่เรามี เพื่อรักษาชีวิตและรักษาสุขภาพของประชาชนให้เร็วที่สุดและมากที่สุด ในส่วนของ กระทรวง พม. และ กทม. ได้ร่วมกันดำเนินการจัดตั้งจุดพักคอยผู้ติดเชื้อโควิด-19 แห่งนี้อย่างเร่งด่วน และมีผู้ใจบุญบริจาคอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยร่วมกับเราด้วย ซึ่งตนยืนยันว่าทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายจะทำอย่างเต็มที่

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต จำนวย 3 ราย นั้น ตนรู้สึกเสียใจและเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ  ตนเชื่อว่าไม่มีใครต้องการให้มีคนเสียชีวิต สำหรับการดูแลคนไร้บ้าน คนเรร่อน ทางกระทรวง พม. ได้ดำเนินการดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจังและต่อเนื่องในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา 

ซึ่งกระทรวง พม. ได้ลงพื้นที่ไปเชิญกลุ่มคนดังกล่าวเข้ามาใช้สถานที่รองรับของรัฐ แต่ปัญหายังไม่จบ เพราะเป็นคนเร่รอน คนไร้บ้าน จึงไม่สามารถใช้ พรบ. ควบคุมการขอทานฯ บังคับได้ เนื่องจากยังมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งที่เราทำได้ คือ การรับ-ส่ง ให้เข้ามาใช้บริการของเราทั้งที่พักชั่วคราว อาหาร การดูแลรักษาสุขภาพและความสะอาด  รวมทั้งการป้องกันโรคโควิด-19 โดยพาไปตรวจเชื้อโควิด-19 และหาวัคซีนให้



 

 

 

 

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กระทรวง พม. ดูแลคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน จำนวน 1,000 กว่าคน ซึ่งมีผู้แสดงสิทธิได้รับวัคซีนเพียงแค่ 200 กว่าคน มีอายุ 40-50 ปี ซึ่งขณะนี้ ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 100 กว่าคน อีกทั้งเรามีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ กทม. ทั้ง 50 เขต ประมาณ 4,000 คน และทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข รวมทั้งหน่วยทหารที่ประจำอยู่ตามเขต เพื่อช่วยกันบริการกลุ่มเปราะบางและประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19