พม. ลงพื้นที่ช่วยหญิงพิการสูงอายุ คิดสั้นจะกระโดดสะพานฆ่าตัวตาย เพราะพิษโควิด-19  ที่ฉะเชิงเทรา

วันนี้ (31 ก.ค. 64) เวลา 15.00 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า จากกรณีมีการนำข่าวหญิงสูงอายุ 62 ปี คิดสั้นจะกระโดดสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง เพื่อฆ่าตัวตาย เพราะผล กระทบของโควิด-19 แต่โชคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยไว้ได้ทัน ที่จังหวัดฉะเชิงเรา ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฉะเชิงเทรา (พมจ.ฉะเชิงเทรา) ได้ลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือแล้ว 

โดยได้สอบข้อเท็จจริง พบว่า หญิงสูงอายุ 62 ปี มีความพิการทางการเคลื่อนไหว อาศัยอยู่ในห้องเช่าในพื้นที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบอาชีพขายน้ำดื่มที่ตลาดนัด แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประสบปัญหาในเรื่องการประกอบอาชีพ มีรายได้ลดลง ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ จึงไปกู้เงินนอกระบบ และไม่สามารถผ่อนชำระได้ ประกอบกับมีความเครียดเรื่องคนรอบข้างที่กังวลว่าตนเองเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 


 

 

 


นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ สำนักงาน พมจ.ฉะเชิงเทรา จึงได้ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ในเบื้องต้น ดังนี้ 1) พาตัวเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลพุทธโสธร ซึ่งแพทย์ได้ให้ความเห็นและรับรองว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโดยให้กักตัวอยู่บ้านจนครบ 3 วัน เพื่อรอผลการตรวจอีกครั้ง  อีกทั้งได้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการของผู้ป่วยในเรื่องสุขภาพจิต โดยแพทย์ได้ให้ยาเพื่อการรักษา 2) มอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นระหว่างกักตัวอยู่บ้าน 

3) มอบเงินสงเคราะห์กรณีฉุกเฉิน 4) สนับสนุนเงินทุนกู้ยืมประกอบอาชีพสำหรับคนพิการกรณีฉุกเฉิน โดยไม่มีดอกเบี้ย 5) เตรียมพิจารณาขอเงินสงเคราะห์ครอบครัวคนพิการ เพื่อสนับสนุนค่าครองชีพ 6) ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจัดการปัญหาเรื่องหนี้สินนอกระบบ และ 7) ประสานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามให้ความช่วยเหลือ

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มคนพิการ กลุ่มเปราะบาง และประชาชนที่กำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนจากผลกระทบของโรคโควิด-19 สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ 1)ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร.1300 2) สายด่วนคนพิการ โทร. 1479  3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ และ 4) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่