สทนช. หาแนวทางแก้ท่วม-แล้ง ลุ่มน้ำชีล่าง-มูลล่าง เน้นรับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่

สทนช. เร่งศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำชีล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง หลังที่ผ่านมาประสบปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ในเกณฑ์สูง พร้อมชูความสำคัญของการรับฟังเสียงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อตอบความต้องการได้ตรงโจทย์และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง คาดศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 64 นี้

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สทนช. หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำในลุ่มน้ำชีล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ที่เป็นพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง สทนช. จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง เพื่อจัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ 

โดยจากการสำรวจข้อมูลในลุ่มน้ำชีล่าง-มูลตอนล่าง ตั้งแต่บริเวณแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูลบริเวณรอยต่อของ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ อ.เมืองอุบลราชธานี และอ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง รวม 4,514,407 ไร่ คิดเป็นกว่า 51% ของพื้นที่โครงการทั้งหมด สาเหตุเกิดจากมีปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ขาดแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่เพราะข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศ ในขณะเดียวกัน ในฤดูฝนก็มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 2,126,532 ไร่ หรือราว 24% ของพื้นที่โครงการ โดยปัญหาน้ำท่วมในลำน้ำชี มักเกิดบริเวณริมน้ำเนื่องจากแม่น้ำมีลักษณะแคบ ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำชี



โดยเฉพาะด้านท้ายน้ำเป็นประจำเกือบทุกปี ส่วนในลำน้ำมูลทางตอนปลายของแม่น้ำ มักเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล ในพื้นที่ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากแม่น้ำชี แม่น้ำมูลรวมทั้งลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากสภาพเกาะแก่งธรรมชาติในลำน้ำมูล บริเวณท้าย  อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ด้วย

การศึกษามีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย (Area Based) และพื้นที่ข้างเคียงที่มีผลเกี่ยวเนื่อง จำนวน 395 ตำบล 50 อำเภอ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ยโสธร ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวม 8,947,439 ไร่ มีประชากร 2,862,755 คน มีพื้นที่เกษตร 6,703,380 ไร่ ซึ่งในการดำเนินการศึกษา จะมีการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ปัญหาในรายละเอียด เพื่อพิจารณาแผนหลักอย่างบูรณาการ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ รวมทั้งโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่สำคัญได้ 

โดยมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการข้อมูลและแผนการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ และการเพิ่มเติมแผนงานโครงการที่มีความเหมาะสม เพื่อลดและขจัดการทับซ้อนกันของการทำงานและการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา อันจะนำไปสู่การบริหารงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด พร้อมกันนี้ ในกระบวนการดำเนินงาน ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการมีส่วนร่วมในภาคประชาชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะสะท้อนความต้องการที่แท้จริง และนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โดยคาดว่าการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้





 

  

 

“พื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง นอกจากจะจัดเป็นพื้นที่ที่มีสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูงแล้ว ยังนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยจากการศึกษาและจัดความสำคัญแผนงานโครงการอย่างรอบด้านโดยพิจารณาเปรียบเทียบศักยภาพในการดำเนินโครงการในหลายทางเลือก
 
พบว่า แนวทางการผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ห้วยตุงลุง-แม่น้ำโขง เพื่อตัดยอดน้ำในลุ่มน้ำชีตอนล่างก่อนไหลลงไปบรรจบกับน้ำที่มาจากแม่น้ำมูลตอนบนและไหลผ่าน อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นแผนงานที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่เป้าหมาย (Area Based) ลุ่มน้ำชีตอนล่าง-เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง 

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในเส้นทางแนวผันน้ำขนาดความกว้างของคลอง และปริมาณน้ำที่ผัน  ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการศึกษาและต้องวิเคราะห์โครงการอีกหลายขั้นตอน ที่สำคัญคือต้องมีการนำเสนอข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โครงการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่าง ๆ มาปรับใช้ในการศึกษาอย่างตรงไปตรงมา โดยตามแผนการดำเนินงานจะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 5 ครั้ง ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดจัดเมื่อวันที่ 4-6 ส.ค. ที่ผ่านมา และสำหรับอีก 2 ครั้งที่เหลือ มีแผนดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2564 นี้ 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินโครงการที่ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นจำเป็นจะต้องพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ในปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมความคิดเห็นที่ได้รับจากภาคประชาชน นำไปเป็นประโยชน์สำหรับการปรับปรุงพัฒนาเพื่อสรุปเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง ทั้งในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ไปจนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งมิติวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำที่ดี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไปในอนาคต” เลขาธิการ สทนช. กล่าว