พม. เร่งช่วยเหลือ 6 ครอบครัว ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.

วันนี้ (20 ส.ค. 64) เวลา 17.00 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กทม. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. เปิดเผยว่า ด้วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด-19 กระทรวง พม. เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลข่าวสารและการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนเร่ร่อน ไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนและความยากลำบากจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

โดยทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด- 19 ระดับจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อประสานการช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า วันนี้ กระทรวง พม. ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากโรคโควิด-19 จำนวน 6 ครอบครัว ในพื้นที่ กทม. ดังนี้ 


1) ชายอายุ 50 ปี ติดเชื้อโควิค-19 เข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นผู้หารายได้เพียงคนเดียวในครอบครัว ต้องรับผิดชอบดูแลครอบครัวและลูกเล็กๆ อีก 2 คน ที่ย่านบางคอแหลม กทม. ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้พยายามติดต่อไปยังครอบครัวผู้ติดเชื้อ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ 

จึงประสานงานไปที่สาธารณสุขแขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม ทางเจ้าหน้าที่พยาบาลได้รับเรื่องไว้เบื้องต้น และทางสาธารณสุขเขตจะประสานนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อลงเยี่ยมบ้านหลังดังกล่าว พร้อมนำถุงยังชีพ นมผง อาหาร และยารักษาโรคในเบื้องต้นไปให้กับสมาชิกในบ้าน และจะวางแผนให้การช่วยเหลือต่อไป

2) เด็กหญิงอายุ 2 ขวบ และยายอายุ 59 ปี ติดเชื้อโควิค-19 ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา และอาศัยอยู่รวมกัน 7 คน ที่ย่านบางคอแหลม กทม. ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ประสานติดต่อแม่ของเด็กหญิง เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำการช่วยเหลือในเบื้องต้น แนะนำการลงทะเบียนกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สปสช. และจะประสานกับครอบครัวเพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง และวางแผนให้ความช่วยเหลือต่อไป

3) เด็กชายอายุ 1 ขวบ พี่สาวอายุ 15 ปี และพ่ออายุ 37 ปี ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา ที่ย่านประเวศ กทม. ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ประสานไปยังครอบครัวของผู้ติดเชื้อ ทราบว่ากำลังรักษาตัวแบบ Home Isolation ได้รับยารักษาจากศูนย์บริการสาธารณสุข 22 วัดปากบ่อ จึงได้ประสานงานกับ อพม. เขตประเวศ ให้ความช่วยเหลือนำถุงยังชีพไปมอบให้ และประสานหัวหน้าบ้านพักเด็กกรุงเทพฯ สนับสนุนมอบนมผง พร้อมแนะนำการดูแลตัวเอง

4) เด็กหญิงอายุ 5 ขวบ พี่สาวอายุ 17 ปี และยายแก่ชราอายุ 79 ปี ติดเชื้อโควิค-19 ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา ที่ย่านราษฎร์บูรณะ กทม. ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ประสานติดต่อกับครอบครัวของผู้ติดเชื้อ เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำในเบื้องต้น แนะนำการลงทะเบียนกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สปสช. อีกทั้งกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้ประสานศูนย์บริการสาธารณสุข 39 ส่งข้อมูลเด็กและครอบครัว เพื่อหาเตียงให้ได้รักษาพร้อมกับครอบครัว

5) ครอบครัวมีสมาชิกอาศัยอยู่รวมกัน 9 คน พบว่าติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 5 คน และแยกไปรักษาตัวที่อื่นแล้ว เหลือสมาชิกอีก 4 คน และพบมีการติดเชื้อเพิ่ม ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา และมีเด็กหญิงอายุ 1 ขวบ อาศัยรวมอยู่ด้วย ที่ย่านคลองสามวา กทม. ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ประสานไปยังครอบครัวของผู้ติดเชื้อ เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำในเบื้องต้น แนะนำการลงทะเบียนกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สปสช. และประสานศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา เพื่อให้ความช่วยเหลือ พร้อมแนะนำโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เนื่องจากเด็กหญิงยังไม่ได้สมัครโครงการดังกล่าว

6) เด็กทารกอายุ 4 เดือน และมารดาอายุ 25 ปี ติดเชื้อโควิค-19 ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา ที่ย่านบางขุนเทียน กทม. ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ประสานงานกับสำนักงานเขตบางขุนเทียน ให้ทั้งครอบครัว 3 คน เข้ารับการตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง และ สปสช. ได้รับทราบกรณีดังกล่าว พร้อมโทรซักถามประวัติเพื่อติดตามอาการและเข้าสู่ระบบการจัดหาสถานที่รักษาตัวแล้ว พร้อมประสานศูนย์บริการสาธารณสุข 42 เรื่องยารักษาในเบื้องต้น อีกทั้งได้จัดส่งข้อมูลผ่านระบบไลน์ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และจะติดตามให้การช่วยเหลือเป็นระยะๆ ต่อไป

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนกลุ่มเปราะบางที่กำลังประสบปัญหาทางสังคมและได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของโรคโควิด-19 สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ 1) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการ 24 ชั่วโมง 2) สายด่วนคนพิการ โทร. 1479 บริการ 24 ชั่วโมง 3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ และ 4) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่