พก. เจ๋งคว้ารางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 จากผลงาน “ชีวิตติดล้อ (Life On Vehicle Enjoy)”

วันนี้ (16 ก.ย. 64) เวลา 13.30 น. ณ อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ กรุงเทพฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) นำโดยนางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัด พก. เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 โดยสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ จากผลงาน “ชีวิตติดล้อ (Life On Vehicle Enjoy)” โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีฯ และแสดงความยินดีกับหน่วยงานที่ได้รับรางวัล จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)



ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานภาครัฐที่มีความโดดเด่นในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จและมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงาน ภาครัฐทั้งปวง สามารถพัฒนาคุณภาพการบริการ และระบบการบริหารงานเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วโปร่งใส เป็นธรรม และพึงพอใจให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการบริหารราชการให้มีระบบหรือวิธีการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จนเกิดการทำงานร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วนและความร่วมมือ ตลอดจนพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
 

 

สำหรับผลงาน “ชีวิตติดล้อ (Life On Vehicle Enjoy)” ของสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา หน่วยงานในสังกัด พก. มีภารกิจในการดูแลคนพิการทุกประเภทมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยให้ความสำคัญในการ “ดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ” จึงได้คิดค้น ปรับปรุงพัฒนากายอุปกรณ์หรือเครื่องช่วยความพิการเฉพาะบุคคล เพื่อให้เหมาะสม ปลอดภัยในการปฏิบัติกิจวัตร

  





 

โดยยึดหลักการพึ่งพิงผู้อื่นให้น้อยที่สุด ด้วยการพัฒนารถเข็นสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย ที่แขน – ขาอ่อนแรง จากรถวีลแชร์ที่มีจำหน่ายทั่วไป เพิ่มเติมดัดแปลงจากวัสดุ อุปกรณ์ที่เหลือใช้มาออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพความพิการของแต่ละบุคคล บำรุงรักษาซ่อมแซมเองได้ สามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมให้เหมาะกับการใช้งานได้ง่าย และที่สำคัญมีราคาถูก

  

ภายใต้แนวคิด “ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ลดภาวะโลกร้อน” เป็นการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ ได้ถึงร้อยละ 80 ลดการเกิดแผลกดทับ ได้ถึงร้อยละ 100 ลดการเจ็บป่วยของผู้ดูแล ได้ถึงร้อยละ 100 และลดการพึ่งพิงผู้ดูแลได้ถึงร้อยละ 90 ทำให้คนพิการที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวได้มีโอกาสนั่ง นอนคว่ำ หรือหงายบนรถเข็น และทำกิจกรรมต่างๆ บนรถเข็นได้โดยไม่ต้องนอนติดเตียง เป็นการเปลี่ยนท่านั่งและนอนได้ด้วยตัวเอง

 

 ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาผลงานดังกล่าว ทั้งหมด 4 รุ่น โดยมีการปรับปรุง แก้ไข ให้เกิดความปลอดภัย คนพิการสามารถขึ้นลงระหว่างเตียงกับรถเข็นได้โดยไม่ต้องมีผู้ช่วยเหลือ ขึ้นลงได้ทั้งด้านหน้าและด้านข้าง และมีเหมาะสมเฉพาะบุคคลให้ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านร่างกายอย่างเต็มที่ สร้างโอกาสเข้าถึงบริการและสวัสดิการจากรัฐ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม