พม. ผนึกกำลัง สสส. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยเหลือคนไร้บ้าน ตอบโจทย์ด้านที่อยู่อาศัย

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วย นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยเครือข่ายคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ลงพื้นที่พบปะพี่น้องคนไร้บ้านบริเวณหัวลำโพง พร้อมเปิดตัวความร่วมมือ “นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน (กลุ่มนำร่อง) ”

นายอนุกูล ปีดแก้ว เปิดเผยว่า พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับภาคีเครือข่าย และพี่น้องคนไร้บ้าน ทำเวทีประชาคมเพื่อหาทางออกร่วมกัน ในการจัดหาที่พักราคาถูกให้กับคนไร้บ้าน ซึ่งจากการประชาคมดังกล่าวได้แนวการจัดที่พักอาศัย รูปแบบการ “แชร์” ค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ พม.ได้ส่งนักสังคมสงเคราะห์ ร่วมเป็น Case Manager เพื่อวางแผนให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในระยะยาว

 

นางภรณี ภู่ประเสริฐ กล่าวว่า การทำงานของ สสส. ร่วมกับทางนักวิชาการจากแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน ของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คาดการณ์ว่าจำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและปากท้องของกลุ่มคนเปราะบางในเขตเมือง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับการสำรวจแบบเร่งด่วน (rapid survey) ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่พบคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด-19 ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว สสส. หารือร่วมกับ กรมพัฒนาสังรมและสวัสดิการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และภาคีเครือข่าย ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุน การตั้งหลักของคนไร้บ้านหรือกลุ่มเปราะบางที่เพิ่งเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพกายและจิต จากการใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นเวลานาน

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ “นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน” มีจุดเน้นสำคัญในการปรับวิธีการจัดการด้านที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน ผ่านกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านในการ “แชร์” ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ร่วมกับกองทุนที่เครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยได้จัดตั้งขึ้น รวมถึงการสนับสนุนด้านอาชีพ และการหารายได้ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดหางานที่สอดคล้องกับความถนัดของแต่ละคน ทั้งนี้ การพัฒนานวัตกรรมฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในช่วงของการประเมินผลการดำเนินงาน“หัวใจสำคัญของนวัตกรรมและความร่วมมือดังกล่าวนี้ อยู่ที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไร้บ้านที่สามารถตั้งหลักชีวิตได้ด้วยตนเอง หากได้รับการสนับสนุนและโอกาสที่เหมาะสม”

ทางด้าน นายสมพร หารพรม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวเสริมว่า “นวัตกรรมและความร่วมมือดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการเปิดวิธีการใหม่ในการสนับสนุนดูแลคนไร้บ้านด้านที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ตอบโจทย์ด้านที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางซึ่งส่วนใหญ่ เป็นแรงงานรายวัน และจะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งงานในเมือง รวมถึงตอบโจทย์ด้านความแออัดของศูนย์พักคนไร้บ้านของภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้การสนับสนุนด้านอาชีพและการหารายได้บนพื้นฐานศักยภาพของคนไร้บ้าน”