มูลนิธิพุทธสาวิกา ร่วมกับสมาคมการค้าธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวไทย จัดประกวดภาพถ่าย“ผู้หญิง พุทธศาสนา วัฒนธรรม @New Normal”

ดร.กาญจนา สุทธิกุล ประธานกรรมการมูลนิธิพุทธสาวิกา ชวนร่วมโครงการประกวดภาพถ่าย หัวข้อ "ผู้หญิง พุทธศาสนา วัฒนธรรม @ New Normal" เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง งาน "สู่ทศวรรษที่ ๓ ภิกษุณีในสังคมไทย" ใกล้จะปิดรับสมัครแล้วนะคะ ท่านสามารถส่งผลงานมาร่วมประกวดได้ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 และจะประกาศผลประมาณวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจ สู่ทศวรรษที่ 3 ภิกษุณีในสังคมไทย

พุทธศาสนาเผยแผ่มายังดินแดนที่เรียกว่า อาณาจักรสุโขทัย ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  นับจากบัดนั้นจนถึงบัดนี้ “พุทธศาสนา” ก็ยังได้รับการสืบสานต่อมาอย่างมั่นคง แม้จะผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม การปกครอง หรือจะเปลี่ยนผ่านผู้ปกครองมากี่ยุคกี่สมัยก็ตาม “พุทธศาสนา” ในแผ่นดินไทยก็ยังคงได้รับการสืบสานและทำนุบำรุงมาอย่างต่อเนื่องจากยุคสู่ยุค

และหนึ่งในฟันเฟืองที่เป็นกลไกหลัก อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนให้พุทธศาสนากลายเป็น “แก่นกลางใจ” ของสังคมไทยคือ “ผู้หญิง” เธอเหล่านั้นเป็นหนึ่งในผู้รักษาคำสอนในพุทธศาสนาผ่าน “วัฒนธรรม” อย่างแท้จริง ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านั้นได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นมรดกของชาติและของโลก ผ่านการยืนยันของกาลเวลา “ผู้หญิง พุทธศาสนา วัฒนธรรม” จึงมีความเชื่อมโยงและสอดประสานกันอย่างที่มิอาจมีใครปฏิเสธได้

แม้กาลเวลาในยุคที่มีการระบาดของโควิด 19 ก็มิอาจสั่นคลอนความศรัทธาของเธอเหล่านั้นที่มีต่อพุทธศาสนาและวัฒนธรรมได้ มูลนิธิพุทธสาวิการ่วมกับสมาคมการค้าธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวไทย มีความเห็นร่วมกันว่า การจัดกิจกรรมผ่านการประกวดภาพถ่ายเพื่อบันทึกเรื่องราว ความสำคัญของผู้หญิง พุทธศาสนา และวัฒนธรรมในยุคนิวนอร์มอลนั้น จะเป็นโอกาสในการบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านการถ่ายภาพที่ไม่มีคำพูดใดจะสื่อความได้เท่าเมื่อเทียบกับการสื่อความด้วยภาพเพียงภาพเดียว และในยุคนิวนอร์มอลนี้ จะกลายเป็นยุคแห่งการจดจำของมนุษยชาติไปตลอดกาล การบันทึกเหตุการณ์ผ่านภาพถ่ายในกิจกรรมครั้งนี้ จะยิ่งมีคุณค่าอนันต์เมื่อวันเวลาผ่านไป

โครงการประกวดภาพถ่าย “ผู้หญิง พุทธศาสนา วัฒนธรรม @New Normal” จะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วมประกวดรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้เรียนรู้ ได้ศึกษา ค้นคว้า และได้เข้าไปสัมผัสถึงความสำคัญของผู้หญิง พุทธศาสนา และวัฒนธรรม มากยิ่งขึ้น เมื่อได้สัมผัส เมื่อได้รู้จัก จึงจะเกิด  ความรัก เกิดศรัทธา เกิดความหวงแหน และจะนำมาซึ่งการสืบสานทั้งพุทธศาสนาและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์

เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน สัมผัส เห็นคุณค่า และมีประสบการณ์ที่ดีต่อ ผู้หญิง พุทธศาสนา และวัฒนธรรม ในยุคนิวนอร์มอล

เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาส เผยแพร่ประสบการณ์ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก และเรื่องราวผ่านภาพถ่าย

เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนัก ความรัก ความรู้สึกหวงแหนในพุทธศาสนาและวัฒนธรรมร่วมกันผ่านบทบาทของผู้หญิง

เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน เกิดความต้องการมีส่วนร่วมในการรักษาและสืบสานพุทธศาสนาและวัฒนธรรมของแผ่นดิน

เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของผู้หญิง พุทธศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งสานทอกันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย

การประกวดมี 1 ระดับ คือระดับบุคคลทั่วไป ภาพดิจิทัลที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นภาพที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิทัล

ผู้ส่งภาพเข้าประกวดมีสิทธิ์ส่งได้คนละไม่เกิน 5 ภาพ

สามารถปรับสี ตกแต่งแก้ไขในด้านเทคนิค เพื่อให้ภาพมีคุณภาพดีขึ้น แต่ทั้งนี้ภาพยังต้องดูเป็นธรรมชาติเหมือนภาพถ่ายปกติ

ขนาดของไฟล์ต้องมีความละเอียดไม่น้อยกว่า 12 ล้านพิกเซล

รูปแบบของไฟล์ในแบบมาตรฐาน .JPEG (แต่ต้องเก็บภาพต้นฉบับที่เป็น RAW FILE ไว้เพื่อตรวจสอบในกรณีภาพได้รับรางวัล)

ส่งภาพในรูปของไฟล์ทางอีเมล์ buddhasavikafoundation@gmail.com

ส่งผลงานด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ที่

ดร.กาญจนา สุทธิกุล  มูลนิธิพุทธสาวิกา  195 ถ.เพชรเกษม ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม 73000

เกณฑ์การตัดสิน

การถ่ายทอดแนวคิดและสื่อความหมาย “ผู้หญิง พุทธศาสนา วัฒนธรรม @New Normal”

ความสวยงาม การจัดวางองค์ประกอบ ตามหลักทัศนศิลป์ และตามหลักพุทธศาสนา วัฒนธรรม ความยาก-ง่าย และเทคนิคการถ่ายภาพ

ระเบียบบังคับในการส่งภาพเข้าประกวด

             ภาพที่ส่งประกวดจะต้องเข้ากับแนวคิด “ผู้หญิง พุทธศาสนา วัฒนธรรม @New Normal” ผู้ส่งภาพเข้าประกวดจะต้องระบุรายละเอียดการถ่ายภาพ แนวคิด สถานที่ถ่ายภาพ บรรยายเรื่องราวของภาพหรือเหตุการณ์ความประทับใจ ประมาณ 2 บรรทัดลงในใบสมัครหรือสำนำใบสมัครให้ครบถ้วน (สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้จาก www.thaibhikkhunis.com รวมถึงสามารถจัดทำแบบฟอร์มใบสมัครได้เอง โดยให้มีรายละเอียดครบถ้วนตามที่โครงการกำหนด)

             ผู้ส่งภาพเข้าประกวดต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนมาด้วย

             ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดต้องอยู่ในช่วงเวลาไม่เกิน 2 ปี ก่อนวันสิ้นสุดการส่งภาพเข้าประกวด ตั้งแต่ มกราคม 2563-ตุลาคม 2565

             ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นภาพที่ไม่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร หนังสือ แผ่นภาพ เวบไซต์ หรือเอกสารใดๆ ที่ทำขึ้นเพื่อการจำหน่าย หรือโฆษณา

             ผู้ส่งภาพเข้าประกวดและเจ้าของภาพต้องเป็นคนๆ เดียวกัน และเป็นภาพที่ไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ มาก่อน

             ภาพที่ส่งเข้าประกวด ถ้าไม่ถูกต้องตามกติกาการประกวดข้อใดข้อหนึ่ง จะไม่ได้รับการพิจารณา และแม้ว่าจะได้รับการพิจารณาได้รับรางวัลใดรางวัลหนึ่งไปแล้ว หากมีการท้วงติงถึงการทำผิดกติกาข้อใดข้อหนึ่ง และสามารถพิสูจน์ได้ว่าทำผิดกติกาจริง ผู้จัดโครงการประกวด สามารถยกเลิกและเปลี่ยนแปลงการตัดสิน รวมทั้งขอคืนรางวัลได้ทั้งหมด

             คณะกรรมการตัดสินภาพมีสิทธิ์กำหนดวิธีการตัดสิน และมติของกรรมการถือเป็นข้อยุติ

             ภาพที่ส่งเข้าประกวดทุกภาพ ผู้จัดมีสิทธิ์คัดเลือกนำไปจัดแสดงในสถานที่ต่างๆ และพิมพ์เผยแพร่ ทำปฏิทิน และจำหน่ายโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของภาพ

             ขอสงวนสิทธิ์ภาพที่ได้รับรางวัลโดยมูลนิธิพุทธสาวิกาสามารถนำไปเผยแพร่ในสินค้า บรรจุภัณฑ์ และสื่อต่างๆ เช่น ปฏิทิน โดยไม่ต้องขออนุญาต และจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของภาพ ผู้ส่งภาพเข้าประกวด มีสิทธิ์ได้รับรางวัลสูงสุดรางวัลเดียวในแต่ละประเภท

             ภาพที่ส่งเข้าประกวด จะต้องเป็นภาพที่ถ่ายในประเทศไทยเท่านั้น

รายชื่อกรรมการตัดสิน

พระภิกษุณีธัมมนันทา ประธานสงฆ์วัตรทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม

ดร.กาญจนา สุทธิกุล ประธานกรรมการมูลนิธิพุทธสาวิกา

คุณวิสิฏฐ์ ธำรงหวัง  อุปนายกสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ

อ.วีรพจน์ เอโกบล  ที่ปรึกษาสมาคมการค้าธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวไทย

น.ส.สมฤดี ศรีพิพิธ  ที่ปรึกษาสมาคมการค้าธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวไทย

รางวัลการประกวด

รางวัลที่ 1 จำนวน 1 รางวัล

เงินรางวัลจำนวน 5 หมื่นบาท

รางวัลที่ 2 จำนวน 1 รางวัล

             เงินรางวัลจำนวน 3 หมื่นบาท

รางวัลที่ 3 จำนวน 1 รางวัล

            เงินรางวัลจำนวน 2 หมื่นบาท

รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัล

             เงินรางวัลๆ ละ 2 พันบาท พร้อม Gift Voucher ที่พักและบัตรรับประทานอาหารเช้า 1 ใบ

เปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้ - 31 ตุลาคม 2565

ประกาศผลประมาณวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ทางเพจ สู่ทศวรรษที่ 3 ภิกษุณีในสังคมไทย และทาง Facebook สมาคมการค้าธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวไทย